การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นอาชีพที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่การปลูกหม่อน การเลี้ยงไหม จนถึงการทอเป็นผืนผ้า ล้วนต้องใช้การถ่ายทอดประสบการณ์ของคนรุ่นก่อน สู่รุ่นต่อไป เช่นเดียวกับ “แม่สงวน ทิพย์ลม” เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมประจำปี 2563 รางวัลแห่งความภาคภูมิใจมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่ชนรุ่นต่อไป
วันนี้ (8 พ.ค.) นายวสันต์ นุ้ยภิรมย์ อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า กรมหม่อนไหมได้คัดเลือกเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นประจำทุกปี โดยในปี 2563 นี้ นางสงวน ทิพย์ลม เกษตรกรในจังหวัดนครราชสีมา มีความโดดเด่นในหลากหลายด้าน ทั้งในความเป็นผู้นำเกษตรกรที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สามารถสร้างผลผลิตด้านหม่อนไหมตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำที่มีมาตรฐาน และสร้างรายได้ให้ครอบครัว ตลอดจนสมาชิกได้อย่างยั่งยืน จนได้รับคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมปี 2563 นี้
นางสงวน ทิพย์ลม ได้เรียนรู้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการทอผ้าตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กจากบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่น สมัยนั้นอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมยังเป็นเพียงรายได้เสริมที่ช่วยเลี้ยงครอบครัว รองจากการทำนา โดยการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการทอผ้าเป็นการทำงานแบบต่างคนต่างทำ วัสดุอุปกรณ์ใช้แบบดั้งเดิม ปริมาณน้ำในการปลูกหม่อนยังไม่เพียงพอ แต่ด้วยความรักในอาชีพแม่สงวนยังคงทำอาชีพนี้มาโดยตลอด จนปี พ.ศ. 2557 ได้มีการก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านคึมมะอุ-สวนหม่อน แม่สงวน ได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานกลุ่ม โดยมีสมาชิกจากบ้านคึมมะอุบ้านสวนหม่อนบ้านหนองผือ และบ้านหนองจาน เริ่มต้นจำนวน 134 ราย เพื่อเป็นกลุ่มในการจำหน่ายใบหม่อนและผ้าไหม
จากนั้น กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เข้ามาให้การสนับสนุนความรู้ในการทำหม่อนแปลงใหญ่ และระบบน้ำในแปลงหม่อน จึงทำให้มีผลผลิตของใบหม่อนมีมากขึ้น เพียงพอกับความต้องการเลี้ยงไหมตลอดทั้งปี และยังมีเพียงพอที่จะจำหน่ายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงที่เข้ามาขอซื้อใบหม่อนอยู่เป็นประจำ ทั้งนี้ เมื่อมีปริมาณใบหม่อนที่เพียงพอในการเลี้ยงไหม ทำให้มีปริมาณเส้นไหมที่ดี มีคุณภาพในการทอผ้า กรมหม่อนไหมจึงได้จัดอบรมเรื่องการฟอกย้อมสีธรรมชาติให้กับสมาชิกโดยการนำวัสดุในท้องถิ่นมาใช้ ช่วยลดต้นทุนการผลิตและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังพัฒนามาเป็นการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากใบหม่อนและเส้นไหม สร้างเป็นผลิตภัณฑ์ชาใบหม่อน สบู่โปรตีนไหม และแผ่นใยไหม ช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร และได้มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมกลุ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 170 ราย จนทำให้อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมถือเป็นอาชีพที่สร้างรายได้หลักให้แก่แม่สงวนและสมาชิกในกลุ่ม สามารถสร้างรายได้มากกว่า 130,000 บาทต่อปี
แม่สงวนประกอบอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นเวลา 36 ปี มีพื้นที่ปลูกหม่อนจำนวน 2 ไร่ โดยปลูกหม่อนพันธุ์สกลนคร จำนวน 1 ไร่ และพันธุ์บุรีรัมย์ 60 จำนวน 1 ไร่ ได้ผลผลิตใบหม่อน จำนวน 5,000 กิโลกรัมต่อปี เลี้ยงไหมพันธุ์เหลืองสระบุรี จำนวน 13 รุ่นต่อปี รุ่นละ 1 แผ่น ได้เส้นไหม จำนวน 45 กิโลกรัมต่อปี และเลี้ยงไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน จำนวน 7 รุ่นต่อปี รุ่นละ 1 แผ่น ได้เส้นไหม จำนวน 6 กิโลกรัมต่อปี ทั้งนี้ ในการปลูกหม่อนได้มีการดูแลรักษาแปลงหม่อนตามมาตรฐานมกษ.3500-2553 การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับหม่อนเพื่อผลิตใบโดยมีการวางแผนการตัดแต่งหม่อนเพื่อให้มีใบหม่อนเพียงพอสำหรับการเลี้ยงไหม และสำหรับจำหน่ายใบหม่อน ด้านการเลี้ยงไหม มีการเลี้ยงไหมตามหลักวิชาการตามคำแนะนำของกรมหม่อนไหมมีการนำเครื่องสาวไหม เครื่องตีเกลียว เครื่องลอกกาว และเครื่องเดินเส้นยืนมาใช้ ทำให้เส้นไหมมีคุณภาพมากขึ้น ช่วยทุ่นแรง และลดเวลาในแต่ละขั้นตอนได้เป็นอย่างดีด้านการทอผ้า ได้มีการทอผ้าลายโบราณที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นจากบรรพบุรุษ เช่น ผ้าไหมปาโด ผ้ายกดอก และผ้าไหมมัดหมี่เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าไหมแบบพื้นบ้าน โดยยังได้รับการรับรองมาตรฐานตรานกยูงพระราชทานสีทอง (Royal Thai Silk) และตรานกยูงพระราชทานสีเงิน (Classic Thai Silk) สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่ต้องการซื้อผ้าไหมอีกด้วย
แม่สงวน ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมด้วยความรัก ความภาคภูมิใจ ที่ต้องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ตลอดจนยังคงตั้งมั่นที่จะถ่ายทอดความรู้สู่รุ่นลูกรุ่นหลานให้มีอาชีพที่มั่นคง สร้างรายได้ สร้างความภาคภูมิใจต่อไป สำหรับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรหรือผู้สนใจเกี่ยวกับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไหมสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ แม่สงวน ทิพย์ลม กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านคึมมะอุ-สวนหม่อน โทร.08-0012-5848 หรือศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา โทร.044-214102