xs
xsm
sm
md
lg

“หมอยง” เผยการศึกษาในยุคโควิด-19 เกือบทั่วโลกต้องหยุดเรียน ชี้หาก นร.ติด เสี่ยงแพร่เชื้อคนในบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ โพสต์เผยถึงการศึกษาในยุคเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดทั่วโลก ร้อยละ 98.5 ของโลกที่ต้องหยุดเรียน ชี้หากนักเรียนและนักศึกษาติด มีความเสี่ยงนำโรคไปติดคนในบ้านโดยเฉพาะปู่ย่าตายายได้ ผลกระทบก็จะเกิดขึ้น

วันนี้ (8 พ.ค.) เฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan” หรือ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความถึงการศึกษาในยุค เชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดทั่วโลก โดยระบุว่า “การเรียนการสอนในยุคโควิด-19 ประมาณการณ์กันว่านักเรียนและนักศึกษาถึงร้อยละ 98.5 ของโลกที่ต้องหยุดเรียน รวมทั้งประเทศไทยด้วย ขณะนี้ยังประกาศหยุดการเรียนการสอนแบบปกติ และจะมีการกำหนดการเปิดเทอมในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ การกำหนดกฎเกณฑ์การไปโรงเรียน การเรียนการสอนจะต้องเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ในเด็กเมื่อติดโควิด-19 อาการจะน้อยมาก หรือไม่มีอาการ แต่สามารถนำโรคไปติดคนในบ้านโดยเฉพาะปู่ ย่า ตา ยายได้ ผลกระทบก็จะเกิดขึ้น

มาตรการในการเรียนการสอน ครู นักเรียนและผู้ปกครองในระบบวิถีชีวิตใหม่จะต้องเปลี่ยนไปและจะต้องปรับตัวให้ได้ ในปีนี้การไปโรงเรียนจะต้องน้อยลง การเรียนทางไกลจะต้องมากขึ้น การเรียนการสอนจะเปลี่ยนเป็นแบบเรียนที่บ้าน ทำการบ้านที่โรงเรียน นักเรียนจะต้องมีการสลับกันไปโรงเรียน มีภาคเช้า ภาคบ่าย การสลับวันไปโรงเรียน เพื่อลดจำนวนนักเรียนในชั้นเรียน ในเด็กโตการเรียนออนไลน์ ต่อไปจะถือเป็นเรื่องปกติที่มีการเปลี่ยนแปลงเข้ามาเร็วกว่าปกติ ในเด็กประถมและมัธยมต้นจะปรับเปลี่ยนเป็นการเรียนทางไกล ปัญหาจะอยู่ที่เด็กอนุบาล ในอดีตที่ผ่านมาพ่อแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านจะส่งลูกไปโรงเรียน และวันไหนลูกไม่ไปโรงเรียน พ่อแม่ก็จะเอาไปที่ทำงาน ต่อไปนี้ก็คงจะทำแบบนี้ไม่ได้ จะต้องมีการปรับกระบวนการเรียนการสอน ให้มีการพึ่งตัวเองมากขึ้น และมีการเรียนที่บ้านมากขึ้น

การปรับเปลี่ยนนี้คงไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น จะเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก เพื่อลดการระบาดของโรค จนกว่าจะมีมาตรการในการควบคุมโรคมีประสิทธิผลมากกว่าปัจจุบัน ในปีนี้การประชุมวิชาการต่างๆ ได้ถูกงดหมด ผมเองได้จัดสัมมนาบรรยายทางวิชาการที่เรียกว่า WEBINAR ประสบผลสำเร็จมาก และมีต้นทุนที่ต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดบรรยายทางวิชาการ ในการประชุม เช่น การประชุมของราชวิทยาลัย สมาคมทางการแพทย์ต่างๆ การบรรยายเสวนาสามารถถูกบันทึกไว้ ให้ผู้เข้ามาเรียนนักศึกษาการกำหนดเวลาที่เรากำหนดได้อุปสรรคที่จะต้องหาทางออกในเรื่องของการเรียนภาคปฏิบัติ การทำงานเป็นกลุ่ม จะต้องหาวิธีการที่เหมาะสมในแต่ละชนิดของวิชาชีพ”




กำลังโหลดความคิดเห็น