สองคำถามใหญ่เมื่อ “อัยการ” สั่งไม่ฟ้อง “บอส อยู่วิทยา” ทั้งที่หลบหนีคดีขับรถชนตำรวจตายเมื่อปี 2555 “คนอื่นจะได้รับโอกาสเช่นนี้หรือไม่” และ “รู้ได้ยังไงว่าจะนำตัวมาส่งศาลไม่ได้”
รายงานพิเศษ
เป็นข่าวฮือฮากันในช่วงเช้าวันนี้ (24 ก.ค.) หลังสถานีโทรทัศน์ CNN ของสหรัฐอเมริกา รายงานความคืบหน้าคดีของ “นายวรยุทธ อยู่วิทยา” หรือ “บอส” ทายาทของตระกูลที่เป็นเจ้าของบริษัทเครื่องดื่มชูกำลังรายใหญ่ของโลก โดยระบุว่า สำนักงานอัยการสูงสุดของไทยมีมติ “สั่งไม่ฟ้อง” ในคดีที่นายวรยุทธขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต
ทบทวนกันก่อนว่า คดีนี้ นายวรยุทธ อยู่ในรถเฟอร์รารี ที่ขับรถชนจักรยานยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทองหล่อ เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2555 และมีรอยลากไปอีกประมาณ 200 เมตร โดยยังพบรอยน้ำมันหยดมาจนถึงบ้านของนายวรยุทธ ก่อนที่ตำรวจจะมาพบรถเฟอร์รารีในสภาพที่ผ่านการชนมา และนายวรยุทธยอมรับสารภาพ
จากนั้นนายวรยุทธถูกดำเนินคดีใน 2 ข้อหา คือ ขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และข้อหาไม่หยุดให้ความช่วยตามสมควร แต่ประกันตัวออกไปด้วยหลักทรัพย์ 5 แสนบาท และเดินทางออกนอกประเทศไป
เมื่อคดีมาถึงชั้นอัยการในปี 2559 นายวรยุทธไม่มารายงานตัวต่อพนักงานอัยการตามหมายเรียกแม้แต่ครั้งเดียว ตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อ 25 เม.ย. 2559 ซึ่งทนายความของนายวรยุทธขอเลื่อนโดยอ้างว่าอยู่ต่างประเทศ และไม่มารายงานตัวเลยจึงถูกออกหมายจับ จนมาถูกเปิดเผยจากสื่อมวลชนต่างประเทศซึ่งไปพบตัวนายวรยุทธใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอังกฤษ
ในช่วงแรกมีคำถามมากมายถึงกระบวนการทำงานของพนักงานสอบสวน โดยเฉพาะการที่พนักงานสอบสวนไม่ได้ตรวจแอลกอฮอล์ หรือสารเสพติดในร่างกายนายวรยุทธ ตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุซึ่งส่งผลต่อรูปคดี เพราะเป็นเหตุให้นายวรยุทธถูกดำเนินคดีเพียง 2 ข้อหา คือ ขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร ซึ่งเป็นข้อหาที่มีอัตราโทษไม่สูง
ทำให้เมื่อได้รับการประกันตัวไปแล้ว นายวรยุทธยังสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ และไม่กลับมาอีกเลย
ตำรวจยอมรับว่าได้เพิกถอนหมายจับของนายวรยุทธในทุกคดีเรียบร้อยแล้ว หลังมีคำสั่งยกคำฟ้องของอัยการ โดยอ้างถึงความเห็นของอัยการที่แจ้งมาทางตำรวจว่า คดีนี้ผู้ต้องหาได้ชดเชยเยียวยาให้กับครอบครัวผู้เสียหายแล้ว และเป็นคดีอัตราโทษไม่สูง ซึ่งถือว่า “คดีอัตราโทษ อยู่ในดุลพินิจของอัยการสูงสุดที่จะสั่งไม่ฟ้องได้” ทั้งที่คดีนี้มีอายุความ 15 ปี และจะหมดอายุความในวันที่ 3 ก.ย. 2570
ความเห็น “สั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา” ของอัยการสูงสุด แจ้งไปถึงสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย. 2563 โดยไม่มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน และทางสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ มีหนังสือส่งถึงผู้ต้องหา คือ นายวรยุทธ ในวันที่ 18 มิ.ย. 2563 ว่า คดีได้สิ้นสุดกระบวนการทางกฎหมายแล้ว พร้อมกับได้ทำการขออนุมัติศาลให้เพิกถอนหมายจับนายวรยุทธแล้ว จนกระทั่งมาถูกเปิดเผยผ่านสำนักข่าวต่างประเทศ
“หากเป็นคนอื่นจะได้รับโอกาสเช่นนี้หรือไม่”
นายชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความอิสระ แสดงความเห็นต่อการใช้ดุลพินิจของอัยการสูงสุด โดยระบุว่า การที่อัยการใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้อง ทั้งที่คดียังไม่หมดอายุความ จะกลายเป็นคำถามใหญ่ถึงอัยการต่อคดีอื่นที่เกิดขึ้น เพราะหากเป็นคดีอื่นๆ ในกรณีเดียวกัน คือ ขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และผู้ต้องหามาแสดงตัวเพื่อยอมรับผิดจะได้รับสิทธิในการสั่งไม่ฟ้องเช่นเดียวกับนายวรยุทธหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาแม้ในลักษณะคดีเช่นนี้จะมีรูปแบบการไกล่เกลี่ยกันระหว่างผู้ต้องหากับผู้เสียหายจนเป็นที่พอใจอยู่แล้ว แต่ก็แทบจะไม่เคยเห็นคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องในขณะที่ผู้ต้องหาหลบหนีคดี และโดยเฉพาะคดีที่ยังไม่หมดอายุความ
“ผมมองว่า การสั่งไม่ฟ้องจนนำไปสู่การเพิกถอนหมายจับ มันไม่สมเหตุสมผล โดยเฉพาะเมื่อเป็นที่ปรากฏชัดเจนว่าผู้ต้องหา คือ นายวรยุทธ มีพฤติการณ์หลบหนี ไม่เคยมาแสดงตัวต่อพนักงานอัยการ ไม่มารับสารภาพหรือมาแสดงความบริสุทธิ์ ก็ควรที่จะมีบทลงโทษเพิ่มด้วยซ้ำ แต่ในคดีนี้ผู้ต้องหาที่มีเจตนาหลบหนีคดี กลับได้รับโอกาสด้วยการถูกประกาศให้เป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์เดียวกันกับบุคคลทั่วไปที่ไม่มีฐานะมากพอจะหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ จะได้รับโอกาสแบบเดียวกับนายวรยุทธหรือไม่ และทางอัยการก็ต้องพิจารณาด้วยว่า การใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องจะกลายเป็นช่องโหว่ให้เกิดมาตรฐานใหม่ให้มีช่องทางต่อรองเพื่อสั่งไม่ฟ้องคดีหรือไม่” นายชำนัญกล่าว
นายชำนัญยังเห็นว่า ในเมื่อคดียังไม่หมดอายุความ สิ่งที่อัยการควรจะแสดงให้สังคมเห็น คือ การพยายามติดตามนำตัวผู้ต้องหามาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมซึ่งสามารถทำได้หลายช่องทาง เพื่อให้ “ศาล” ได้พิจารณาคดีตามกระบวนการ ซึ่งเมื่อพยายามแล้วไม่สามารถนำตัวมาได้ก็ต้องพยายามไปจนกว่าคดีหมดอายุความ
“อัยการรู้ได้ยังไงว่าจะนำตัวมาส่งศาลไม่ได้”
น.ส.วราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เห็นตรงกับความเห็นของนายชำนัญ คือ อัยการควรทำหน้าที่ด้วยการแสดงความพยายามติดตามนำตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีจนถึงที่สุด ซึ่งสามารถประสานไปยังประเทศที่เป็นถิ่นที่อยู่ของนายวรยุทธที่ปรากฏในสื่อ และประสานกับหน่วยงานตำรวจสากลในการกดดันติดตามตัวมาเพื่อให้กลับเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมของไทย แต่เมื่ออัยการเลือกที่จะใช้ “ดุลพินิจ” สั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ ก็ทำให้เกิดคำถามใหญ่ตามมาว่า “อัยการรู้ได้อย่างไรว่าในช่วงอายุความที่เหลืออยู่อีกประมาณ 7 ปี จะไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามาขึ้นศาลได้”
“การตัดสินว่านายวรยุทธมีความผิดหรือไม่ ควรเป็นดุลพินิจของศาล ถึงแม้จะมีเหตุผลว่าได้ชดเชยเยียวยาให้ผู้เสียหายแล้ว อัยการก็ไม่ควรใช้ดุลพินิจในการตัดสินคดีเอง หรือหากจะมีเหตุผลอื่น เช่น พยานหลักฐานในสำนวนไม่หนักแน่น ก็ยังไม่ใช่เหตุผลที่จะยุติคดีในชั้นอัยการ เพราะที่ผ่านมาผู้ต้องหาก็รับสารภาพว่าเป็นผู้ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต มีรอยน้ำมันจากที่เกิดเหตุมาถึงบ้านผู้ต้องหา มีร่องรอยการชนของรถ จ่ายเงินชดเชยเยียวยา รวมถึงไปขอขมาต่อผู้เสียชีวิตในงานศพ ดังนั้น อัยการจึงควรพยายามนำตัวผู้ต้องหามาส่งศาล และขอถามว่าในเมื่อยังมีอายุความถึงวันที่ 3 ก.ย. 2570 ทางอัยการรู้ได้อย่างไรว่าเวลาที่เหลืออีกประมาณ 7 ปี จะไม่สามารถสามารถนำตัวผู้ต้องหากลับมาได้” น.ส.วราภรณ์กล่าว
ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยังแสดงความเห็นว่า เมื่ออัยการสูงสุดเลือกที่จะใช้ดุลพินิจ “สั่งไม่ฟ้อง” นายวรยุทธ และทางพนักงานสอบสวนก็ไม่แสดงความเห็นแย้งจนเพิกถอนหมายจับไปแล้ว แต่คดีนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน และการตัดสินใจนี้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมอย่างมาก ทางอัยการก็ควร เปิดเผยรายละเอียดในสำนวนต่อประชาชน เพื่อแสดงเหตุผลให้ชัดเจนว่าคดีนี้มีความพิเศษกว่าคดีอื่นในรูปแบบเดียวกันอย่างไร อัยการจึงมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ทั้งที่ยังไม่หมดอายุความ
สองคำถามใหญ่นี้ สังคมยังรอคำตอบจาก “อัยการ”