xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจได้วันละ 1,400 คน! จุฬาฯ โชว์เครื่องตรวจโควิด-19 อัตโนมัติ รู้ผลเร็ว แม่นยำถึง 99%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เผยเครื่องตรวจ COVID-19 อัตโนมัติเครื่องแรกในประเทศไทย ตอบโจทย์การแก้ปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในไทยได้เป็นอย่างดี สามารถยืนยันผลการติดเชื้อได้ถึง 99% เน้นตรวจคนไข้ได้ในปริมาณที่มากขึ้น รู้ผลได้เร็วขึ้น ช่วยป้องกันไม่ให้บุคคลเหล่านั้นไปแพร่เชื้ออีก

วันนี้ (3 เม.ย.) ผศ.ดร.นพ.ปกรัฐ หังสสูต หน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยถึงเครื่องตรวจ COVID-19 อัตโนมัติเครื่องแรกในประเทศไทย ซึ่งให้บริการแก่ประชาชนในการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จุดเด่นของเครื่องมือนี้ คือ เป็นระบบอัตโนมัติ ไม่ต้องใช้คนเข้าไปเกี่ยวข้องมากนัก จึงมีความปลอดภัย สามารถป้องกันคนของเราไม่ให้ติดเชื้อ ช่วยลดความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงานได้ค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ยังสามารถยืนยันผลการติดเชื้อได้ถึง 99% เครื่องนี้ได้รับการอนุมัติมาตรฐานจาก อย.ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้ทำการทดสอบกับวิธีการตรวจแบบมาตรฐานของประเทศไทยแล้ว พบว่า ได้ผลสอดคล้องกัน เครื่องนี้ยังสามารถตรวจได้มากถึง 1,440 ตัวอย่างต่อวัน สามารถรู้ผลได้เร็วภายใน 3-5 ชั่วโมง สำหรับการทำงานในช่วงแรก หลังจากนั้น สามารถรู้ผลการตรวจภายในเวลาเพียงแค่ 90 นาที


ผศ.ดร.นพ.ปกรัฐ กล่าวว่าการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ด้วยเครื่องมือนี้ เป็นการตรวจจากน้ำที่ป้ายจากลำคอของคนไข้ที่มารับบริการตรวจที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หรือโรงพยาบาลอื่น เมื่อทางโรงพยาบาลได้รับตัวอย่างของสารที่จะทำการตรวจแล้ว นักวิทยาศาสตร์จะแบ่งตัวอย่างมาใส่ในหลอดเพื่อนำไปใส่ในเครื่องดังกล่าว ซึ่งจะทำงานตามโปรแกรมที่ตั้งไว้ ตั้งแต่การสกัดสารพันธุกรรมของไวรัส นำมาเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรม และตรวจสอบว่ามีสารพันธุกรรมนั้นๆ หรือไม่ ผลการตรวจสามารถดูได้จากภายนอกห้องตรวจ ซึ่งเป็นการทำงานแบบอัตโนมัติ ไม่มีคนเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงมีความปลอดภัยสำหรับผู้ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล


ปัจจุบันเครื่องตรวจเชื้อ COVID-19 ได้ให้บริการแก่คนไข้ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลเอกชนไปแล้วกว่า 300 ตัวอย่าง แต่ยังไม่ได้เปิดรับการตรวจที่โรงพยาบาลในต่างจังหวัด เพราะเราต้องการให้ทีมแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องเรียนรู้กับการทำงานของเครื่องมือนี้ให้มีการใช้งานที่คล่องตัว จากนั้นจะสามารถให้บริการได้อย่างเต็มที่ ซึ่งสามารถรับได้ 1,440 ตัวอย่างต่อวัน ผู้ที่จะมารับบริการไม่จำเป็นต้องมาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านสถานที่ซึ่งรองรับได้ไม่เกิน 200 คนต่อวันเท่านั้น คนไข้สามารถไปตรวจที่โรงพยาบาลอื่นๆ แล้วส่งตัวอย่างมาตรวจได้ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ได้


ทั้งนี้ เครื่องตรวจ COVID-19 อัตโนมัติที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีมูลค่า 15 ล้านบาท ซึ่งได้รับการบริจาคจาก คุณสราวุฒิ อยู่วิทยา และภรรยา จากกลุ่มธุรกิจ TCP

“เครื่องตรวจ COVID-19 อัตโนมัติสามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในบ้านเราได้เป็นอย่างดี ถ้าเราสามารถตรวจคนไข้ได้ในปริมาณที่มากขึ้น รู้ผลได้เร็วขึ้นก็น่าจะช่วยป้องกันไม่ให้บุคคลเหล่านั้นไปแพร่เชื้อให้คนอื่นต่อไป” ผศ.ดร.นพ.ปกรัฐ กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น