ทีมข่าวโซเชียลมีเดีย MGR Online ... รายงาน
การเสียชีวิตของ รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในวัย 81 ปี นับเป็นความสูญเสียของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ที่เคยมีบทบาทสำคัญในช่วงวิกฤตการณ์การเมืองของไทย ที่กินระยะเวลามากว่า 15 ปี
อ่านประกอบ : สิ้นตำนานแข้งช้างศึก! “อัษฎางค์ ปาณิกบุตร” วัย 81 ปี
แม้ความเห็นที่ออกมาในแต่ละช่วงเหตุการณ์จะมีทั้งถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง แต่ก็เป็นเสียงสะท้อนที่ตรงไปตรงมา โดยอิงจากสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่เลือกข้าง ไม่สุดโต่ง หรือถือธงฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์คนอื่นๆ
อีกทั้งยังมีลูกศิษย์ลูกหาหลายวงการ ตั้งแต่แวดวงการเมือง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แม้กระทั่งกีฬาฟุตบอล ในฐานะที่เคยเป็นอดีตนักกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทย และคณะกรรมการบริหารทีมฟุตบอลชาติไทย
จากคำบอกเล่าของ นายเชื้อ ฮั่นจินดา ประธานสมาพันธ์ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งประเทศไทย ระบุว่า ทราบจากครอบครัว ว่า เมื่อเช้าวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา รศ.อัษฎางค์ มีอาการหัวใจวาย จากนั้นได้ล้มในห้องน้ำขณะอาบน้ำ
ซึ่งในวันนั้น รศ.อัษฎางค์ มีกำหนดที่จะเดินทางไปทำหน้าที่ประธานการประชุม อนุกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.) ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ถนนนครราชสีมา เขตดุสิต กรุงเทพฯ
หากย้อนไปในเส้นทางชีวิตของ รศ.อัษฎางค์ ในช่วงระยะเวลา 81 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีที่มาที่ไปอย่างน่าสนใจ เพราะก่อนที่จะเป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เขาเคยเป็นนักกีฬาฟุตบอลในระดับที่เรียกว่าติดทีมชาติไทยเลยทีเดียว
รศ.อัษฎางค์ เกิดเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2482 เป็นชาวชุมชนบริเวณสนามศุภชลาศัย เริ่มเล่นฟุตบอลจากกระดาษขยุ้มก้อนเมื่ออายุ 8 ขวบ เรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดช่างแสง (หรือโรงเรียนวัดชัยมงคล ใกล้สี่แยกเจริญผล เขตปทุมวัน ในปัจจุบัน)
ก่อนที่จะสอบเข้าโรงเรียนเทพศิรินทร์ กระทั่งเรียนถึงชั้น ม.8 ได้รับการชักชวนให้ไปเล่นกับทีมช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ลงแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ข. ก่อนจะย้ายไปเล่นให้กับทีมศิษย์เก่าเทพศิรินทร์
ศึกษาต่อที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมกับลงเล่นฟุตบอลถ้วย ก. ให้กับธนาคารกรุงเทพ ก่อนที่จะติดทีมชาติไทยในปี 2504 เป็นเจ้าของเสื้อทีมชาติหมายเลข 4 กับตำแหน่งกองกลาง เจ้าของฉายา “จิ้งเหลนไฟ”
สมัยนั้นเรียกติดปากกันว่า “สุพจน์ฮาล์ฟซ้าย - อัษฎางค์ฮาล์ฟขวา” เนื่องจากมีเพื่อนคู่หูสมัยเรียนเทพศิรินทร์ที่ชื่อ “สุพจน์ พานิช” เล่นในตำแหน่งกองหลัง
อย่างไรก็ตาม รศ.อัษฎางค์ ได้ตัดสินใจย้ายมาศึกษาต่อในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรรมศาสตร์ พร้อมทำงานให้กับธนาคารออมสิน และเตะฟุตบอลในฐานะนักกีฬาทีมชาติไทย
กระทั่งในปี 2510 เขาได้ตัดสินใจแขวนสตั๊ดเมื่ออายุ 28 ปี ไปศึกษาต่อปริญญาโท อาชญวิทยา มหาวิทยาลัยลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ตามคำชักชวนของรุ่นน้อง เนื่องจากเห็นว่าอายุมากแล้ว และตั้งใจว่าอยากเป็นตำรวจ
นอกจากนี้ ได้เรียนประกาศนียบัตรสงครามจิตวิทยารุ่นที่ 21 และได้รับทุนไปเรียน SOCIALISM THEORY AND PRACTICE UNIVERSITY OF BELGRADE, YUGOSLAVIA จนได้ประกาศนียบัตร
และได้ไปดูงานด้านบริหารที่ญี่ปุ่น โดยรับทุนจาก ไจกา ได้ประกาศนียบัตร JAPAN DEMOCRATIC POLITICAL AND ADMINISTRATIVE SYSTEM นอกจากนั้น ยังมีประกาศนียบัตรในหน่วยงานราชการอื่นๆ อีกด้วย
หลังจบปริญญาโท สมัครเป็นอาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สอนวิชาอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา กระทั่งในปี 2516 ได้จัดตั้งคณะรัฐศาสตร์แยกมาต่างหาก โดยมี ดร.จิรโชค วีระสย เป็นผู้ก่อตั้งและคณบดีคนแรก
อ่านประกอบ : “อาจารย์ป๋า-ดร.จิรโชค วีระสย” ผู้ก่อตั้งคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง เสียชีวิต รวมอายุได้ 83 ปี
เข้าดำรงตำแหน่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นคณบดีคนที่ 5 ตั้งแต่ 6 พ.ค. 2528 ถึง 7 มิ.ย. 2530 ก่อนส่งต่อให้ รศ.วิทยา นภาศิริกุลกิจ เป็นคณบดีคนต่อมา
รศ.อัษฎางค์ เคยเป็นประธานสภาอาจารย์ กรรมการสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ และยังเคยรักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในช่วงที่มีการเลือกตั้งอธิการบดี และตำแหน่งต่างๆ อีกหลายตำแหน่ง
ยังเคยเป็นผู้ชำนาญการในคณะกรรมาธิการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร, คณะกรรมการปฏิรูปทางการเมือง ในสมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา เมื่อปี 2538 คณะกรรมการประปานครหลวง ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เมื่อปี 2540 เป็นต้น
เส้นทางการเมือง รศ.อัษฎางค์ เคยเป็นสมาชิกพรรคนำไทย และลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อปี 2539 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง กระทั่งมีการสรรหา กกต. แทนตำแหน่งที่ว่างลงเมื่อปี 2543 นายอัษฎางค์ ไม่ได้รับเลือก เพราะลาออกจากสมาชิกพรรคไม่ถึง 5 ปี
ในยุคที่ นายวิจิตร เกตุแก้ว เป็นนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการบริหารทีมฟุตบอลชาติไทย
แต่เมื่อบทบาทและอำนาจคณะกรรมการบริหารทีมฟุตบอลชาติไทย ไม่ได้เป็นไปตามแนวทางที่ถูกกำหนดไว้ โครงการต่างๆ ที่ได้เตรียมการกันไว้ไม่เคยได้รับการสนองตอบ และไม่เคยมีการปฏิบัติเป็นรูปธรรม จึงได้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อปี 2545
ถึงกระนั้น รศ.อัษฎางค์ ติด 1 ใน 11 นักเตะทรงคุณค่าในรอบ 100 ปี พร้อมกับ นพ.บุญสม มาร์ติน, ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน, วิชิต แย้มบุญเรือง, วิทยา เลาหกุล โดยนักเตะที่ได้รับคะแนนเต็มสิบ คือ อัศวิน ธงอินเนตร อดีตนายทวารเจ้าของดาราเอเชีย
แม้จะเกษียณอายุราชการมากว่า 20 ปี แต่ รศ.อัษฎางค์ มักจะได้รับเชิญให้แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมืองผ่านหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อโทรทัศน์อย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งการแก้ปัญหาโควิด-19 ในปัจจุบัน
สำหรับกำหนดการสวดพระอภิธรรมศพ รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร จะมีขึ้นที่วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต ถนนวัชรพล แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 8-11 พ.ค. 2563 เวลา 18.00 น. และจะมีพิธีฌาปนกิจในวันที่ 12 พ.ค. 2563 เวลา 16.00 น.