xs
xsm
sm
md
lg

ดร.ธรณ์ ให้ความรู้การวางไข่เต่าทะเลสายพันธุ์ต่างๆ และช่วยกันดูแล-ลดปริมาณขยะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ โพสต์เรื่องราวของการวางไข่ของเต่าทะเลสายพันธุ์ต่างๆ และขนาดของไข่เต่าแต่ละสายพันธุ์จะมีความแตกต่างกัน โดยเต่าทะเลเป็นสัตว์หายาก สำคัญต่อระบบนิเวศ ช่วยควบคุมปริมาณแมงกะพรุนได้เป็นอย่างดี

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “Thon Thamrongnawasawat” หรือ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เปิดเผยเรื่องราวของการวางไข่ของเต่าทะเลสายพันธุ์ต่างๆ โดยเล่าว่า เต่าทะเลจะอยู่แต่ในทะเล เต่าตัวผู้หลังออกจากไข่แล้วคลานลงน้ำ จะไม่ขึ้นบกอีกตลอดชีวิต แต่เต่าตัวเมียยังขึ้น ซึ่งโอกาสเดียวที่แม่เต่าขึ้นฝั่ง คือเพื่อมาวางไข่ เนื่องจากรูปร่างไม่เหมาะกับการเคลื่อนที่บนบก แม่เต่าจึงระวังตัวมากเป็นพิเศษ

สำหรับ เต่าตนุ และเต่ากระ จะขุดหลุมลึกประมาณ 40 เซนติเมตร แต่ถ้าเป็นเต่ามะเฟืองจะขุดลึกกว่านั้น อาจลึกถึง 60-70 เซนติเมตร จากนั้นแม่เต่าจะออกไข่ ปล่อยลงมาในหลุมทีละ 2-3 ใบ โดยมีน้ำหล่อลื่นไหลออกมาด้วย จากภาพโมเดลประกอบ ซึ่งไข่เต่ามีลักษณะที่นุ่ม ตกลงมาไม่แตก เมื่อตกลงมาทับกัน น้ำหล่อลื่นจะทำให้ทรายเกาะตัวเป็นแพ็คไข่ กว้าง 30-40 เซนติเมตร แต่ขนาดไข่เต่าของละสายพันธุ์จะไม่เท่ากันเต่าตนุและเต่ากระ มีขนาดประมาณลูกปิงปอง แต่ถ้าเป็นไข่เต่ามะเฟืองจะใหญ่กว่านั้น แต่ไม่ถึงขั้นลูกเทนนิส เมื่อแม่เต่าวางไข่หลายสิบใบเสร็จ ใช้เวลาเกือบชั่วโมง เพื่อที่จะกลบหลุมให้เรียบร้อย จากนั้นจึงคลานลงทะเล แม่เต่ากับลูกๆ จะไม่ได้เจอกันอีก ไข่ฟักเป็นลูกเต่าใน 50-60 วัน เมื่อลูกเต่าออกมาได้ ทุกตัวจะลงทะเลทันที

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ในปีที่แล้ว มีเต่ากินขยะ/ติดขยะทะเลจนเกยตื้นเกือบ 300 ตัว ยังไม่นับพวกที่ติดขยะจนตายกลางทะเล โดยเต่าทะเลเป็นสัตว์หายาก สำคัญต่อระบบนิเวศ ช่วยควบคุมปริมาณแมงกะพรุน อีกทั้งทำให้เด็กๆ และผู้คนสนใจทะเลอยากรักทะเลและช่วยกันดูแลทะเลให้ดี คอยสอดส่องดูแลหากผู้ใดพบเจอเต่าวางไข่หรือเต่าเกยตื้นสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ ที่สำคัญเราควรใช้ถุงใช้ซ้ำ จึงจะช่วยลดพลาสติกใช้แล้วทิ้งให้มากที่สุด เรื่องพวกนี้ช่วยเต่าทะเลได้แน่นอน”



โมเดลภาพประกอบ




กำลังโหลดความคิดเห็น