ย้อนรำลึก 198 ปี นักปราชญ์ด้านภาษาไทย ผู้มีสมญานามว่า “ศาลฎีกาภาษาไทย” พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ผู้แต่งตำราเรียนชุดแรกของไทย “แบบเรียนหลวง” และกวีนิพนธ์อีกมากมายอันทรงคุณค่า
วันนี้ (5 ก.ค.) นอกจากจะเป็นวัน “วันอาสาฬหบูชา” เป็นวันสำคัญสำหรับพุทธศาสนิกชน ซึ่งเป็นวันที่ที่มีพระรัตนตรัยครบองค์สาม คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งวันนี้ในสมัยพระพุทธกาล พระพุทธเจ้า ได้ทรงปฐมเทศนา “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” นั่นก็คือ พระสูตรที่ว่าด้วยมัชฌิมาปฏิปทา คือ ทางสายกลาง และอริยสัจ 4 หรือความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ถือเป็นการเริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนาแก่ชาวโลก อีกทั้งยังเป็นวันที่พระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นรูปแรก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ
นอกจากนี้ วันที่ 5 ก.ค. ยังเป็นวันคล้ายวันเกิดของ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) นักปราชญ์ด้านภาษาไทย ผู้มีสมญานามว่า “ศาลฎีกาภาษาไทย” เป็นผู้แต่งตำราเรียนชุดแรกของไทย เรียกว่า “แบบเรียนหลวง” รวมถึงหนังสือกวีนิพนธ์อีกหลายเรื่องที่ทรงคุณค่าจนถึงปัจจุบัน แม้แต่ “กูเกิล” ก็ได้สร้างดูเดิล (Doodle) เพื่อร่วมย้อนรำลึกถึงพระ ยาศรีสุนทรโวหาร อีกด้วย
พระยาศรีสุนทรโวหาร หรือ น้อย อาจารยางกูร เกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2365 ตรงกับปลายรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เป็นชาวฉะเชิงเทรา เดิมท่านชื่อน้อย เกิดที่บ้านในคลองโสธร แขวงเมืองฉะเชิงเทรา เมื่อ ณ วัน 6 เดือน 8 แรม 2 ค่ำ ปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช 1184 ตรงกับวันที่ 5 กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก 41 บิดาท่านชื่อ ทองดี มารดาท่านชื่อ บัว ท่านเป็นบุตรคนที่ 6 ของบรรพบุรุษ เมื่ออายุได้ 6-7 ปี ท่านได้เล่าเรียนหนังสือไทยกับหลวงบรรเทาทุกขราษฎร์(ไทย) กรมการเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพี่ชายใหญ่ของท่าน ในขณะที่หลวงบรรเทาทุกขราษฎร์ยังบวชเป็นภิกษุอยู่ที่วัดโสธร
จากนั้นเมื่อท่านอายุได้ 13 ปี พี่ชายใหญ่ของท่านจึ่งได้พากันเข้ามาพักอยู่กับท่านสามเณรทัด ซึ่งเป็นน้าชายของท่านที่ได้เข้ามาบวชอยู่วัดสระเกศนั้น ท่านสามเณรทัดองค์นี้ได้ชักนำให้ท่านเล่าเรียนวิชาหนังสือไทยกับท่านกรรมวาจาจัน เรียนหนังสือขอมกับท่านพระครูวิหารกิจานุการ (กรรมวาจาจีน) แล้วได้เรียนสารสงเคราะ ในสำนักสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เรียนมงคลทีปนีในสำนักพระอุปทยาจาริยศุข เรียนมัลกัจาจายนในสำนักสมเด็จพระพุทธาจาริย (สน) เรียนกังขาวิตะระณีในสำนักพระอาจารย์เกิด วัดแหลม เรียนมหาวงศ์ในสำนักพระครูด้วง และได้เล่าเรียนพระคัมภีร์อื่นๆ ในสำนักพระครูปาน พระใบฎีกาแก้ว พระอาจารย์คง พระอาจารย์ด้วง ฝ่ายอาจาริยคฤหัสถ์นั้นท่านได้ร่ำเรียนวิภัตติกะถาคัณฐาภรณ์สัตถสาร วะชิระสาร ในสำนักท่านอาจารย์แสง เรียนวุตโตไทยในสำนักหม่อมเจ้าอ้น บ้านถนนโรงครก เสาะหาอาจารย์ศึกษาวิชาหนังสือขอมหนังสือไทย ในสำนักพระอาจาริยต่างๆ ดังนี้มา ตั้งแต่อายุท่านได้ 14 ปี แล้วท่านจึงได้เข้าบวชเป็นสามเณรอีก 8 ปี รวมเวลาที่ท่านได้เล่าเรียนอยู่ถึง 11 ปี
เมื่ออายุได้ 21 ปี ครบอุปสมบทแล้ว ท่านจึงได้เข้าอุปสมบทเป็นภิกษุอยู่ในวัดสระเกศ ได้ศึกษาปริยัติธรรมเรียนคัมภีร์วิสุทธมัคกับพระวิเชียรปรีชา (กลิ่น) เจ้ากรมราชบัณฑิต ที่พระที่นั่งดุสิทธิมหาปราสาทต่อมาได้ 3 พรรษา จึงได้เข้าแปลปริยัติธรรมในที่ประชุมพระราชาคณะ ที่วัดราชบูรณ กรมไกรษรวิชิตเป็นผู้กำกับเป็นครั้งที่ 1 ได้เป็นเปรียญเอก 5 ประโยค มีนิตยภัตรเดือนละ 8 บาท ท่านได้ดำรงสมณะเพศอยู่ในราชการพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 9 พรรษา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2 พรรษา รวมเป็น 11 พรรษา
หลังจากศึกออกมา ท่านเจ้าพระยามหินทรศักดิดำรง แต่เมื่อท่านยังเป็นเจ้าหมื่นสรรเพชรภักดีหัวหมื่นมหาดเล็กอยู่นั้น ได้นำท่านเข้าไปถวายตัวทำราชการฉลองพระเดชพระคุณ อยู่ในกรมมหาดเล็กเวรศักดิ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงใช้สอยการหนังสือไทยแลหนังสือขอม แคล่วคล่องต้องตามพระราชอัธยาศัยทุกสิ่งทุกประการ
กระทั่ง เมื่อวันที่ 4 เดือน 1 แรม 2 ค่ำ ปีมะแมตรีศก จุลศักราช 1233ท่านได้คิดแบบสอนหนังสือไทย คือ มูลบทบรรพกิจเล่ม 1 วาหะนิตินิกรเล่ม 1 อักษรประโยคเล่ม 1 สังโยคพิธานเล่ม 1 พิศาลการันต์เล่ม 1 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ให้เอาต้นฉบับหนังสือทั้ง 5 เรื่องนั้น ลงพิมพ์ที่โรงพิมพ์หลวง สำหรับจะได้จำหน่ายพระราชทานให้แก่ผู้เล่าเรียนต่อไป ฝ่ายความชอบที่เป็นผู้ต้นคิดแบบเรียนแบบสอนนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งยศขึ้นเป็นหลวงสารประเสริฐ ปลัดทูลฉลองกรมพระอาลักษณ์ กรมพระอาลักษณ์นี้ยังมิได้เคยมีตำแหน่งเป็นหลวงมาก่อนเลย แล้วพระราชทานสมปักเชิงปูม กับเสื้อแพรเขียวเป็นเครื่องยศ พระราชทานเบี้ยหวัดเงินปีปีละ 2 ชั่ง
จุลศักราช 1235 จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเป็นโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ สั่งสอนพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าน้องนางเธอ ที่ยังทรงพระเยาว์อยู่ แลหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ แลบุตรหลานข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงทั่วไป โดยแบบเรียนหนังสือไทย ซึ่งท่านได้คิดขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไว้ทั้ง 5 ฉบับนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินเดือนๆ ละ 60 บาท ได้คิดแต่งแบบเรียนหนังสือไทยเป็นคำโคลงฉันท์ต่างๆ เป็นคำอธิบายชี้แจงถ้อยคำแลตัวสะกดในแบบไวพจนพิจารณาเล่ม 1 ให้ชื่อว่า ไวพจนประพันธ์ จนได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ว่าเป็นผู้มีความรู้พอเศษในหนังสือไทยเป็นเกียรติยศ ต่อมา ได้เลิกจากการสอนหนังสือไทยที่โรงเรียนหลวง แล้วมาเป็นอาจารย์ถวายพระอักษร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร
จุลศักราช 1233 ท่านได้คิดแบบสอนหนังสือไทย คือ มูลบทบรรพกิจเล่ม 1 วาหะนิตินิกรเล่ม 1 อักษรประโยคเล่ม 1 สังโยคพิธานเล่ม 1 พิศาลการันต์เล่ม 1 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ให้เอาต้นฉบับหนังสือทั้ง 5 เรื่องนั้น ลงพิมพ์ที่โรงพิมพ์หลวง สำหรับจะได้จำหน่ายพระราชทานให้แก่ผู้เล่าเรียนต่อไป
ภายหลัง พระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก) เจ้ากรมอาลักษณ์ถึงแก่กรรมลง จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ว่า จะทรงตั้งให้ท่านเป็นที่พระศรีภูริปรีชาเสนาบดีศรีสารลักษณ์ เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ถือศักดินา 5000 ท่านจึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณา ขอรับพระราชทานถือศักดินา 3000 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ท่านเป็นที่พระศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ถือศักดินาแต่ 3000 ตามที่ได้กราบบังคมทูลนั้น แล้วพระราชทานโต๊ะถมกาถมเป็นเครื่องยศ แลเบี้ยหวัดปีละ 3 ชั่ง
ปั้นปลายของชีวิต พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) 21 กันยายน รัตนโกสินทรศก 110 ท่านป่วยมีอาการเป็นไข้เส้นให้สะบัดร้อนสะบัดหนาว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหมอหลวงมารักษาแต่อาการไม่ดีขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาอมรสารทประสิทธิ์ศิลปะมารักษา มีอาการให้เหนื่อยหอบเป็นกำลัง รับประทานอาหารไม่ใคร่ได้ ครั้นถึง ณ วัน 6 เดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ ปีเถาะตรีศก 1253 ตรงกับวันที่ 16 เดือนตุลาคม รัตนโกสินทรศก 110 ท่านได้สั่งให้านำดอกไม้ธูปเทียนมาทูลเกล้าฯ ถวายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กราบถวายบังคมลา เวลาบ่าย 5 โมงเศษก็ถึงแก่อนิจกรรม สิริอายุได้ 69 ปี รับพระราชทานโกศโถเป็นเกียรติยศ ต่อมาได้มีการพระราชทานเพลิงศพพระยาศรีสุนทรโวหารเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2438 ณ เมรุ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเป็นองค์ประธาน