ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา เผยผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และอาจรุนแรงถึงชีวิตมากกว่าวัยอื่นๆ ระบุวิธีแก้ปัญหาง่ายๆ ปกป้องผู้สูงอายุไม่ให้เป็นโควิด-19 หวั่นมีความยากเนื่องจากสังคมไทยเป็นครอบครัวใหญ่อาจทำให้ติดต่อกันได้ง่าย
วันนี้ (10 ส.ค.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Yong Poovorawan” เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับความรุนแรงของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่าช่วงอายุใดมีความเสี่ยงอัตราการป่วยตายสูง ซึ่งพบว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 สร้างปัญหาให้กับผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ “หมอยง” ได้ระบุข้อความว่า
“โควิด-19 อัตราการป่วย ตาย ในโรคอุบัติใหม่ ในกลุ่ม coronavirus ได้รวบรวมสไลด์เก่าของผมมารวมให้ดู จะเห็นว่า ตั้งแต่โรคทางเดินหายใจอักเสบอย่างรุนแรง (SARS) ปอดบวมตะวันออกกลาง (MERS) มาจนถึงโควิด-19 ผู้ป่วยเสียชีวิตจะสูงขึ้นตามอายุ โดยเฉพาะหลังอายุ 50 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับไข้หวัดใหญ่สเปน อัตราการป่วยตายจะสูงในเด็กเล็ก คนหนุ่มสาว และผู้สูงอายุ แต่ถ้าเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลจะพบความสูญเสียถึงชีวิต ในเด็กเล็ก กับผู้สูงอายุ
โควิด-19 จึงสร้างปัญหาให้กับผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป กลยุทธ์หนึ่งในการควบคุมการระบาดและความสูญเสีย จะปกป้องผู้สูงอายุไม่ให้เป็นโควิด-19 ในสิงคโปร์ มีผู้ป่วยถึง 55,000 ราย มีผู้เสียชีวิตเพียง 27 คน เพราะส่วนใหญ่ เป็นในกลุ่มของแรงงานต่างชาติ มีอายุน้อย อยู่แออัด ปกป้องคนสิงคโปร์ โดยเฉพาะที่มีอายุมาก ในการระบาดระลอกสองของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นก็ใช้นโยบายแบบเดียวกัน อัตราการเสียชีวิตในรอบ 2 มีแนวโน้มลดลงกว่ารอบแรกมาก
แม้จะมีผู้ป่วยวันละเป็นพันราย โดยอัตราการเสียชีวิตรวมขณะนี้ อยู่ที่ 2.2 เปอร์เซ็นต์ น้อยกว่าในอิตาลี อังกฤษ และอเมริกา ญี่ปุ่น ไม่ได้มีการปิดบ้านปิดเมืองมาก พยายามควบคุมกลุ่มเสี่ยง ไม่ให้กลุ่มเสี่ยงติดโรค ไม่แน่ใจว่าสังคมไทย เรารู้ว่าบุคคลในครอบครัวจะติดต่อกันได้ง่าย การป้องกันผู้สูงอายุในครอบครัวจะทำได้ยาก เพราะสังคมไทยยังเป็นครอบครัวใหญ่ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรให้เกิดการระบาดรอบที่ 2 เป็นดีที่สุด”