“แฝดสยาม” เป็นฝาแฝดคู่แรกของโลกที่มีร่างกายติดกัน ทำให้คำนี้ถูกใช้เรียกฝาแฝดประเภทที่มีร่างกายติดกันตลอดมา และเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก มีฝรั่งหัวใสเอาไปแสดงในคณะละครสัตว์ที่อเมริกา ทำความร่ำรวยให้คนนำไปและฝาแฝดเอง จนสามารถซื้อที่ดินตั้งรากฐานขึ้นที่นั่น แม้ทั้งคู่จะมีร่างกายติดกัน ก็สามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติได้ ว่ายน้ำได้ แต่เมื่อมีคนละหัวจึงคิดต่างกัน ขัดแย้งกันก็ชกต่อยกัน ที่น่าสนใจก็คือมีเมียพร้อมกัน มีลูกเป็นโขลง สืบตระกูลเป็นคนอเมริกัน
แฝดสยาม เกิดที่เมืองสมุทรสงครามเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๓๕๔ ในรัชกาลที่ ๒ บิดาเป็นชาวจีนอพยพเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ ๑ ส่วนมารดาเป็นคนไทย ตั้งชื่อให้ว่า อิน กับ จัน เมื่ออายุเพียง ๒ ขวบบิดาก็เสียชีวิตจากโรคอหิวาต์ มารดาจึงรับภาระเลี้ยงดูฝาแฝดคู่นี้ ซึ่งก็สามารถช่วยเหลือมารดาทำมาหากินทั้งจับปลา ค้าขาย เหมือนเด็กทั่วไป
กล่าวกันว่าในสมัยนั้นยังมีกฎหมายว่าเด็กที่เกิดมาพิศดารแบบนี้ต้องถูกนำไปฆ่า เพราะถือว่าเป็นกาลกิณี แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการใช้บังคับกับฝาแฝดอิน-จัน ทั้งต่อมาในรัชกาลที่ ๓ ยังโปรดเกล้าฯให้มารดานำบุตรแฝดพิเศษคู่นี้เข้าเฝ้า และมีพระบรมราชานุญาตให้อินกับจันร่วมเดินทางร่วมไปกับคณะราชทูตที่ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศญวน
ในปี ๒๓๖๗ ต้นรัชกาลที่ ๓ นายโรเบิร์ท ฮันเตอร์ พ่อค้าชาวอังกฤษที่คนไทยเรียกว่า “นายหันแตร” นั่งเรือมาตามลำน้ำแม่กลอง เห็นอิน-จันว่ายน้ำอยู่เป็นของแปลก พยายามตีสนิทกับครอบครัวอยู่นานจนเกิดความไว้วางใจ จึงเจรจาขอนำฝาแฝดคู่นี้ไปโชว์ตัวในอเมริกาโดยมอบเงินจำนวน ๑.๖๐๐ บาทเป็นค่าตอบแทน และได้ให้นายอาเบล คอฟฟิน กัปตันเรือสินค้าชาวอเมริกันเป็นผู้นำไปเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๓๗๒ ขณะอิน-จันอายุได้ ๑๘ ปี ขณะนั้นการเดินทางต้องใช้เวลาถึง ๑๓๘ วัน
อิน-จันถูกนำตัวไปแสดงร่วมกับคณะละครสัตว์ทั่วอเมริกาและยุโรป แต่ละประเทศก็มีโอกาสได้เข้าเฝ้าระดับกษัตริย์และพระจักรพรรดิ พออายุครบ ๒๐ ปีก็หมดสัญญากับฝรั่ง และเห็นว่าถูกเอารัดเอาเปรียบมาตลอดจึงไม่ต่อสัญญา เปิดการแสดงเอง โดยคิดท่าการแสดงให้มากขึ้น มีการหกคะเมนตีลังกา และเก็บเงินซื้อที่ดินในรัฐนอร์ธ แคโรไลนาได้ราว ๓๐๐ ไร่
เมื่ออายุ ๒๘ ทั้งคู่ก็คิดลงหลักปักฐานทำไร่ฝ้ายในที่ดินที่ซื้อไว้ และซื้อทาสมาทำงานถึง ๓๓ คน ในสมัยนั้นทาสเป็นทรัพย์สินที่มีราคาพอๆกับที่ดิน และในรัฐที่ยอมให้มีทาส ก็มีประชากรเพียงร้อยละ ๒๐ เท่านั้นที่มีฐานะพอจะมีทาสได้ นับว่า “แฝดสยาม” มีฐานะมั่งคั่งทีเดียว
อินได้แต่งงานกับ ซาราห์ เยตส์ ส่วนจันก็แต่งกับ อะเดเลด เยตส์ น้องสาวของซาราห์ และได้รับสัญชาติอเมริกัน อินใช้ชื่อใหม่ว่า เอ็ง ส่วนจันใช้ชื่อ ชาง นามสกุล บังเกอร์ เหมือนกัน เอ็งมีบุตร ๑๐ คน ชางมีบุตร ๑๑ คน สืบทอดตระกูลบังเกอร์อยู่ในอเมริกา
ในปี ๒๔๐๔ ได้เกิดสงครามกลางเมืองอเมริกาจากความขัดแย้งเรื่องการมีทาส รัฐนอร์ท แคโรไลนาเป็น ๑ ใน ๑๑ รัฐที่ต่อสู้เพื่อการมีทาส สตีเฟน ลูกชายของอิน กับคริสโตเฟอร์ ลูกชายของจัน ได้เข้าร่วมรบด้วย เมื่อสงครามสงบตกเป็นฝ่ายแพ้ ต้องเสียทาสไปทั้งหมด จึงต้องออกแสดงหาเงินกันอีกครั้ง
การแฝดมีลำตัวติดกันของอิน-จัน คือติดกันที่เนื้อส่วนอก เนื้อส่วนนี้สามารถยืดได้จนทั้งสองสามารถหันหลังชนกันได้ แม้ทั้งคู่ไม่สามารถแยกตัวออกจากกันได้ เติบโตขึ้นมาในเบ้าหลอมชีวิตเดียวกัน แต่นิสัยกลับแตกต่างกัน และต่างกันอย่างมากเสียด้วย จันเป็นคนอารมณ์ร้อน หุนหันพลันแล่น และชอบดื่มสุราจนเมามาย ส่วนอินกลับเป็นคนอารมณ์เย็น สุขุม และไม่ดื่มเหล้า เมื่อทั้งคู่ต่างมีคนละหัวจึงคิดต่างกัน และขัดแย้งกันจนเกิดวิวาทชกต่อยกันก็มี
วงงการแพทย์และอิน-จันเองก็คิดถึงการผ่าตัดแยกร่าง แต่ก็ไม่มีใครกล้าลงมือ เพราะไม่แน่ใจว่าข้างในติดกันแค่ไหน จนเข้าวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๑๗ นักดื่มจันได้เสียชีวิตขณะนอนหลับ เมื่อพบว่าจันเสียชีวิตครอบครัวบังเกอร์จึงรีบติดต่อหมอให้รีบมาผ่าตัดแยกร่าง แต่หลังจากนั้นประมาณ ๒ ชั่วโมงเศษ เมื่อหมอมาถึงอินก็หมดลมหายใจไปอีกคนโดยไม่เจ็บป่วยด้วย
จากการชันสูตรศพ พบว่าจันเสียชีวิตจากเลือดคั่งในสมอง ส่วนเหตุที่อินเสียชีวิต ตอนแรกก็เชื่อว่าเกิดจากการช็อคที่คู่แฝดตาย แต่ภายหลังมีความเห็นว่าเนื่องมาจากหัวใจขาดเลือด โดยหัวใจของอินที่ยังเต้นอยู่ได้สูบฉีดโลหิตไปที่ร่างกายจันด้วย แต่เมื่อหัวใจจันหยุดเต้นไม่ฉีดโลหิตกลับคืนมา จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้อินเสียโลหิตจนเสียชีวิต แต่ก็มีความเห็นแย้งว่า ถ้าร่างของอิน-จันฉีดโลหิตไปมาถึงกัน ทำไมจันเมาอินจึงไม่ได้เมาด้วย
ต่อมาก็มีการพบว่า ฝาแฝดแบบแฝดสยามที่คนหนึ่งตายอีกคนหนึ่งต้องตายตามนั้น ความตายของคนหลังเกิดจากหัวใจขาดเลือด สูบให้ไปแล้วไม่ส่งกลับ และสาเหตุที่ไม่เมาด้วยนั้น ก็เพราะเส้นเลือดที่เชื่อมถึงกันนั้นเล็กมาก ไม่มีผลทางสารอาหารหรือแอลกอฮอล์ จึงเสียเลือดไปทีละน้อย และตายอย่างช้าๆ
เชื้อสายของแฝดสยาม อิน-จัน มีอยู่กว่า ๓,๐๐๐ คน กระจายอยู่ตามรัฐต่างๆ แต่ส่วนใหญ่ยังคงอาศัยอยู่ที่เมืองเมาท์แอรี่ รัฐนอร์ท แคโรไลนา ถิ่นเดิมของอิน-จันตลอดมา ทุกปีในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคมจะมีการจัดงาน ‘คืนสู่เหย้า’ ที่บ้านของอิน-จัน ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงวอชิงตัน ดี. ซี. ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานทุกปี และมีการเลี้ยงอาหารไทย
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๑ ซึ่งคล้ายกับวันเกิดปีที่ ๒๐๗ ของอิน-จัน จังหวัดสมุทรสงครามได้ร่วมกับกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ จัดกิจกรรมคืนถิ่นแฝดสยามอิน-จัน เชิญเชื้อสายของอิน-จันมาเยือนถิ่นกำเนิดของตระกูลบังเกอร์ และเป็นส่วนหนึ่งในการสถาปนาเมืองเมาท์แอรีกับจังหวัดสมุทรสงคราม มีเชื้อสายของอิน-จันมาร่วมงาน ๑๔ คน
เชื้อสายของอิน-จัน ต่างเล่าเรื่องของบรรพบุรุษกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งในครอบครัวบังเกอร์มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับอารมณ์ขันของคู่แฝดเยอะมาก เช่น
อิน-จิน แม้ตัวติดกัน แต่เมื่อมีฐานะแล้ว ต่างคนต่างก็มีบ้านเป็นของตัวเอง ไปอยู่บ้านตัวเองครั้งละ ๓ วัน เมื่ออยู่บ้านใคร คนนั้นก็มีสิทธิทำทุกอย่างตามที่อยากจะทำ อีกคนก็ต้องยอมจนกว่าจะถึงโอกาสของตัว
ครั้งหนึ่งมีผู้ที่ชมโชว์จบแล้วเดินมาถามว่า นี่อายุเท่ากันหรือเปล่า อินตอบหน้าตาเฉยว่า
“เปล่า.. จันเกิดทีหลัง ๒ ปี” ทำให้ผู้ชมคนนั้นก็เดินกลับไปอย่างงงๆ
ทายาทรุ่นที่ ๔ ของอินคนหนึ่งเล่าว่า มีคนถามเขาเยอะว่า
“ชัวร์หรือว่าเป็นทายาทสายของอิน เพราะตอนนั้นจันก็อยู่ด้วย”
“อือ..ก็ไม่รู้สิ เป็นเรื่องช่วยไม่ได้จริงๆที่จะมีคนสงสัยแบบนั้น” เขาเล่า “คนที่ลำตัวติดกันจะใช้ชีวิตครอบครัวแบบคนปกติจะทำอย่างไร จึงมีลูกถึง ๒๑ คน”
อีกคนเล่าว่า เวลาขึ้นรถไฟ คู่แฝดจะแกล้งยื่นตั๋วใบเดียวให้นายตรวจ นายตรวจบอกว่าต้องมีตั๋วคนละใบ ไม่งั้นคนไม่มีตั๋วต้องลงจากรถ คู่แฝดที่มีตั๋วแล้วก็บอกว่าผมซื้อตั๋วแล้ว ไม่ลง แต่อีกประเดี๋ยวก็จะหัวเราะ แล้วยื่นตั๋วอีกใบให้นายตรวจ
บางทีขับรถม้าไปด้วยกัน พอทะเลาะกันคนหนึ่งขู่ว่า
“เดี๋ยวฉันจะต่อยแกให้คว่ำตกรถไปเลย”
พอคิดได้ทั้งคู่ก็หัวเราะ เพราะถ้าแกตกไปฉันก็ตกด้วยน่ะสิ
เรื่องที่เล่ามานี้ เป็นเรื่องที่พวกเขาได้ฟังหรืออ่านต่อๆกันมาในครอบครัว เพราะทายาททั้งหมดที่มาครั้งนี้ไม่มีใครทันได้เห็นความขี้เล่นของคุณปู่ทวดฝาแฝดเลย
นอกจากจะชื่นชมอารมณ์ขันของคุณปู่ทวดแล้ว เชื้อสายอิน-จันยังภูมิใจมากที่ “แฝดสยาม” แม้จะเกิดมาเสียเปรียบคนธรรมดามาก แต่ก็อดทนบากบั่นไม่ใช่แค่เอาชีวิตรอด แต่สร้างฐานะจนมั่งคั่ง และสนับสนุนให้ลูกหลานได้รับการศึกษาที่เขาไม่มีโอกาส จนเชื้อสายของอิน-จันหลายคนมีบทบาทสำคัญอยู่ในสังคมอเมริกันขณะนี้
เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่อิน-จันที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ทางจังหวัดสมุทรสงคราม ได้สร้างอนุสรณ์สถานแฝดอิน-จัน ขึ้นที่ตำบลลาดใหญ่ อำเภอเมือง โดยสร้างรูปหล่อ “แฝดสยาม” ขนาดเท่าครึ่งของตัว และในส่วนบริเวณอนุสรณ์โดยรอบได้ปรับปรุงให้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและที่ออกกำลังกาย สนามเด็กเล่น และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดสมุทรสงคราม