นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง เผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ “โควิด-19” หลังพบเอกสารแอบอ้างชื่อ ให้ข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับไวรัสชนิดดังกล่าวว่อนโซเชียลมีเดีย
จากกรณีในโลกออนไลน์มีการแชร์ภาพเอกสาร 3 หน้า ที่มีการแอบอ้างชื่อ นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนและเข้าใจผิดได้ ทำให้เมื่อวันที่ 2 มี.ค. นพ.ธรณินทร์ได้ออกมาโพสต์ข้อความอธิบายเกี่ยวกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thoranin Kongsuk” ซึ่งเอกสารแผ่นที่ 1 ได้ระบุข้อความว่า เชื้อหากผ่านเข้ากระแสเลือดจะทำให้มีไข้ ไอ แบบคนเป็นหวัด ภายใน 1-4 วัน ถือว่าเป็นส่วนน้อย แต่อีกรูปแบบหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นส่วนใหญ่พบว่าหากเชื้อไม่เข้ากระแสเลือดจะทำให้ไม่มีไข้ ไม่มีอาการ บุคคลกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่แพร่เชื้อที่คนทั่วไปจะไม่ทันระวังตัว เพราะมีลักษณะเหมือนคนแข็งแรงทั่วไป
ข้อเท็จจริง ในเรื่องนี้ที่ นพ.ธรณินทร์อธิบาย คือ อาการไข้ ไอ หวัด แน่นหน้าอก หอบ เหนื่อย ปวดเมื่อยตามตัวเป็นอาการที่พบบ่อยในผู้ป่วย COVID-19 ซึ่งมีระยะฟักตัวของเชื้อ 2-14 วัน
- ไข้ เป็นปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเมื่อเชื้อโรคเข้าสู่เซลล์ (ไม่ว่าจะเป็นส่วนไหนของร่างกาย) เกิดสารบางอย่างไปกระตุ้นต่อมไฮโปทาลามัสที่อยู่ใต้สมองสั่งงานให้เพิ่มอุณหภูมิร่างกายผ่านระบบหลอดเลือดหัวใจแล้วกล้ามเนื้อ ดังนั้น ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสจึงมีไข้ได้โดยเชื้อไม่จำเป็นต้องเข้ากระแสเลือด
เอกสารแผ่นที่ 2 ได้ระบุว่า เชื้อเข้าถึงปอด 3 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยมะเร็ง คนที่มีปัญหาโรคปอด คนที่มีโรคประจำตัว แสดงอาการป่วย - ตาย
- เข้าถึงปอด คนแข็งแรง 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่ตาย แต่แพร่เชื้อให้คนในบ้านได้ แต่ถึงจะไม่ตาย แต่เชื้อสามารถทำลายเนื้อเยื่อปอดทำให้เป็นแผลเป็นในปอดไปตลอดชีวิต ทำให้ปอดทำงานไม่เต็มที่
ข้อเท็จจริง จากข้อมูลปัจจุบัน เซลล์ปอดของคนจะมีตัวรับเชื้อไวรัส COVID-19 จึงทำให้เชื้อแพร่พันธุ์ขยายตัวทำลายเซลล์ปอดได้ง่าย ร่วมกับระบบภูมิคุ้มกันของบางคนที่ทำงานมากเกินทำให้เกิดการอักเสบของปอดมากขึ้น จนไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ ส่งผลให้ตับและไตวายสุดท้ายเสียชีวิต
- ร่างกายของคนเรามีภูมิคุ้มกันที่สามารถต่อสุ้กับเชื้อไวรัสได้ แต้ระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละคนไม่เท่ากัน ถ้าภูมิคุ้มกันเข็มแข็งก็สามารถจัดการทำลายเชื้อไวรัสไปจนหมด และไม่ทุกคนจะมีแผลในปอดติดตัวไปตลอดชีวิต
- ข้อมูลปัจจุบันอัตราการตายจาก COVID-19 อยู่ที่ร้อยละ 1-3 พบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อน
เอกสารแผ่นที่ 3 ระบุถึงวิธีป้องกัน ได้ระบุข้อความว่า 1. ขยันล้างมือบ่อยๆ 2. ใส่หน้ากากอนามัย 3. มีสติเตือนตัวเองเสมอ ว่าอย่าเอามือแคะจมูก ลูบปาก ลูบหน้า 4. งดงานเลี้ยงสังสรรค์ 5. หลีกเลี่ยงการคุยเจ๊าแจ๊ะ ไร้สาระกับผู้คน 6. หลีกเลี่ยงการกินอาหารนอกบ้าน
ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อไวรัส COVID-19
1. ไม่เดินทางเข้าพื้นที่เสี่ยง
2. กินอาหารร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ
3. หลีกเลี่ยงเข้าไปในที่ ที่มีคนแออัด หากจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัย
4. ใส่หน้ากากอนามัย หากมีอาการหวัด ไอ จาม
5. ไม่สัมผัส หรือใช้ของร่วมกับผู้อื่น
6. ไม่สัมผัสสิ่งของที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได หากจำเป็นควรเช็ด ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป
7. สร้างนิสัยไม่เอามือสัมผัสหน้า โดยเฉพาะบริเวณตา จมูก ปาก
8. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์
9. รักษาระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร