xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องวุ่นๆเมื่อคนไทยเริ่มใช้นามสกุล! ร.๖ พระราชทานนามสกุลแรกของชาวสยาม!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ต้นตระกูล “สุขุม” กับท่านผู้หญิงตลับ และคุณหญิงประจวบ รามราฆพ (สุขุม)
ตั้งแต่โบราณมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ คนไทยเราไม่มีนามสกุลใช้ มีแต่ชื่อโดดๆ ทั้งชื่อก็ยังซ้ำกันมาก อย่าง อิน จัน มั่น คง แดง ดำ ขาว เขียว ตอนจะมีไปรษณีย์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อแก้ปัญหาไม่มีเลขที่บ้านไปล้ว ก็ยังมีปัญหาเรื่องชื่อบุคคลที่จะรับจดหมายอีก ไม่รู้ว่าแดงไหน ดำไหน ตอนไปสำรวจจัดทำบ้านเลขที่ ก็ขอให้บอกชื่อคนที่อยู่ รวมทั้งชื่อบิดามารดาด้วย จะได้ชัดเจนขึ้น โดยมีประกาศตอนหนึ่งว่า

“...ถ้าไม่จดชื่อบิดากำกับด้วย ก็ไม่ทราบว่า อิน จัน มั่น คง คนใด จึงต้องถามชื่อบิดาด้วย จะได้ลงชื่อบิดากำกับไม่ใช้ชื่อซ้ำกัน เหมือนดั่งชื่อธรรมเนียมจีนธรรมเนียมยุโรปอื่นๆนั้น เหมือนกับนายอินบุตรนายอ้น นายจันบุตรนายจร นายมั่นบุตรนายม่วง นายคงบุตรนายคำ ดั่งนี้เป็นต้น”

เมื่อลงชื่อบิดากำกับแล้ว ชื่อบิดาก็อาจซ้ำกันอีก จึงต้องขอให้บอกอาชีพด้วย

“การซึ่งถามถึงสังกัจและการทำมาค้าขายนั้นก็เหมือนกัน พอให้เปนที่มั่นคงเครื่องหมายที่จะให้ผิดชื่อกันเท่านั้น แลจะได้ทราบว่าผู้นั้นมีวิชาการสิ่งไร แลทำมาค้าขายสิ่งอันใด เพราะเพื่อราษฎรลูกค้าพานิชชาวต่างประเทศ จะมีความประสงค์ในการวิชาของผู้นั้น ฤามีธุระเกี่ยวข้องในวิชาแลการค้าขายสิ่งใดก็ดี ก็จะได้ทราบว่าผู้นั้นเป็นคนอย่างไร แลทำมาค้าขายสิ่งอันใด ราษฎรลูกค้าพานิชจะได้ซื้อส่งสินค้าได้คล่องแคล่ว โดยสะดวก ไม่ว่าต่างเมืองทางไกลแลใกล้ มิใช่จะจดชื่อเสียงไว้สำหรับเก็บภาษี ฤาคิดค่าหลังคาเรือน...”

ด้วยเหตุที่ยุ่งยากเรื่องชื่อนี้ ในรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประกาศพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้นในวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๔๕๕ บังคับใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๕๖ เป็นต้นไป ให้คนไทยต้องมีนามสกุล เพื่อสะดวกแก่การจดทะเบียนคนเกิด คนตาย และทำการสมรส ทรงชี้แจงถึงคุณประโยชน์ของการมีนามสกุลไว้ใน “จดหมายเหตุรายวัน” ว่า

“...การมีชื่อตระกูลเปนความสะดวกมาก อย่างต่ำๆที่ใครๆก็ย่อมจะมองเห็นได้ คือชื่อคนในทะเบียฬสำมโนครัวจะได้ไม่ปนกัน แต่อันที่จริงจะมีผลสำคัญกว่านั้น คือจะทำให้เรารู้จักรำฤกถึงบรรพบุรุษของตนผู้ได้อุสาหก่อสร้างตัวมา และได้ตั้งตระกูลไว้ให้มีชื่อในแผ่นดิน เราผู้เปนเผ่าพันธุ์ของท่านได้รับมรฎกมาแล้ว จำต้องประพฤติตนให้สมกับที่ท่านได้ทำดีมาไว้ และการที่จะตั้งใจเช่นนี้ ถ้ามีชื่อที่ต้องรักษามิให้เสื่อมทรามไปแล้ว ย่อมจะทำให้เปนเครื่องยึดเหนี่ยวหน่วงใจคนมิให้ตามใจตนไปฝ่ายเดียว จะถือว่า
“ตัวใครก็ตัวใคร” ไม่ได้อีกต่อไป จะต้องรักษาทั้งชื่อของตัวเองทั้งชื่อของตระกูลด้วยอีกส่วน ๑...”

การมีนามสกุล จึงไม่ใช่ “ตัวใครก็ตัวใคร” ถ้าใครทำไม่ดีก็จะเสียไปถึงโคตรเง่าบรรพบุรุษด้วย คนที่คิดจะประพฤติชั่ว ก็โปรดสำนึกในข้อนี้ด้วย

ตอนให้ตั้งนามสกุลก็เป็นเรื่องโกลาหลไม่น้อย เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าจะตั้งอย่างไร นายอำเภอและเจ้าเมืองจึงเป็นที่พึ่ง วันๆไม่ต้องทำอะไรได้แต่ตั้งนามสกุลให้คนที่ไปหากันแน่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯก็ทรงพระราชทานนามสกุลให้แก่ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ดังที่ทรงบันทึกไว้ใน “ทะเบียฬนามสกุล” มีถึง ๖,๔๓๒ นามสกุล

นามสกุลหมายเลข ๑ ที่ทรงพระราชทาน คือ นามสกุล “สุขุม” พระราชทานเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๖ ต้นสกุลคือ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)


กำลังโหลดความคิดเห็น