xs
xsm
sm
md
lg

หมอเพจดัง เตือน 3 จังหวัด พบโรคชิคุนกุนยาระบาดหนัก แนะควรกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หมอเตือนหลังพบ 3 จังหวัด คือ จันทบุรี ชลบุรี เพชรบุรี มีการระบาดของโรคชิคุนกุนยาอย่างหนัก เผยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค อาการคือไข้สูง ปวดข้อ แต่อาการคล้ายไข้เลือดออก หากสงสัยควรไปพบแพทย์เพื่อการรับการรักษาอย่างถูกต้อง

วันนี้ (24 ก.ค.) เพจ “Infectious ง่ายนิดเดียว” ได้โพสต์เตือนภัยพบโรคชิคุนกุนยา ระบาด 3 จังหวัด คือ จันทบุรี ชลบุรี เพชรบุรีโดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากสำนักระบาดกระทรวงสาธารณสุข มีลักษณะโรค โรคชิคุนกุนยา เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค มีอาการคล้ายไข้เดงกี แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีการช็อก

สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา มียุงลายเป็นพาหะนำโรค และมีวิธีการติดต่อได้โดยมียุงลาย เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนนั้นเกิดอาการของโรคได้ มีระยะฟักตัว โดยทั่วไปประมาณ 1-12 วัน แต่ที่พบบ่อยประมาณ 2-3 วัน ระยะติดต่อ ระยะไข้สูงประมาณวันที่ 2-4 เป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือดมาก

อาการและอาการแสดงผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกายและอาจมีอาการคันร่วมด้วย พบตาแดง แต่ไม่ค่อยพบจุดเลือดออกในตาขาว ส่วนใหญ่แล้วในเด็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าในผู้ใหญ่ ในผู้ใหญ่อาการที่เด่นชัดคืออาการปวดข้อ ซึ่งอาจพบข้ออักเสบได้ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาการปวดข้อจะพบได้หลายๆ ข้อเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ อาการจะรุนแรงมากจนบางครั้งขยับข้อไม่ได้ อาการจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา และบางรายอาการปวดข้อจะอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี ไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงช็อก ซึ่งแตกต่างจากโรคไข้เลือดออก

โดยในประเทศไทยมีการตรวจพบครั้งแรกพร้อมกับที่มีไข้เลือดออกระบาดและเป็นครั้งแรกในทวีปเอเชีย เมื่อ พ.ศ. 2501 โดย Prof.W McD Hamnon แยกเชื้อชิคุนกุนยา ได้จากผู้ป่วยโรงพยาบาลเด็กกรุงเทพมหานคร ในทวีปแอฟริกามีหลายประเทศพบเชื้อชิคุนกุนยา มีการแพร่เชื้อ 2 วงจรคือคน-ยุง-ลิง
โรคนี้จะพบมากในฤดูฝน เมื่อประชากรยุงเพิ่มขึ้นและมีการติดเชื้อในยุงลายมากขึ้น พบโรคนี้ได้ในทุกกลุ่มอายุ ซึ่งต่างจากไข้เลือดออกและหัดเยอรมันที่ส่วนมากพบในผู้อายุน้อยกว่า 15 ปี ในประเทศไทยพบมีการระบาดของโรคชิคุนกุนยา 6 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2531 ที่จังหวัดสุรินทร์ พ.ศ. 2534 ที่จังหวัดขอนแก่นและปราจีนบุรี ในปี พ.ศ. 2536 มีการระบาด 3 ครั้งที่จังหวัดเลย นครศรีธรรมราช และหนองคาย

การรักษา ไม่มีการรักษาที่จำเพาะเจาะจง การรักษาเป็นการรักษาแบบประคับประคอง เช่นให้ยาลดอาการไข้ ปวดข้อ และการพักผ่อน

อย่างไรก็ตาม การป้องกันโรคที่ดีที่สุด คือ การจัดการสิ่งแวดล้อมภายในบ้านและนอกบ้านด้วยมาตรการ “3 เก็บป้องกัน 3 โรค” คือเก็บบ้านเก็บขยะและเก็บน้ำเพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกโรคติดเชื้อไวรัสซิกาและโรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยานอกจากนี้ควรป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัดด้วยการทายากันยุงกำจัดยุงในบ้านและการนอนกางมุ้งกรมควบคุมโรคขอแนะนำว่าสถานพยาบาลที่แม้ไม่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงควรมีการเฝ้าระวังโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เนื่องจากยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรคสามารถพบได้ทุกจังหวัดโดยการคัดกรองผู้ป่วยที่มาด้วยอาการไข้ปวดข้อมีผื่นหรือมีอาการคล้ายไข้เลือดออกแต่เกล็ดเลือดอยู่ในระดับปกติและเมื่อพบผู้ป่วยควรรายงานผู้สงสัยหรือผู้ป่วยต่อหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เพื่อดำเนินการควบคุมโรคอย่างรวดเร็ว






กำลังโหลดความคิดเห็น