จากกรณีที่มีการโพสต์พร้อมข้อความ “จำไว้ให้ขึ้นใจ ห้ามใช้ไฟฉายจากโทรศัพท์มือถือส่องเบรกเกอร์ไฟ หรือคัตเอาต์ไฟที่มีไฟฟ้าแรงสูง ตลอดจนถังเชื้อเพลิงและถังแก๊ส เพราะ จะทำให้เกิดการระเบิดได้” ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง สามารถใช้ไฟฉายจากโทรศัพท์มือถือส่องเบรกเกอร์คัตเอาต์ได้และไม่ทำให้ระเบิด
วันนี้ (25 มี.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีข่าวปรากฎในสื่อออนไลน์ต่างๆ ในประเด็นเรื่อง เตือน! ไฟฉายมือถือส่องเบรกเกอร์คัตเอาต์ทำให้ระเบิด ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากกรณีที่มีการโพสต์พร้อมข้อความ “จำไว้ให้ขึ้นใจ ห้ามใช้ไฟฉายจากโทรศัพท์มือถือส่องเบรกเกอร์ไฟ หรือคัตเอาต์ไฟที่มีไฟฟ้าแรงสูง ตลอดจนถังเชื้อเพลิงและถังแก๊ส เพราะ จะทำให้เกิดการระเบิดได้” ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง สามารถใช้ไฟฉายจากโทรศัพท์มือถือส่องเบรกเกอร์คัตเอาต์ได้และไม่ทำให้ระเบิด เนื่องจาก
1. ตู้ไฟฟ้าตามบ้านเป็นไฟฟ้าแรงต่ำ ทำอันตรายถ้าสัมผัส ดังนั้นหากเผอิญมีไฟรั่ว แล้วนำโทรศัพท์มือถือที่เป็นโลหะไปแตะ อาจถูกไฟช็อตได้ตามกลไกปกติ ไม่ว่าจะเปิดไฟฉายบนโทรศัพท์มือถือหรือไม่
2. ไฟฟ้าแรงสูง เช่น สายไฟตามเสาไฟฟ้าแรงสูง ทำอันตรายได้แม้ไม่ต้องสัมผัส ดังนั้น ควรทิ้งระยะห่าง 2-3 เมตร เพราะเข้าใกล้ก็อันตรายได้ โดยไม่ต้องใช้ไฟฉายโทรศัพท์มือถือ
3. ถังเชื้อเพลิงและถังแก๊ส ไม่ได้ถูกจุดระเบิดด้วยไฟฉายจากโทรศัพท์มือถือ แต่ถ้าเชื้อเพลิงรั่ว และโทรศัพท์มือถือ (หรืออุปกรณ์ไฟฟ้า) ชำรุด จนเกิดประกายไฟ อาจมีอันตรายตามกลไกวัตถุไวไฟปกติ ไม่เกี่ยวกับไฟฉายบนโทรศัพท์มือถือ
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ