วันนี้ (7 ก.ค.) เวลา 09.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมด้วย นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษา รมว.ทส., นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี พร้อม ผู้บริหารระดับสูงของ ทส. จำนวนมาก ลงพื้นที่บริเวณพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งปัจจุบันมีโครงสร้างในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจัดสร้างไว้โดยหน่วยงานส่วนราชการ ประกอบไปด้วย เขื่อนกันคลื่น เขื่อนป้องกันคลื่นนอกชายฝั่ง รอดักทราย และกำแพงป้องกันคลื่น โดยสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจากโครงสร้างดังกล่าว ทำให้ส่งผลต่อทัศนียภาพด้านหน้าพระราชนิเวศน์ฯ และยังส่งผลให้เกิดการกัดเซาะต่อพื้นที่ข้างเคียง นอกจากนี้ เขื่อนกันคลื่นบริเวณปากคลองบังตราน้อย และคลองบังตราใหญ่ทำให้เกิดการรุกล้ำของน้ำเค็ม จนเริ่มส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของโบราณสถานซึ่งเป็นสมบัติของชาติอันมีค่ายิ่ง
ผลจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และทีมนักวิชาการได้เสนอแนวทางออกในการแก้ปัญหา โดยระยะแรกอาจต้องปรับปรุงโครงสร้างประเภทรอดักทราย เพื่อปรับทัศนียภาพให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ แต่อาจต้องใช้ระยะเวลาในการปรับปรุงอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลง ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำทะเลรุกล้ำ เบื้องต้นอาจจะมีการกั้นน้ำในบางช่วง แต่ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าวต้องนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาพื้นที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแนวทางก่อนจะดำเนินการต่อไป
หลังจากรับฟังปัญหาและแนวทางแก้ไขจาก ดร.อานนท์ และ นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรชายฝั่ง โดย นายวราวุธ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเองซึ่งดำรงตำแหน่ง รมว.ทส.มีหน้าที่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาติ แล้วก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในประเด็นปัญหาดังกล่าว จึงนำทีมผู้บริหาร ทส. มารับฟังและร่วมพิจารณาแนวทางแก้ไข ซึ่งขณะนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าโครงสร้างที่ดำเนินการไว้โดยส่วนราชการอื่น ตั้งแต่ก่อนมีการก่อตั้งกระทรวง ทส.ได้ก่อให้เกิดปัญหาการกัดเซาะและผลกระทบต่อเนื่องด้านอื่นๆ ซึ่งตนจะได้มอบให้ นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เร่งรัดการแก้ไขปัญหานี้ โดยการปรับปรุงพื้นที่หน้าหาดของพระราชนิเวศน์มฤคทายวันให้มีรูปแบบ และแนวทางที่ชัดเจนผ่านคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาพื้นที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลายส่วนมาร่วมพิจารณาโดยเร็วต่อไป
ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. กล่าวในกรณีนี้ว่า ตนสั่งการให้ ทช. พิจารณาแนวทางแก้ไขว่ามีอะไรที่จะต้องเร่งดำเนินการโดยด่วนก็ให้เร่งดำเนินการแต่โครงสร้างใหญ่ๆ เช่น jetty ที่มีขนาดใหญ่และงบประมาณที่สร้างไว้มีมูลค่าสูง จะต้องทำการศึกษาว่าหากทำการแก้ไขปรับปรุงแล้วจะก่อให้เกิดปัญหาใหม่ๆ อะไรตามมาอีกหรือไม่ รวมทั้งการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศที่ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานดำเนินการซึ่งเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำนั้น กระทรวง ทส. กำลังเร่งรัดบูรณาการแก้ไข้ปัญหา โดยจะนำมติของคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ซี่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งได้มีมติเห็นชอบในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 63 ว่าต่อไปนี้การดำเนินการป้องและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศที่ดำเนินการโดยหน่วยงานต่างๆ นั้น จะต้องนำแผนงานรูปแบบตลอดจนวิธีการเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการกัดเซาะชายฝั่ง ก่อนที่จะเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณต่อสำนักงบประมาณต่อไป ซึ่งตนคาดว่า จะสามารถบูรณาการการทำงานได้เป็นรูปธรรม และไม่เกิดความซ้ำซ้อนได้เป็นอย่างดี