รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แนะ 3 ข้อแก่ประชาชนรับมือผู้ก่อเหตุกราดยิง "วิ่ง" หาทางออกจากอาคารให้เร็วที่สุด "ซ่อนตัว" ถ้าไม่พบทางออกหรือถูกบล็อก แต่ถ้าไม่มีทางเลือกให้หาอุปกรณ์เป็นอาวุธ "ต่อสู้" ชี้ดินสอแทงตาก็ต้องทำ
วันนี้ (9 ก.พ.) พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.) โพสต์เฟซบุ๊กกรณีที่ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา อายุ 32 ปี ทหารสังกัดค่ายสุรธรรมพิทักษ์ ก่อเหตุขโมยรถฮัมวี พร้อมอาวุธสงครามจำนวนมากเข้ามาที่ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช ถนนมิตรภาพ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา กราดยิงผู้คนภายในห้างจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา ระบุว่า ไม่คิดว่าผู้ก่อเหตุกราดยิง (Active Shooter) จะเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย แม้จะพยายามถ่ายทอดเรื่องนี้ไปให้ตำรวจตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ขาดไปคือการให้ความรู้กับพี่น้องประชาชน
กรณีที่เจอมือปืนหรือบุคคลติดอาวุธเข้ามาในอาคาร และเริ่มต้นยิงคนภายในอาคารหรือพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใดแล้ว ให้ยึดหลัก 3 ข้อ ได้แก่
1. Run (วิ่ง) คือ การหาทางออกจากอาคารให้เร็วและเงียบที่สุด อย่าสนใจทรัพย์สินหรือสิ่งของ เป้าหมายแรกคือออกจากตัวอาคารให้เร็วและปลอดภัยที่สุด เมื่อออกจากพื้นที่อันตรายได้แล้ว ค่อยโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่
- ถ้าจำเป็น หาอุปกรณ์ช่วยกำบังตัวจากกระสุนปืน ค่อยๆ หลบจากที่กำบังแต่ละจุด
- เมื่อออกมาจากพื้นที่อันตรายได้แล้ว ห้ามกลับเข้าไปในพื้นที่อีก
2. Hide (ซ่อนตัว) ถ้าไม่พบทางออก ทางออกถูกบล็อค หรือไม่รู้ทางออก ให้หาวิธีซ่อนตัว แทนการเดินหาทางออกไปเรื่อยๆ
- กรณีเข้าไปหลบในห้อง หาวิธีป้องกันไม่ให้ผู้ก่อการร้ายเข้ามาในห้อง เช่น ล็อคประตู หาอะไรขวางประตูไว้
- ปิดไฟ ปิดเสียงโทรศัพท์ เพื่อให้รู้สึกว่าไม่มีคนอยู่ และหลบซ่อนตัวอยู่หลังวัตถุขนาดใหญ่ เช่น โต๊ะ ตู้
3. Fight (ต่อสู้) ถ้าถูกมือปืนพบเข้าหรือไม่มีทางเลือกอื่นแล้วจริงๆ ให้พยายามหาอุปกรณ์เป็นอาวุธเพื่อต่อสู้กับมือปืน
- พยายามต่อสู้เพื่อให้มือปืนไม่สามารถโจมตีเราได้ และให้ต่อสู้อย่างรุนแรงที่สุด แม้กระทั่งเด็กๆมีดินสอเอาดินสอมาแทงตาคนร้ายก็ต้องทำ เป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรสอนลูก
- อย่าหยุดนิ่งเป็นเป้า ให้เคลื่อนไหวตลอดเวลา ระหว่างต่อสู้ ถ้าสบโอกาสให้วิ่งหนีทันที
- เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารเข้ามาในพื้นที่ จะไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ก่อการร้าย และเป้าหมายแรกคือหยุดผู้ก่อการร้าย (ก่อนเริ่มช่วยเหลือผู้ประสบภัย) ดังนั้นต้องแสดงให้เจ้าหน้าที่เห็นว่าเราไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย โดยชูมือทั้งสองให้เห็นเด่นชัดว่าไม่มีอาวุธ