วันนี้ (4 มิ.ย.) นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร สมาชิกวุฒิสภา และ นายพงศ์ศักดิ์ เดชอุดม นักวิชาการ ให้สัมภาษณ์ในรายการเรื่องของคน ในหัวข้อ “กรุงเทพฯไม่จมน้ำ” ทางช่อง Peace Tv ออกอาการวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.00-09.00 น.
นายสามารถ กล่าวว่า ในทางกายภาพโอกาสเกิดสึนามิในกรุงเทพฯ ยังมีโอกาส แต่อย่าลืมว่าไม่ใช่ปัจจัยเดียว คือ การเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ยังมีปัจจัยอื่นทำให้กรุงเทพฯจมน้ำได้ เช่น สภาวะโลกร้อนเมื่อปริมาณน้ำแข็งละลายก็เพิ่มปริมาณน้ำทะเล ปัจจุบันจึงพบเห็นปัญหาน้ำทะเลหนุนอยู่ตลอด ตนเคยคุยกับคนแก่ท่านหนึ่งบอกว่า เมื่อก่อนน้ำทะเลหนุนยังไม่ถึง จ.ฉะเชิงเทรา ขณะที่ปัจจุบันไปถึง จ.ปราจีนบุรี และ จ.สระแก้ว แล้ว
วันนี้เราต้องยอมรับว่าคนคือปัจจัยที่ทำให้น้ำมากขึ้น ถามว่าวันนี้คนหนึ่งคนใช้น้ำอุปโภคบริโภคมากน้อยแค่ไหน ฉะนั้น น้ำเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของคนอยู่แล้ว เมื่อน้ำมีมากให้ลองนึกภาพทะเลกรุงเทพฯ “บางขุนเทียน” ซึ่งเป็นชายทะเลเมื่อก่อนไม่จมน้ำ ในวันนี้หลักเขตจมอยู่กลางทะเลแล้ว มีประชาชนร้องทุกข์ที่ศูนย์ พปชร.โฉนดจากเป็นที่ดินตอนนี้กลายเป็นน้ำหมด ถ้าจะทำได้คือต้องไปถมเพื่อใช้แผ่นดินนั้น
ฉะนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏชัดแล้วว่าปริมาณน้ำมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเชิงฟิสิกส์ว่ากรุงเทพฯมีโอกาสเกิดสึนามิใหญ่ คือปัญหาสำคัญที่ทางรัฐบาลต้องมอง โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ สาระสำคัญคือจะทำอย่างไรกรุงเทพฯน้ำไม่ท่วม เบื้องต้นต้องลดปริมาณน้ำหนุนให้ได้ เพราะเวลาฝนตกทีเราเห็นกรุงเทพฯน้ำท่วม สาเหตุจากน้ำรอระบายเราเคยได้ยินตำรวจ และ ผวจ.กรุงเทพฯในอดีตพูดว่า “จะไปดูทำไมน้ำท่วม ผมไปดูก็ไม่ยุบหรอก ยังไงมันก็ท่วม” น้ำทะเลหนุนขึ้นมาจะสูบออกแม่น้ำเจ้าพระยาก็ไม่ได้ ปริมาณน้ำในท่อก็ไม่สามารถเอาออกได้ ชัดเจนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นน้ำทะเลมีส่วนสำคัญ
“ไม่ใช่ปัญหาที่แก้วันนี้แล้วเสร็จพรุ่งนี้ มันต้องมีแผนศึกษาโครงการต้องใช้เวลาหลายปี เราต้องเริ่มได้แล้วถ้าช้าเราจะทำไม่ทัน ประเทศเนเธอร์แลนด์อยู่กลางทะเลแต่เขาทำได้อย่างไร เราต้องไปดูโนว์ฮาว ไปเอาเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาปกป้องคนกรุงเทพฯ” ผอ.ศูนย์ร้องทุกข์ กล่าว
นายสามารถ กล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร.มีความตั้งใจช่วยเหลือประชาชนในทุกมิติอยู่แล้ว เห็นว่า เรื่องความเดือดร้อนของประชาชน ยังไม่ได้รับการแก้ไขสมัยยังรับราชการ จึงเสียสละลงมาทำงานด้านการเมือง ถึงเวลาที่เราต้องตกผนึกร่วมกัน เนื่องจากปัญหาความเดือนร้อน ไม่ใช่มีแค่เรื่องปากท้อง เศรษฐกิจ แต่ยังมีเรื่องพิษภัยธรรมชาติ สุดท้ายก็ย้อนกลับมายังเรื่องเศรษฐกิจ
อย่างน้อยตนมั่นใจว่า ส.ส.กรุงเทพฯ 30 เขตรวม 30 คน ต้องหารือร่วมกันว่าจะปกป้อง หรือทำอย่างไรให้กรุงเทพฯไม่จมน้ำ ตนในฐานะ ผอ.ศูนย์ร้องทุกข์พรรค พปชร.ได้รับเรื่องนี้ไว้แก้ไขซึ่งในนั้นมี ส.ส.พรรค พปชร.เป็นคณะทำงานร่วมกัน 20 กว่าคน ตนคิดว่าการที่จะเสนอญัตติ เพื่อศึกษาปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ คงสามารถดำเนินการได้ และได้รับเสียงตอบรับจาก ส.ส.ทั้งสภา ซึ่งในการตั้งกรรมการวิสามัญใช้เวลาประมาณ 120 วัน ในการพิจารณาและเมื่อเห็นแล้วว่า เป็นประโยชน์ต่อประเทศก็เสนอรัฐบาลต่อไป
ด้าน พล.อ.ธวัชชัย กล่าวว่า เราต้องร่วมกันศึกษาตั้งวิสามัญ มีคาดการว่าปี 2571 กรุงเทพฯน้ำจะท่วม 2 เมตร เราอาจจะไม่ทันตนขอฝาก นายสามารถ และ นายพงศ์ศักดิ์ ให้ช่วยกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทฤษฏีย้ายเมืองหลวงเป็นไปได้ยาก เราใช้วิธีป้องกันและซ่อมแซมจะดีกว่า
นายพงศ์ศักดิ์ กล่าวเสริมว่า เราใช้เวลาประมาณ 10 ปี ในการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯเร็วสุด 5 ปี ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่นำมาใช้ เรื่องน้ำขึ้นอาจมีเวลารอได้แต่สึนามิมา 6 ชั่วโมง สามารถดึงกรุงเทพฯและภายใน 10 ชั่วโมงถึง จ.นครสวรรค์ การย้ายกรุงเทพฯทำได้ แต่กิจการและสิ่งที่มีอยู่ต่างๆ 70 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในภาคกลางคือผลิตของประเทศไทย ทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ในที่สูงกว่า แล้วมานั่งมองว่าเรื่องราวที่ผ่านมา มันพังหมดแล้วเห็นทีควรจะไม่ใช่ทางออก
หลังจากนั้น นายสามารถ ได้เข้าหารือกับ นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.กรุงเทพฯ พรรค พปชร.ในฐานะคณะทำงานศูนย์ร้องทุกข์ ให้เสนอญัตติคณะกรรมาธิการศึกษาปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ เพื่อหาปัญหาและหาแนวทางป้องกัน นอกจากนี้ นายสามารถ ได้หารือกับ ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในการช่วยกันผลักดันตั้งกรรมาธิการศึกษาเรื่องนี้ร่วมกัน เพราะถือเป็นผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน