xs
xsm
sm
md
lg

สลด! หนูน้อยวัย 6 เดือน ท้องเสีย พาไป รพ.โดนหมอจับฉีดยาหลายชนิด เสียชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เผยภาพสลด หนูน้อยวัยเพียง 6 เดือน มีอาการปวดท้อง โดยผู้ปกครองได้พาไปรักษาตัวโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดนครพนม ซึ่งหมอได้จับมัดขาสองข้างพร้อมกัน เพื่อหาเส้น และจากนั้นฉีดยาให้หลายชนิด จนเสียชีวิตในที่สุด ล่าสุด โรงพยาบาลออกมาชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นแล้ว

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Kinnaphat Prompakdee” เผยภาพสุดสลดของหนูน้อยวัยเพียง 6 เดือน เสียชีวิตลงซึ่งแพทย์ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดนครพนม ได้จับมัดขาสองข้างพร้อมกันเพื่อหาเส้น และฉีดยา ผู้โพสต์เล่าว่า “RIP. นะไอ้ตัวเล็ก ไปสู่สุคตินะ 6 เดือน อีก 5 วัน ครบ 7 เดือน เห้อ...ทำไมมีแต่เรื่องเศร้าๆ หมอ...ไร คนไม่ได้เป็นไข้ฉีดยาซะตัวพรุน เด็ก 6 เดือน ท้องเสียนะเว้ย ไม่ได้เป็นไข้โควิด-19 จับมัดขาสองข้างพร้อมกัน เพื่อหาเส้น ฉีดยาให้ไม่รู้กี่อย่าง #RIP. โรงพยาบาล... เสียใจทำอะไรไม่ได้ เด็กตายตายังไม่หลับเลย”

ทั้งนี้ เรื่องราวดังกล่าวได้เผยแพร่สู่โลกออนไลน์ มียอดแชร์กว่า 14,000 ครั้ง มีชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาแสดงความเสียใจ และวิพากษ์วิจารณ์ไปยังแพทย์ที่ดูและเคสนี้ โดยทางโรงพยาบาลควรออกมารับผิดชอบ หรือชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้น

ล่าสุด วันนี้ (10 มี.ค.) เพจ “เรื่องเล่าจากโรงหมอ” ออกมาชี้แจงจากทีมโรงพยาบาลดังนี้ ระบุว่า “สรุป timeline ผู้ป่วยเด็ก มาด้วยไข้สูง 4 วัน ถ่ายเหลววันละ 5-6 ครั้ง อาเจียนวันละมากกว่า 10 ครั้ง วันที่ 2 ญาติพาไปรักษาที่คลินิก เด็กมีอาการซึมลง 1 วันก่อนมา รพ. ช่วงบ่ายเด็กมีเกร็งตาค้าง มาถึง ER 16.45 น. มีอาการไข้สูง 40 องศา เกร็งตาค้าง เขียว ทีมแพทย์และพยาบาลได้พยายามดูแลรักษา นำผู้ป่วยไปดูแล resuscitation ได้ใส่ท่อช่วยหายใจ ระหว่างนั้นเจาะน้ำตาล พบว่า น้ำตาลในเลือดต่ำมาก พยายามเปิดเส้นเลือด เพื่อให้น้ำเกลือ แต่เปิดไม่ได้ เนื่องจากเส้นเลือดหดตัวไปหมด (shock) ในเวลาเดียวกันผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นได้เริ่มการทำ CPR พร้อมๆ กับการให้สารน้ำทางกระดูก (intraosseous infusion) ต้องเปิดทั้ง 2 ขา เนื่องจากด้านหนึ่งไม่สามารถให้ต่อเนื่องได้

ทีมของเราพยายามดูแลผู้ป่วยอย่างสุดความสามารถ ใช้เวลา CPR รวม 45 นาที ทางทีมรู้สึกเสียใจในความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก และขอใช้โอกาสนี้ให้ข้อมูลที่อาจเป็นประโยชน์แก่ประชาชนต่อไป ว่า หากผู้ป่วยมีอาการไข้สูงเกิน 2-3 วัน, มีอาการเปลี่ยนแปลงแย่ลงเช่น ซึมลง กระสับกระส่าย กินไม่ได้ ชักเกร็ง ปัสสาวะออกน้อยลง ควรรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ที่ รพ. เพื่อประเมินและรักษา และหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น ซึม ชัก สามารถแจ้ง 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือได้”








กำลังโหลดความคิดเห็น