xs
xsm
sm
md
lg

“หมอมนูญ” เผยรังสียูวี-ซี สามารถฆ่าเชื้อไวรัส รวมถึงแบคทีเรียได้ดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เผยรังสียูวีซี (UV-C) สามารถฆ่าเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียได้ดี แต่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่ได้รับรังสีในปริมาณมากเกินไป แต่จะหายเป็นปกติใน 24-48 ชั่วโมง

วันนี้ (6 มิ.ย.) เพจ “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” หรือ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้ออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมกรรมทางแพทย์ใหม่ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ปลอดภัยมากขึ้น โดยในโพสต์นี้ หมอมนูญได้ระบุถึง “รังสี” ที่ใช้ในการฆ่าเชื้อโรค มีใจความว่า

“โรงพยาบาลเป็นสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้อโรคทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือเชื้อโรคอื่น เช่น วัณโรค เนื่องจากโรงพยาบาลส่วนใหญ่ติดตั้งระบบปรับอากาศ เป็นระบบปิด อากาศถ่ายเทไม่ดี ไม่เหมือนกับโรงพยาบาลที่สร้างเมื่อ 70 กว่าปีก่อน ใช้ระบบถ่ายเทอากาศทางธรรมชาติด้วยการเปิดหน้าต่าง ประตู

รังสียูวีแบ่งออกเป็นยูวี A, B และ C ยูวีที่ใช้ในการฆ่าเชื้อโรคเป็น UV-C ความยาวของคลื่น 254 นาโนมิเตอร์ UV-C ฆ่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ หัด ไวรัสโควิด-19 ได้ดีมาก ฆ่าเชื้อแบคทีเรียรวมทั้งวัณโรคได้ดี แต่ฆ่าสปอร์ของเชื้อราไม่ดี ในเมืองไทยมีการใช้รังสี UV-C ในการฆ่าเชื้อโรคมานานแล้วโดยติดตั้งในลักษณะหลอดเปลือย ติดไว้บนเพดาน เปิดหลอดยูวีเพื่อฆ่าเชื้อโรคบนพื้นผิวต่างๆ และอากาศในห้องในเวลาที่ไม่มีคนอยู่เท่านั้น คนที่ได้รับรังสี UV-C ในปริมาณที่มากเกินไป จะเกิดอาการแสบตาและแสบผิวหนัง แต่จะหายเป็นปกติใน 24-48 ชั่วโมง

ย้อนหลังไป 20 กว่าปีก่อน ผมได้เห็นผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจในระยะแพร่เชื้อ โดยเฉพาะวัณโรคเข้ามารักษาในโรงพยาบาล สมัยนั้นคนไทยทั่วไปไม่ใส่หน้ากากอนามัย และเรามีแต่เครื่องกรองอากาศที่มีแผ่น HEPA Filter ซึ่งมีราคาแพง กรองเชื้อโรคอนุภาคเล็ก 0.3 ไมครอนได้ ผมเป็นแพทย์ไทยคนแรกที่ออกแบบโคมไฟ UV-C ฆ่าเชื้อโรคในอากาศ ที่บังคับให้รังสี UV-C ออกตรงๆ ได้รอบตัว แต่ไม่ให้แสงเล็ดลอดขึ้นด้านบนและลงด้านล่าง แสงจะส่องออกไปด้านหน้าและด้านข้างในแนวนอน โดยติดโคมไฟกับผนังข้างฝาให้ด้านล่างของโคมสูงจากพื้น 2.20 เมตร จะเปิดหลอด UV-C ตลอดเวลาที่มีการปฏิบัติงาน และจะปิดเมื่อไม่มีคนอยู่แล้ว หลังการติดตั้งโคมไฟ UV-C ต้องวัดระดับรังสีที่ต่ำกว่าตัวโคมเพื่อให้แน่ใจว่าระดับรังสี UV-C ด้านล่างของห้องไม่สูงกว่าระดับมาตรฐานที่ OSHA ของประเทศสหรัฐอเมริกากำหนดไว้ ผมได้จดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์โคมไฟฆ่าเชื้อโรคในอากาศด้วย

การติดตั้งโคมไฟ UV-C เหมาะสำหรับห้องที่มีระบบปรับอากาศด้วยเหตุผล 2 ประการ

1. ในห้องปรับอากาศ อากาศเย็นถูกพ่นลงมาจากเพดาน และอากาศร้อนในห้องลอยกลับขึ้นไปบนเพดาน เชื้อโรคที่ออกจากทางเดินหายใจของคนไข้จะลอยขึ้นข้างบนทันที เพราะลมหายใจของคนไข้มีอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิของห้อง เมื่อเชื้อโรคลอยขึ้นไปในบรรยากาศส่วนบนของห้องที่มีรังสี UV-C ฉายอยู่ตลอดเวลา เชื้อโรคจะถูกฆ่า ไม่สามารถหมุนเวียนในห้องนั้นเป็นเวลานานๆได้

2. อำนาจการฆ่าเชื้อโรคของ UV-C ขึ้นกับความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ ถ้าความชื้นสัมพัทธ์สูงกว่า 70% อำนาจการฆ่าเชื้อโรคจะลดลงมาก ในห้องที่ติดระบบปรับอากาศ ความชื้นสัมพัทธ์ในห้องจะต่ำกว่า 70% แม้ในฤดูฝน

หลอด UV-C มีอายุการใช้งานได้ประมาณ 7,500 ชั่วโมง ถ้าเปิดวันละ 8 ชั่วโมง สามารถใช้ได้ 2 ปีโดยไม่ต้องเปลี่ยนหลอด การฆ่าเชื้อโรคด้วย UV-C มีปัจจัยหลายอย่าง อย่างแรกคือ ความเข้มข้นของรังสีที่หลอด UV-C ปล่อยออกมา อย่างที่สองคือ ระยะเวลาที่เชื้อโรคโดนรังสี UV-C อย่างที่สามคือ ระยะความใกล้ไกลของเชื้อโรคกับหลอดยูวี ยิ่งเชื้อโรคอยู่ใกล้หลอด UV-C เท่าไหร่ เวลาที่ใช้ฆ่าเชื้อจะสั้นลงเท่านั้น

เวลาติดตั้งโคมไฟต้องกำหนดเนื้อที่ต่อหลอด และกำหนดที่ตั้งของโคมไฟเพื่อให้แน่ใจว่ามีรังสี UV-C ปกคลุมบรรยากาศส่วนบนของห้องได้เต็มพื้นที่ หลังติดตั้งแล้วไม่ต้องการบำรุงรักษา เมื่อหลอดดับเพราะหมดอายุ ให้เปลี่ยนหลอดเท่านั้น โรงพยาบาลวิชัยยุทธตึกเหนือเป็นโรงพยาบาลต้นแบบแห่งแรกในไทย โดยได้รับการอนุมัติจากอาจารย์นายแพทย์สมพนธ์ บุณยคุปต์ ให้ติดตั้งโคมไฟ UV-C เพื่อฆ่าเชื้อโรคในอากาศในบริเวณที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก และมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อจากการใช้เครื่องพ่นยา เครื่องดูดเสมหะ หัตถการที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ ในห้องฉุกเฉิน ห้องไอซียู (ดูรูป) ห้องเก็บเสมหะ ห้องส่องกล้องตรวจหลอดลม ห้องผ่าตัด ห้องแยกสำหรับผู้ติดเชื้อ ห้องตรวจคนไข้ บริเวณรอตรวจ รอรับยา ห้องเอ็กซเรย์

ในระยะแรกที่ติดตั้งโคมไฟ UV-C มีบุคลากรจำนวนหนึ่งมีความหวาดกลัวต่ออันตรายจากรังสี UV-C ต้องใช้เวลากว่าที่ทุกคนจะยอมรับว่าวิธีการนี้ปลอดภัย และแพทย์ส่วนใหญ่จะตั้งคำถามว่ามีข้อมูลรองรับประสิทธิภาพของโคมไฟ UV-C ลดการแพร่เชื้อโรคได้จริงหรือ เป็นที่น่ายินดีที่ล่าสุดมีรายงานในวารสาร Amer J Respir Crit Care Med 2015;192:477-484 (ดูรูป) การติดตั้งโคมไฟ UV-C คล้ายกับโคมไฟที่ผมออกแบบ สามารถลดการติดเชื้อวัณโรคจากผู้ป่วยให้หนูตะเภาได้ 80% ในระยะเวลา 7 เดือน สรุปว่าการติดตั้งโคมไฟ UV-C มีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่เชื้อวัณโรคในอากาศ

ขณะนี้มีหลายโรงพยาบาลในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มติดตั้งโคมไฟ UV-C ฆ่าเชื้อโรคในอากาศ หนังสือพิมพ์ New York Times ได้สัมภาษณ์นักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการนำโคมไฟ UV-C มาฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ในอากาศเมื่อเร็วๆ นี้”




กำลังโหลดความคิดเห็น