xs
xsm
sm
md
lg

“ธนาธร” โชว์ฐานผลิตอุปกรณ์การแพทย์แจก 12 รพ.ฟรี ไม่รู้ “บิ๊กตู่” ส่ง จม.ถึงแม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แกนนำก้าวหน้า เปิดโรงงานร่วมเอกชนผลิตอุปกรณ์การแพทย์บริจาค 11 ห้องตรวจโรคติดเชื้อ และ 18 อุปกรณ์ติดเสริมเตียง ให้ 12 โรงพยาบาลฟรี ชูถึงเวลาสังคมต้องร่วมมือกัน ใช้ต้นทุนไม่แพงเครื่องละ 6 แสนกว่าบาท เผยศิษย์เก่าวิศวะจุฬาฯ ติดต่อมาจึงประสานให้ ยันคุยกับ รพ.ตลอด ไม่รู้นายกฯ ส่งจดหมายถึงแม่ ฝากรัฐบาลอย่าให้ชาวบ้านอดตาย

วันนี้ (21 เม.ย.) ที่บริษัท จรูญรัตน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะแกนนำคณะก้าวหน้า ได้นำสื่อมวลชนมาเยี่ยมชมขั้นตอนการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อช่วยและอำนวยความสะดวกบุคลากรทางการแพทย์ในการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวม 2 รายการ ประกอบด้วย 1. Modular ARI Clinic ห้องตรวจโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลัน ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการแรงดันบวก สำหรับบุคคลากรทางการแพทย์ด้านหนึ่ง และห้องความดันลบสำหรับผู้เสี่ยงติด 2. Patient Transportation Chamber อุปกรณ์ติดเสริมเตียงเคลื่อนย้าย ด้วยระบบแรงดันลบ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ในระหว่างเคลื่อนย้ายจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง

ทั้งนี้ ได้ใช้ข้อมูลจากเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กเพจ Open Source Covid Thailand และคณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ที่เปิดให้สาธารณะผลิตและออกแบบ โดยมีบริษัทเอกชนที่ร่วมสนับสนุนในการผลิตได้แก่ บริษัท จรูญรัตน์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด และกลุ่มบริษัท โอ.อี.ไอ.พาร์ท จำกัด กลุ่มบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการอุตสาหกรรม ซึ่งอุปกรณ์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมของแต่ละโรงพยาบาล โดยมีเป้าหมายในการช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อในโรงพยาบาล และระหว่างเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อ เพิ่มความปลอดภัย ความมั่นใจ และเพิ่มขวัญกำลังใจให้แก่บุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง อุปกรณ์ดังกล่าวมีความแข็งแรง ติดตั้งถาวร รับรองการรักษาโรคอื่นๆ ที่ติดต่อในระบบทางเดินหายใจ เช่น วัณโรค เป็นต้น

โดยคณะก้าวหน้าและทีมผู้ผลิตจะส่งมอบ Modular ARI Clinic จำนวน 11 ชุด และ Patient Transportation Chamber จำนวน 18 ชุด ให้แก่โรงพยาบาลที่แสดงความประสงค์ต้องการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 24-26 เม.ย. และ 2-3 พ.ค.มี 12 โรงพยาบาลที่ร่วมโครงการ ประกอบด้วย โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี, โรงพยาบาลชลบุรี, โรงพยาบาลพุทรโสธร จ.ฉะเชิงเทรา, โรงพยาบาลสันทราย จ.เชียงใหม่, โรงพยาบาลสนามศูนย์โควิด-19 จ.เชียงใหม่ (ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่), โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต, โรงพยาบาลสนาม ม.อ.สงขลา วิทยาเขตภูเก็ต, โรงพยาบาลยะลา, โรงพยาบาลยะรัง จ.ปัตตานี, โรงพยาบาลสงขลา, โรงพยาบาลคลองหอยโข่ง จ.สงขลา และโรงพยาบาลกงหรา จ.พัทลุง

ด้านนายธนาธรให้สัมภาษณ์ว่า มันเป็นเวลาที่สังคมต้องร่วมมือกัน อย่างกรณีนี้มันก็เป็นเรื่องที่ชัดว่าพวกเราเอกชนคนละไม้คนละมือก็สามารถทำงานให้แก่สังคมได้ ถ้าเราจะทำเรื่องอย่างนี้ต้นทุนก็ไม่ได้แพงอะไรเครื่องหนึ่งก็ประมาณ 600,000 กว่าบาท ไม่รวมค่าแรงและกำไร ซึ่งบริษัทเอกชนก็สามารถร่วมกันได้ในความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของพวกเรา คนที่มาติดต่อพวกเราคือศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตนก็ติดต่อทางเครือข่ายที่รู้จัก รวมถึงทางบริษัท จรูญรัตน์ฯ มันเป็นเรื่องที่ช่วยกันได้ ในภาวะวิกฤตอย่างนี้เราช่วยกันได้ แสดงความเป็นน้ำหนึ่งเดียวกันให้แก่สังคม

เมื่อถามถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่งจดหมายถึง 20 มหาเศรษฐีไทยเพื่อขอความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยมีรายงานพบมีชื่อนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้บริหารเครือไทยซัมมิท มารดาของนายธนาธรอยู่ด้วย นายธนาธรกล่าวว่า ตนไม่ทราบ ไม่ได้ติดตาม ส่วนที่นางสมพรออกไปแจกเงินพร้อมอาหารแห้งให้ชาวบ้านก็เป็นเรื่องของนางสมพร แกไม่ได้ปรึกษาตนด้วย (หัวเราะ) อย่างที่ตนบอกไม่ว่าพวกเราจะอยู่ที่ไหนในสังคม เรารับผิดชอบต่อสังคมได้คนละไม้คนละมือ เราช่วยกันได้

“อย่างโปรเจกต์นี้คุยกับโรงพยาบาลเยอะมาก ผมไม่กล้าที่จะออกแบบเอง ไม่กล้าที่จะทำอะไรเองโดยที่ไม่ได้ปรึกษากับทางผู้ใช้ เพราะมันเป็นเรื่องของสาธารณสุขที่อาจจะต้องเกี่ยวข้องกับชีวิตของคน ดังนั้น ถ้าโรงพยาบาลไหนมีอะไรก็ติดต่อเรามาได้ ผมเชื่อว่าถ้ามานั่งคุยกันแล้วเราได้รับความต้องการจริงๆ เราก็สามารถช่วยในการออกแบบได้ ดังนั้น เราเปิดถ้ายังมีโรงพยาบาลไหนยังมีอุปกรณ์อะไรที่มากกว่านี้อีก เราก็เปิดที่จะศึกษาร่วมกัน ที่สำคัญที่สุดคือความต้องการของผู้ใช้ เราต้องเข้าใจความต้องการของผู้ใช้ให้ได้ว่า ความต้องการของผู้ใช้คืออะไร เพื่อที่จะออกแบบทางวิศวกรรมให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ให้ได้” นายธนาธรกล่าว

เมื่อถามถึงการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ของรัฐบาล แกนนำคณะก้าวหน้ากล่าวว่า ต้องรักษาสมดุลระหว่างการดำเนินการทางเศรษฐกิจกับการหยุดยั้งการแพร่ระบาด ถ้าหยุดยั้งด้วยมาตรการกึ่งเปิด-ปิดต่อไป ต้องเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบ ส่วนถ้าจะเริ่มเปิด เริ่มคลาย แล้วพอตัวเลขมันขึ้นอีกรอบก็กึ่งเปิดกึ่งปิดแล้วคลาย ซึ่งการคลายแต่ละรอบรัฐบาลต้องทำให้มั่นใจว่าด้านสาธารณสุขมีการเตรียมการที่ดีขึ้นมากกว่าเดิมทุกครั้ง ดังนั้น ล็อคคลายๆ ก็เป็นโมเดลหนึ่งที่สามารถทำได้ แต่ก็ฝากไปถึงรัฐบาล การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกึ่งเปิด-ปิด อย่าให้ประชาชนอดตาย เดือดร้อน








































กำลังโหลดความคิดเห็น