xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวบิดเบือน! รวมรายชื่อสมุนไพรไทย เพิ่มภูมิต้านทาน และมีฤทธิ์ป้องกัน COVID-19 จากสธ.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากที่มีรวมรายชื่อสมุนไพรไทย เพิ่มภูมิต้านทาน และมีฤทธิ์ป้องกัน COVID-19 โดยอ้างอิงข้อมูลจากสธ. ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกให้ข้อมูลว่า “มีเนื้อหาที่คลาดเคลื่อน” การเลือกรับประทานผัก ผลไม้ สมุนไพร เป็นการดูแลตัวเองเบื้องต้น และเสริมภูมิคุ้มกัน แต่บางชนิดจะยังไม่มีรายงานการศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านโรค COVID-19

วันนี้ (1 เม.ย.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง รวมรายชื่อสมุนไพรไทย เพิ่มภูมิต้านทาน และมีฤทธิ์ป้องกัน COVID-19 จากสธ. ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน

จากกรณีที่มีการรวมรายชื่อสมุนไพรไทย เพิ่มภูมิต้านทาน และมีฤทธิ์ป้องกัน COVID-19 ได้ โดยอ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขนั้น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้ให้ข้อมูลว่า “มีเนื้อหาที่คลาดเคลื่อนจากต้นฉบับ” และอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่ง ซึ่งข้อเท็จจริงคือ “กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำผัก ผลไม้ สมุนไพร 3 กลุ่ม” ได้แก่

1. กลุ่มเสริมภูมิคุ้มกัน มีพืชผักพื้นบ้านหลายชนิดที่แม้จะไม่มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่ COVID-19 แต่พบว่ามีรายงานว่ามีเกี่ยวกับการยับยั้งการติดเชื้อไวรัสก่อโรค ฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และต้านการอักเสบได้ดี ได้แก่ พลูคาว(ผักคาวตอง) เห็ดต่าง ๆ ตรีผลา ขิง ข่า กระเทียม

2. กลุ่มผัก ผลไม้ที่มีวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระสูง

2.1 ผักที่มีวิตามินซีสูง มีรายงานการศึกษาที่พบว่าผัก 10 ชนิดที่มีวิตามินซีสูง สามารถช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านการติดเชื้อไวรัสได้ ได้แก่ ดอกขี้เหล็ก ยอดมะยม ใบเหลียง ฟักข้าว คะน้า ยอดสะเดา มะระขี้นก ผักเชียงดา มะรุม ผักแพรว

2.2 ผลไม้ที่มีวิตามินซีและสารในกลุ่มไบโอเฟลโวนอยด์สูง ได้แก่ มะขามป้อม ผลไม้มีสีต่าง ๆ

3. กลุ่มที่มีสารสำคัญที่มีศักยภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 จากรายงานการศึกษาภาพจำลองโครงสร้าง 3 มิติ (molecular docking) ได้แก่ พลูคาว (ผักคาวตอง) ผลไม้ตระกูลส้ม (ส้ม มะนาว มะกรูด ส้มซ่า) หอมแดง มะรุม หม่อน ขมิ้นชัน กะเพรา ธัญพืช

ซึ่งประชาชนสามารถเลือกรับประทานผัก ผลไม้ สมุนไพรดังกล่าว เป็นการดูแลตัวเองเบื้องต้น เพื่อการดูแลสุขภาพและเสริมภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพืชผักต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น แม้บางชนิดจะยังไม่มีรายงานการศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านเชื้ออุบัติใหม่ที่ก่อโรค COVID-19 แต่ต่างเป็นพืชผักพื้นถิ่นที่หาได้ง่าย และมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ควรส่งเสริมให้มีการบริโภคเพื่อป้องกันตนเองไม่ให้เกิดการเจ็บป่วย ที่สำคัญอย่างยิ่งต้องป้องกันตนเองให้ห่างไกล COVID-19 ด้วยการ “ล้างมือ กินร้อน ใช้ช้อนของตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัย และเน้นหลัก Social Distancing” เป็นวิธีการที่สำคัญ

ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกโดยตรง สามาถติดตามที่เว็บไซต์ www.dtam.moph.go.th หรือโทร 02 5917007


กำลังโหลดความคิดเห็น