xs
xsm
sm
md
lg

“เขมทัตต์” ยันรักษาประโยชน์ “อสมท” ฉะ “บอร์ดบางคน-สหภาพฯ” ป่วนทำองค์กรเสียหาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เขมทัตต์ พลเดช
“เขมทัตต์” ยันรักษาผลประโยชน์ “อสมท” เผยพร้อมอุทธรณ์ตัวเลขเยียวยา หาก กสทช.ให้แค่ 3.2 พันล้านบาท เหตุประเมินแล้วเสียหายไม่ต่ำ 5 หมื่นล้าน ชำแหละเหตุ 3 บอร์ดไขก๊อก คนแรกออกก่อน เพราะงานล้นมือ ส่วนอีกสองหมดวาระเดือนนี้พอดี เซ็ง “บอร์ดบางคน-สหภาพฯ” ท้วงโดยไร้ข้อมูล ทำภาพลักษณ์ บมจ.เสียหาย

จากกรณีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุและโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรียกคืนคลื่น 2600 MHz และจัดสรรเงินเยียวยา วงเงิน 3,235 ล้านบาท ให้แก่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และคู่สัญญา ซึ่งได้รับผลกระทบในสัดส่วน 50 ต่อ 50 โดยที่นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ซึ่งนายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ถูกกล่าวหาว่าไม่รักษาผลประโยชน์ของ บมจ.อสมท นั้น

วันนี้ (18 มิ.ย.) ที่โรงแรมคอนราด ถ.วิทยุ นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) นัดแถลงต่อสื่อมวลชนเพื่อชี้แจงข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยระบุว่าตนได้รับการเห็นชอบจากมติคณะกรรมการ (บอร์ด) มาตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2562 ที่ถูกเรียกคืนคลื่น เป็นต้นมาก็ได้มอบหมายให้ตนไปเจรจากับคู่สัญญา ขณะเดียวกันก็ไปเจรจากับ กสทช. พร้อมรายงานให้บอร์ดรับทราบมาต่อเนื่องในการเจรจาเพื่อให้ บมจ.อสมท ได้ผลประโยชน์มากที่สุด เพื่อประโยชน์ขององค์กรและผู้ถือหุ้น และในระหว่างการเจรจากับ กสทช.ได้ทราบว่า มีแนวทางเลือกเพียง 2 ทาง คือ แนวทางศึกษาของคณะอนุกรรมการเยียวยา ที่กำหนดในสัดส่วนที่เท่าๆกัน และแนวทางของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กำหนดให้ บมจ.อสมท ได้น้อยกว่าคู่สัญญา

นายเขมทัตต์กล่าวต่อว่า อำนาจการตัดสินใจเกี่ยวกับมูลค่าการเยียวยานั้นอยู่ที่กรรมการ กสทช. ส่วนตัวนายเขมทัตต์มีหน้าที่เป็นแค่บุรุษไปรษณีย์ ไปเจรจาแล้วนำข้อมูลข้อเรียกร้องว่าสิ่งที่ กสทช.จะกำหนดออกมา อย่าดำเนินการตามสัญญาเดิมที่ทาง อสมท ทำกับคู่สัญญาได้ไหม เพราะฉะนั้น แล้วทาง อสมท ได้เสนอไปในแบบฟอร์มที่บอกว่าลงทุนไปเท่าใด ได้ค่าตอบแทนเท่าใด ส่วนคู่สัญญาจะได้รับเท่าใด ทาง อสมท ไม่สนใจ แต่ขอส่วนที่ อสมท จะได้ ส่วนประเด็นที่ว่านายเขมทัตต์ไปแบ่งเงินให้กับคู่สัญญานั้น ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ตามกระบวนการทางกฎหมายที่ กสทช.กำหนด เพียงแต่ไปบล็อกในการพิจารณาของ กสทช.ว่าให้พิจารณาในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน เพราะถ้าหาก กสทช. พิจารณาในเชิงเอกสารจากสัญญาแล้วนั้น บมจ.อสมท จะเสียเปรียบ สิ่งนี้คือสิ่งที่ขอไป เพราะในนามของฝ่ายบริหาร ต้องเลือกแนวทางที่ดีที่สุดซึ่ง บมจ.อสมท ได้ประโยชน์มากกว่า โดยได้นำหลักอ้างอิงมาจากคณะอนุกรรมการเยียวยา ไปร้องขอให้ กสทช.เร่งพิจารณาดังกล่าว

“นายเขมทัตต์ไม่ได้มีการกำหนดขอไป แล้วทาง กสทช.จะพิจารณาอย่างไรก็เป็นเรื่องของ กสทช. ซึ่งโดยปกติแล้ว กสทช.ควรจะเป็นผู้กำหนดและเยียวยามาให้ บมจ.อสมท ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ หรือเจ้าของคลื่น เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีข่าวออกไปใน 3-4 วันนี้ โดยกรรมการบางคนและผู้นำพนักงานออกมาทักท้วง ทั้งที่ไม่เข้าใจกระบวนการของ กสทช. จึงเป็นสิ่งที่คลาดเคลื่อน ส่งผลความเสียหายต่อภาพลักษณ์บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์” นายเขมทัตต์กล่าว

นายเขมทัตต์กล่าวด้วยว่า ตนไม่เคยยอมรับจำนวนเงินเยียวยากว่า 3,200 ล้านบาท ตามที่ปรากฏเป็นข่าว ซึ่งที่ผ่านมา บมจ.อสมท ได้ทำการประมาณรายได้และค่าเสียโอกาสส่งให้กสทช. โดยมูลค่าที่ได้ส่งไปคือ 50,000 ล้านบาท บนระยะเวลาถือครองคลื่นความถี่ 15 ปี ซึ่งได้มีการไปชี้แจงกับสำนักงาน กสทช.หลายครั้ง และได้ยืนยันมูลค่าเสียโอกาส โดยมูลค่าที่เหมาะสมที่ บมจ.อสมท ควรจะได้รับคือ การชดใช้และค่าตอบแทนในการเสียโอกาสทางธุรกิจ รวมถึงการคำนวณจำนวนมูลค่าของเงินต้องขึ้นอยู่กับอายุที่เหลือของคลื่นด้วย ทั้งนี้ กสทช.ควรระบุจำนวนเงินเยียวยาให้ชัดว่า บมจ.อสมท ควรได้รับเงินเยียวยาในสัดส่วนเท่าใด โดยไม่ใช่การแบ่งเงินกับคู่สัญญา

“บมจ.อสมท ได้ส่งประเมินรายได้รวมในการประกอบกิจการเป็นเวลา 15 ปี ให้กับ กสทช.แล้ว และในการเข้าไปชี้แจงกับสำนักงาน กสทช. และอนุกรรมการเยียวยาฯ ของ กสทช. นั้น ผมไม่เคยทราบเลยว่าจะได้ค่าชดเชยมูลค่าเท่าใด จนสุดท้ายในการพิจารณาของกรรมการ กสทช. ผมก็ได้ไปชี้แจง แต่กรรมการ กสทช.มีความเห็นว่าการชี้แจงยังไม่ชัดเจน ขอให้ทำหนังสือชี้แจงกลับมา 2 ประเด็น คือ อำนาจของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ในการชี้แจง และการจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับคู่สัญญา ซึ่งได้เรียนชี้แจงไปแล้ว”

นายเขมทัตต์กล่าวด้วยว่า จุดยืนของเรื่องนี้ คือ กสทช.ต้องมีหน้าที่เยียวยาคืนคลื่นความถี่ โดยแบ่งการเยียวยาออกเป็น 3 ส่วนคือ มูลค่าที่ต้องทดแทน, ชดใช้ และจ่ายค่าตอบแทน ตนขอให้ กสทช.เร่งพิจารณาตามสัดส่วนที่เป็นธรรมตามที่คณะอนุกรรมการเยียวยาฯ มีความเห็น บมจ.อสมท จะเรียกร้องในส่วนที่ บมจ.อสมท จะต้องได้

“ขอย้ำว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาผมไม่เคยทราบวงเงินเลยว่าจะได้รับเงินเยียวยาเท่าใด หาก กสทช.ได้ส่งหนังสือมีมติเป็นทางการ และ บมจ.อสมท พิจารณาแล้วว่าวงเงินและวิธีการการแบ่งสัดส่วนไม่เหมาะสม หรือเป็นธรรม ก็จะเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณาดำเนินการโต้แย้งต่อไป” นายเขมทัตต์กล่าว

ส่วนกรณีที่มีบอร์ด บมจ.อสมท 3 ราย ลาออก หลัง กสทช.มีมติให้ บมจ.อสมท แบ่งเงินเยียวยา 3,200 ล้านบาทให้แก่เอกชนเท่าๆกันนั้น นายเขมทัตต์ ชี้แจงว่า บอร์ดท่านหนึ่ง ลาออกไปตั้งแต่ก่อนจะมีมติของ กสทช. โดยให้เหตุผลว่ามีงานที่ต้องรับผิดชอบจำนวนมาก จึงไม่สามารถที่จะเข้ามาดำเนินการเป็นบอร์ดบริหารได้ บอร์ดท่านที่ 2 ครบวาระในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากเรายืดระยะเวลาของการประชุมผู้ถือหุ้นออกไปก็จะครบในวาระเดือน มิ.ย. ถึงไม่ลาออกก็หมดวาระอยู่ดี ซึ่งตอนนี้อยู่ในกระบวนการสรรหาใหม่ อีกท่านหนึ่งก็จะครบวาระในเดือน มิ.ย.เช่นเดียวกัน

“การที่บอร์ดลาออกในระยะเวลาใกล้เคียงกัน แต่ต่างเหตุผล ไม่สมควรที่จะมาใช้กรณีคลื่น 2600 เป็นชนวนเหตุในการลาออก” นายเขมทัตต์กล่าว

นายเขมทัตต์ยังได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาว่ามีผลประโยชน์ร่วมกับคู่สัญญาด้วยว่า สัญญานี้ที่ทาง บมจ.อสมท ทำกับเอกชนคู่สัญญา ทำก่อนที่ตัวเองจะมาดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท ไม่รู้จักบริษัทเอกชนดังกล่าวเลย ตัวเองมีหน้าที่เร่งรัดให้ได้เงินเยียวยา เพื่อให้ผลประกอบการ บมจ.อสมท ดีขึ้น ซึ่งไม่ได้คาดหวังว่า จะต้องไปเอื้อประโยชน์ให้ใคร เพราะไม่รู้จักเขา มีการทำสัญญามาก่อน หากจะมีความชัดเจน คิดว่าหลักเกณฑ์ของตัวเองชัดเจน และยืนยันมาตลอดว่าวงเงินที่ได้จะต้องมีความยุติธรรม บมจ.อสมท ต้องได้คุ้มค่า หากจะต้องมีมติของ กสทช.ออกมาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วไม่เป็นไปตามที่เราคาด ก็ได้เสนอคณะกรรมการบริษัท และผู้ถือหุ้น ต้องยื่นอุทธรณ์ในคำสั่งของ กสทช.ต่อไปเช่นเดียวกัน อันนี้เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและพนักงาน

ส่วนกรณีที่นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี จะมีการตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวนั้น นายเขมทัตต์กล่าวยืนยันว่า ยินดีที่จะให้มีการตรวจสอบ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้รับเรื่องแต่อย่างใด


กำลังโหลดความคิดเห็น