วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๓ นี้ จะเป็นครั้งแรกในรอบ ๖๙ ปี ที่จะมีพระราชพิธีฉลองพระมหาเศวตฉัตรเนื่องในวันฉัตรมงคล และเป็นวันหยุดราชการด้วย แต่ก่อนเราจะถือว่าวันที่ ๕ พฤษภาคม เป็นวันฉัตรมงคล
ทั้งนี้ ฉัตรมงคล มีความหมายว่า พระราชพิธีฉลองพระมหาเศวตฉัตร ซึ่งจะทำในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษก
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ พระราชพิธีฉัตรมงคลจัดขึ้นทุกวันที่ ๕ พฤษภาคม เพราะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ พระราชพิธีฉัตรมงคลจะจัดขึ้นทุกวันที่ ๔ พฤษภาคม เพราะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
วันฉัตรมงคล เป็นวันที่ระลึกในการครบรอบปี ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับพระบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ คำนำหน้าพระนามจะเปลี่ยนจาก “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เป็น “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และคำสั่งของพระองค์จะเปลี่ยนจาก “พระราชโองการ” เป็น “พระบรมราชโองการ” ส่วนพระเศวตฉัตรก็จะเปลี่ยนจาก “พระสัปตปฎลเศวตฉัตร” มี ๗ ชั้น เป็น “พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร” มี ๙ ชั้น
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีมาตั้งแต่ พ่อขุนบางกลางหาว ได้อภิเษกขึ้นเป็น พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์พระร่วง แห่งกรุงสุโขทัย แต่ พระราชพิธีฉัตรมงคล เพิ่งจะเริ่มขึ้นในรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ตามธรรมเนียมแต่ก่อน เมื่อถึงวันบรมราชาภิเษกในรอบปี เจ้าพนักงานฝ่ายหน้าฝ่ายในซึ่งมีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภค รวมทั้งมีหน้าที่รักษาพระทวารและประตูวัง ก็จะทำการสมโภชเครื่องราชูปโภคและตำแหน่งที่ตนรักษา โดยฝ่ายหน้าจะทำบุญเลี้ยงพระ ฝ่ายในก็จะมีเครื่องสังเวยแล้วร้อยดอกไม้เป็นอุบะมาลัยแขวน แต่ก็เป็นเจ้าพนักงานทำกันเอง ไม่เกี่ยวกับงานหลวง
ครั้นมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า วันบรมราชาภิเษกนั้นเป็นวันมหามงคล ควรจะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ จึงทรงพระราชดำริจัดการพระราชกุศล ซึ่งพระราชทานชื่อว่า “ฉัตรมงคล” นี้ขึ้น
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ นอกจากพระราชพิธีฉัตรมงคลจะทำตามอย่างที่รัชกาลที่ ๔ ทรงวางไว้ทุกอย่างแล้ว ยังเพิ่มให้อาลักษณ์อ่านคำประกาศเป็นกลอนลิลิต แสดงพระราชดำริเรื่องพิธี ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระมหาเศวตฉัตรและเครื่องราชกกุธภัณฑ์พร้อมพระแสงประจำแผ่นดิน พราหมณ์รดน้ำสังข์จุณเจิม โหรผูกผ้าสีชมพูที่พระมหาเศวตฉัตร ทหารบกทหารเรือยิงสลุตตำบลละ ๑๐๑ นัด และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ผู้สมควรได้รับ
สำหรับพระราชพิธีฉัตรมงคลในวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๓ นี้ อยู่ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค โตวิด ๑๙ พอดี รัฐบาลจึงจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับมาตรการต่างๆ โดยจะไม่มีการจัดงานพระราชพิธีหรือกิจกรรมใดๆ
มีแต่การถวายพระพรชัยมงคล โดยนายกรัฐมนตรีและภริยา พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ในนามข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน และราษฎรทุกหมู่เหล่า ประธานรัฐสภา ในนามสมาชิกรัฐสภา และประธานศาลฎีกาในนามข้าราชการตุลาการ จะบันทึกเทปถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันฉัตรมงคล นำเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง ในวันจันทร์ที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ในช่วงข่าวพระราชสำนัก
ทั้งจัดทำสารคดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันฉัตรมงคล จำนวน ๓ ตอน ความยาวตอนละ ๓ นาที เผยแพร่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง ในวันที่ ๒-๔ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ในช่วงข่าวพระราชสำนัก
ส่วนหน่วยงานต่างๆสามารถตกแต่งสถานที่และประดับธงตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ รวมทั้งตั้งโต๊ะหมู่บูชาประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมเครื่องราชสักการะและจัดให้มีสมุดลงนามถวายพระพรไว้ในสถานที่ตั้ง
หรือจัดทำคำถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันฉัตรมงคล ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๓ พร้อมพระบรมฉายาลักษณ์ ลงบนหน้าหลักของเว็บไซต์ของหน่วยงาน รวมทั้งนำภาพการจัดพิธีถวายพระพรชัยมงคลและภาพผลงานของหน่วยงานที่ได้ดำเนินการเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ ลงในเว็บไซต์ของหน่วยงาน
ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพุทธศักราช ๒๕๖๒ ประกอบด้วยอักษรพระปรมาภิไธย วปร อยู่ตรงกลาง พื้นอักษรสีขาวขอบเดินทอง อันเป็นสีของวันจันทร์ซึ่งเป็นวันพระบรมราชสมภพ ภายในอักษรประดับเพชร ตามความหมายแห่งพระนามมหาวชิราลงกรณ อักษร วปร อยู่บนพื้นสีขาบ (สีน้ำเงินเข้ม) อันเป็นสีของขัตติยกษัตริย์ ภายในกรอบพุ่มข้าวบิณฑ์สีทองสอดสีเขียว อันเป็นสีซึ่งเป็นเดชแห่งวันพระบรมราชสมภพ กรอบทรงพุ่มข้าวบิณฑ์อัญเชิญมาจากกรอบที่ประดิษฐานพระมหาอุณาโลม อันเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ แวดล้อมด้วยเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ อันเป็นเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราช ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎพร้อมอุณาโลมประกอบเลขมหามงคลประจำรัชกาล อยู่เบื้องบน พระแสงขรรค์ชัยศรีกับพระแส้จามรี ทอดไขว้อยู่เบื้องขวา ธารพระกรกับพัดวาลวิชนี ทอดไขว้อยู่เบื้องซ้าย และฉลองพระบาทเชิงงอน อยู่เบื้องล่าง พระมหาพิชัยมงกุฎหมายถึงทรงรับพระราชภาระอันหนักยิ่งของแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน พระขรรค์ชัยศรีหมายถึงทรงรับพระราชภาระปกป้องแผ่นดินให้พ้นจากภยันตราย ธารพระกรหมายถึงทรงดำรงราชธรรมเพื่อค้ำจุนบ้านเมืองให้ผาสุกมั่นคง พระแส้จามรีกับพัดวาลวิชนีหมายถึงทรงขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากเดือดร้อนของอาณาประชาราฎร์ ฉลองพระบาทเชิงงอนหมายถึงทรงทำนุบำรุงปวงประชาทั่วรัฐสีมาอาณาจักร เบื้องหลังพระมหาพิชัยมงกุฎประดิษฐานพระมหาเศวตฉัตรอันมีระบายขลิบทอง จงกลยอดฉัตรประกอบรูปพรหมพักตร์อันวิเศษสุด ระบายชั้นล่างสุดห้อยอุบะจำปาทอง แสดงถึงพระบารมีและพระบรมเดชานุภาพที่ปกแผ่ไปทั่วทิศานุทิศ เบื้องล่างกรอบอักษรพระปรมาภิไธยมีแถบแพรพื้นสีเขียวถนิมทอง ขอบขลิบทอง มีอักษรสีทองความว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒” ปลายแถบแพรเบื้องขวามีรูปคชสีห์กายม่วงอ่อนประคองฉัตร ๗ ชั้น หมายถึงข้าราชการฝ่ายทหาร เบื้องซ้ายมีรูปราชสีห์กายขาวประคองฉัตร ๗ ชั้น หมายถึงข้าราชการฝ่ายพลเรือน ผู้ปฏิบัติราชการสนองงานแผ่นดินอยู่ด้วยกัน ข้างคันฉัตรด้านในทั้งสองข้างมีดอกลอยกนกนาค แสดงถึงปีมะโรงนักษัตรอันเป็นปีพระบรมราชสมภพ สีทองหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองยิ่งของประเทศชาติและประชาชน
นี่ก็เป็นอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ ที่งานพระราชพิธีก็ต้องกระทบกระเทือนไปด้วย จากการเกิดโรคระบาดไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ซึ่งกระเทือนไปทั้งโลก การพระราชพิธีสำคัญครั้งนี้จึงได้จัดให้เหมาะสมกับสถานการณ์