xs
xsm
sm
md
lg

"ลุงติ๊ก สเกล" ‘ศิลปินทำโมเดลจิ๋ว’ ประสบความสำเร็จในวัย 60 กว่า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากศิษย์เก่าวิทยาลัยเพาะช่าง ผู้ซึ่งมีไฟแห่งฝันหวังว่าจะได้ทำงานจากที่ตนเองได้ร่ำเรียนมา แต่กลับกลายเป็นว่า เมื่อมีครอบครัวที่ต้องดูแล เขาจึงยอมทำงานอื่นเพื่อรอเวลาที่จะได้สร้างสรรค์ผลงาน ทั้งการเป็นทหารกว่า 9 ปี และเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในธนาคารแห่งประเทศไทยกว่า 25 ปี จนเมื่อเกิดวิกฤตหนี้สินในครอบครัว เขาจึงแก้ไขปัญหาด้วยการด้วยการลาออกจากงานประจำ และเดินทางในโลกภายนอก เพื่อเผชิญกับโลกภายนอก

จนกระทั่ง “โลกศิลปะ” ก็กวักมือมาหาเขาอีกครั้ง ผ่านการทำงานโมเดลสเกล จนผลงานของเขาได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น นั่นจึงทำให สิบโท พงศ์กาณฑ์ โกมลกนก หรือ “ลุงติ๊กสเกล” ได้หวนกลับมาทำในสิ่งที่ตนเองทั้งรักและร่ำเรียนอีกครั้ง พร้อมกับสร้างได้ผ่านการสร้างสรรค์แต่ละผลงานนี้ ถึงแม้ว่าเส้นขนานที่มาบรรจบอาจจะใช้เวลานานไปหน่อย แต่ก็ยังไม่สายพอที่จะได้ทำผลงานอันเป็นที่รักอีกครั้ง


ความฝันที่ทำงานฝีมือศิลปะ มันเริ่มมาตั้งแต่เมื่อไหร่แล้วคะ

พงศ์กาณฑ์ : จริงๆ เราเรียนจบวิทยาลัยเพาะช่าง คือเราจบทางด้านศิลปะมาโดยตรง แต่ทีนี้โอกาสในการทำงานรศิลปะแทบม่มีเลย เพราะว่า พอเรามีครอบครัว เราจำเป็นต้องวางสิ่งที่เราชอบไว้ก่อน เพื่อที่จะหางานต่างๆ ไว้ดูแลครอบครัวได้ แต่เราก็ไม่ได้ทิ้งมันไป 100 เปอร์เซ็นต์นะ เราก็พยายามจุดไฟให้มันตลอด อย่างน้อยเพื่อไม่ให้มันดับมอด พอถึงเวลาหนึ่ง เรามีครอบครัวมั่นคงแล้ว เลยทำให้มีเวลาทำกับมันได้เต็มที่ จริงๆ งานโมเดลมันไม่มีสอนนะ คือเราได้พื้นฐานจากสิ่งที่เราเรียนมา พวกทฤษฎีสี องค์ประกอบศิลป์ เราเอามาช่วยในงานของเรา คืองานนี้เราฝึกฝนด้วยตัวเอง

พอเรียนจบศิลปะ ทำไมถึงไม่ทำงานตรงสาย

พงศ์กาณฑ์ : มันก็มีปัจจัยหลายๆ อย่างนะ ทั้งความนิยม แล้วงานปั้นในสังคมไทยมันน้อยนะ และมันไม่สามารถเป็นอาชีพที่ยืนยาวได้ เพราะว่า ผมมองว่าคนที่จะมาจ้างเรามันน้อย แล้วฝีมือเรา เราก็รู้ตัวเองว่าเราไม่ได้เก่งขนาดนั้น สมัยเรียนก็ระดับกลางๆ ส่วนวาดรูป ผมมองว่ามันมีเยอะแยะมากมายนะ มันทั่วไปหมด ตลาดนัดหรือที่ไหนก็มี แต่งานสเกลโมเดล คนไทยไม่ค่อยทำนะ อาจะเป้นเพราะว่ามีหลายสถานการณ์ที่บีบบังคับเรา ต้องทำอะไรซักอย่างแล้ว


แล้วอาชีพแรกที่ทำจริงๆ เลย นั่นคือ

พงศ์กาณฑ์ : เพนท์เสื้อขาย มันตรงเป้านะ แต่เพอเราเพนท์ไปซักพักนึง เราต้องไปเกณฑ์ทหาร จากนั้นก็มีครอบครัว เราก็มีความรู้สึกว่า เราต้องหาความมั่นคงให้กับครอบครัวนะ คือรายได้ที่เราทำงานศิลปะ มันไม่แน่นอน อย่างถ้าไปเช่าที่ทำงาน มันก็แพงนะ ก็ไปหมดกับค่าเช่า รู้สึกว่ามันไม่มีความมั่นคงให้ครอบครัว เลยไปสมัครเป็นทหาร อยู่มา 9 ปี ได้เป็นนายสิบ

ตอนที่กลับไปเป็นทหารนี่คือทิ้งตรงนี้มั้ย

พงศ์กาณฑ์ : มันไม่ได้ทิ้งแบบร้อยเปอร์เซ็นต์นะ เพียงแต่ไม่ได้ทำแบบจริงจัง คือเวลาที่ผมทำอาชีพอะไร ก็จะพยายามจุดไฟ ไม่ให้มันดับตลอด ในระหว่างที่เป็นทหาร ก็รับจ้างเขียนป้ายบ้าง จัดเวที มีกิจกรรม เล็กๆ น้อยๆ ตอนนั้นเป็นทหารทำหน้าที่เสมียน คือมันมีความมั่นคงนะ แต่เงินเดือนทหารในตอนนั้นมันน้อยนะ แค่พออยู่ได้ แต่สวัสดิการมันดีไง ต่อมาทางธนาคาแห่งประเทศไทย เขาเปิดรับสมัครพนักงานรักษาความปลอดภัย เราก็ลองไปสอบดู ปรากฎว่าสอบได้ เราก็ลาออกจากการเป็นทหารเลย ผมก็โดนเพื่อนว่าเหมือนกันนะว่าออกมาทำไม เป็นทหารดีจะตาย แต่เขาก็ไม่รู้ว่า สวัสดิการของแบงค์ชาติดีกว่าของทหารอีก


ช่วงที่ออกจากทหารมานี่คือเงินเดือนเท่าไหร่คะ

พงศ์กาณฑ์ : 5000 ซึ่งมันไม่พอ แต่พอมาเป็น รปภ. แบงค์ชาติ รายได้พอเลย สำหรับ 3 คน อยู่ได้อย่างสบาย แต่ด้วยความที่รายได้เยอะ สิ่งที่เราขาดหายไป ไม่เคยมี เราก็เริ่มกู้นั่นนี่ จนอยู่กับแบงค์ชาติมา 25 ปี มีแต่หนี้ เพราะว่ามันกู้ง่ายไง เราเงินเดือนสูง พวกเงินกู้นอกระบบ มาหาเราเองเลย แล้วจากสิ่งที่เราไม่เคยมี เราก็อยากมีอยากได้ ตอนนั้นไม่คิดอะไรนะ เพราะว่ามี 2 กระเป๋า มีของภรรยาด้วย ก็ช่วยกัน

แต่พออยู่ไปนานๆ ก็เริ่มไม่ไหวนะ หนี้เริ่มเยอะขึ้นเรื่อยๆ ไปหมดกับรถเยอะ ผ่อนมา 11 คัน คือเปลี่ยนรุ่นบ้างผ่อนไม่หมดบ้าง มันก็เริ่มนับหนึ่งตลอดเวลา ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีนะ ถามว่าทำไมต้องรถ คือใจมันชอบ แล้วครอบครัวเราเป็นครอบครัวที่ชอบรถมาก ไปมาก็ทำงานฉากเกี่ยวกับรถอีกนั่นแหละ ไม่รู้เป็นอะไร ส่วนบ้าน เราก็ใช้สวัสดิการของธนาคารนะ แต่ส่งค่อนข้างหนัก บ้านหลังนี้ส่ง 7 ปี ถือว่าหนักนะ

และที่เราต้องเออร์รี่รีไทร์มา เพราะว่ามันไม่ไหวไง คือเราทำงานแล้วได้เงินมาก้อนใหญ่ แล้วก็หมดไป ไม่มีเงิน มันทนมาจนเรามีปัญหาครอบครัว และบอกกับลูกว่า มันต้องออกแล้วล่ะ เพื่อเอาเงินก้อนสุดท้ายมาปิดหนี้ให้หมด เราเริ่มต้นใหม่ ซึ่งเพื่อนก็บอกว่า ออกมาแล้วก็ผ่อนได้นะ แต่เราไม่คิดอย่างงั้นไง เราคิดว่ามันก็ยังเป็นหนี้อยู่ ต้องควักเงินทุกเดือนๆ แต่บางคนบอกว่า แทนที่จะเอาเงินมาทำลงทุน แต่เราก็คิดว่าถ้าลงทุนแล้วมันพลาด เราใช้หนี้ลำบากเลยนะ แล้วลูกจะลำบากไปด้วย เราเลยปิดหนี้หมดเลย

ใช้หนี้เหลือเท่าไหร่คะ

พงศ์กาณฑ์ : แสนกว่าบาท คราวนี้ที่บ้านเราชอบเลี้ยงสัตว์ เราเลยลงทุนบ้างเพราะว่ามันตามกระแส เพื่อมาจุนเจือ คือช่วงที่เขาเห่อกัน เราเลี้ยงกุ้ง นกแก้ว เต่า และเพาะพันธุ์หมา ซึ่งเราก็ศึกษาเรื่องนี้นะ แต่มันไปได้ไม่ไกล เราก็อยู่ได้ช่วงนึงนะ กระแสพวกนี้มาไวไปไว แต่พอมันไป ราคาก็เริ่มลง จนเราไม่ไหวแล้ว จนเลิก จากนั้นก็ไปทำขายของออนไลน์ 3 คนพ่อลูก เรา ลูกชาย และลูกสะใภ้ ทำทุกอย่างเพื่อที่จะได้เงิน คือเราลองทุกอย่าง เราไม่กลัวความผิดพลาดนะ เพราะเราคิดว่ามันคือการทดลอง ถ้าเราลองแล้วไม่สำเร็จ ช่างมัน เอาใหม่ แล้วเราต้องกินใช้อยู่ทุกวัน ก็ร่อยหรอ จนทั้งบ้านเหลือแค่พันกว่าบาท แล้วลูกชายเขาเป็นคนชอบเล่นรถสเกล เขาก็ไปเห็นในเพจว่ามีการขายฉาก แล้วเขาก็นึกขึ้นได้ว่า พ่อเรียนศิลปะมา น่าจะทำได้ เราก็เลยลองทำดู


เราเริ่มทำเลย

พงศ์กาณฑ์ : เราทำชิ้นแรกมาแบบไม่มั่นใจและไม่เต็มใจทำด้วย เพราะเรารู้ว่าเราไม่มีความสามารถ เพราะเราทิ้งไปนานไง แต่สถานการณ์บังคับ มันเลยทำให้ ยังไงก็ต้องทำ คือลุกให้ลองทำ เพราะว่ามันไม่ทำไม่ได้แล้วไง ก็ลองดู เงินพันกว่าบาทที่เหลือนี่คือ ทุบหม้อข้าวตัวเองเลย

ฉากแรกที่ทำคือ เป็นภูเขาขนาดเล็ก แต่เราก็ไม่ตั้งราคานะ เพราะไม่รู้ว่าใครจะมาซื้อของๆ เราหรือเปล่า เลยใช้วิธีประมูล จนไปจบที่ 280 บาท ตอนนี้กำลังตามหาอยู่ คืองานชิ้นแรกที่ได้ประมูล เราก็รู้สึกว่ามันก็ดีเหมือนกันนะ อยู่แบบมีกินมีใช้ ทำงานได้วันละ 200 กว่าบาท มันก็อยู่ได้ แต่พอทำไปเรื่อยๆ มุลค่าก็เริ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ อาจจะเป็นเพราะว่า เรามีความมั่นใจขึ้นหรือเปล่า แล้วทุกชิ้นผ่านการประมูลหมด ทีนี้มันก็มีงานสั่งทำชิ้นแรก เป็นวงเวียนบางแสน แล้วลูกชายก็ตีราคาไป 3000 บาท เราก็เครียดเลยว่า เราก็มือใหม่ ก็พยายามทำให้ดีที่สุด พอทำออกไปแล้วไปส่งหน้างาน มันเหมือนมาก แล้วก็ทำให้ความรู้สึกทั้งกลัวหรือไม่มั่นใจมันกลับมาหมดเลย คือตั้งแต่งานนั้นมา ผมไม่กลัวอะไรเลย เป็นงานสร้างชื่อให้เราให้เป็นที่รู้จักในวงการเลย

หลังจากนั้นก็มีการสั่งที่เยอะขึ้นเลย

พงศ์กาณฑ์ : ใช่ครับ งานผมจะมี 3 ประเภทนะ หนึ่ง งานพรีออเดอร์ คือ เหมือนกันแต่จำนวนจำกัด ใครจะเอาจองมา สอง งานที่ทำตามใจเรา เพื่อที่จะเอาไปประมูล และ อย่างที่สาม งานทำตามสั่ง คือตั้งตอนนั้นมา ทำงานไม่หยุดเลย 2 ปีกว่า ทำไปประมาณ 2 พันกว่าชิ้นได้ ส่วนรายได้ที่เข้ามาก็อยู่ได้นะ เรียกว่าตอนนี้ ทำงาน 1 เดือน รายได้เท่ากับ ทำครึ่งปีจากงานเดิมได้

แต่พอทำงานไปประมาณปีนึง สุขภาพเราก็เริ่มแย่ เพราะเราทำงานจนไม่รู้เวลาเลย ถึงขนาดที่ว่าเพื่อนซักคนยังไม่มีให้คุยเลย เราเลยปรึกษากับลูกว่าทำยังไงดี ลูกก็บอกว่าลองสอนดูมั้ย จะได้มีเพื่อน แล้วก็เราก็อยากจะให้โอกาสคนด้วย เพราะตอนที่เราเริ่มจะทำ เราไม่เคยได้รับโอกาสจากใคร เพราะเขากลัวว่าเราไปแย่งอาชีพเขา เราเลยมีความรู้สึกว่าอยากจะให้โอกาสคน คือเราอิ่มแล้ว เราก็อยากจะให้คนอื่นบ้าง แต่ตอนเริ่มสอนใหม่ๆ ก็ยังไม่มั่นใจนะ เพราะเราก็ไม่แน่ใจว่าจะถ่ายทอดได้ดีมั้ย ก็เลยทดลองดู เปิด meeting มาทำงานที่บ้านลุงนะ ก็มานั่งคุยกัน ทำงานคนละชิ้น พอเราสอนปุ๊บ ก็รู้ว่าเราก็สอนได้นี่ ก็เลยเปิดสอนจริงจัง ตอนนี้มี 32 รุ่นแล้ว สอนเสาร์-อาทิตย์ เดือนละ 4 ครั้ง

จนกระทั่ง เราได้มามี จ่อย-วันชัย ไชยโคตร หนึ่งในลูกศิษย์รุ่นแรก คนนี้เรียกได้ว่าติดลบเลย เพราะเขาไม่รู้ในขนาดของไม้บรรทัด หลักเซนติเมตร หลักนิ้ว เขาไม่รู้เลย แล้วจะทำงานศิลปะได้ยังไง คืองานสเกล ในเรื่องการวัดมันเป็นหัวใจเลยนะ เราก็เลยสอนเขาตั้งแต่เรื่องที่ว่านี้เลย จนทุกวันนี้เขาทำงาน จนเรียกได้ว่าเป้นมือหนึ่งของผมแล้ว ผมก็เริ่มส่งงานให้เขาบ้าง (ยิ้ม)

วันชัย : ก่อนหน้านี้ผมเคยขับวินมอเดอร์ไซค์รับจ้างอยู่แถวอนุสาวรีย์ชียสรภูมิ แต่เราเป็นคนที่ชอบโมเดล ซึ่งก่อนที่มาทำฉาก เราจะต้องมีรถก่อน เป็นรถจิ๋ว ตอนแรกไปหาซื้อ แต่ไม่ค่อยมีขาย เพราะตอนนั้นเรายังไม่เก่งในเรื่องโลกออนไลน์ พอเราเล่นปุ๊บ ก็ค้นหาจนมาเจอของลุงติ๊ก ที่เขากำลังเปิดสอนรุ่นแรกพอดีเลย
ตอนนั้นเก็บค่าใช้จ่ายยังไงบ้างคะ

พงศ์กาณฑ์ : รุ่นนี้เป็นรุ่นเดียวที่เรียน 4 อาทิตย์ เรียน 4 วัน ราคา 4500 แต่รุ่น 2 เรียน 2 วัน ราคา 2500


ตอนที่พี่จ่อยกำเงิน 4500 คิดว่าจะได้อะไรมากมายขนาดนี้มั้ย

วันชัย : ตอนแรกสุดเราจะไม่เก่งในเรื่องไม้บรรทัด ซึ่งก่อนหน้านี้เราก็ทำแบบมั่วๆ ทำออกมาแล้วขนาดไม่ได้ สเปคใหญ่กว่ารถบ้าง เล็กกว่ารถบ้าง จนได้มาเรียนกับลุงติ๊ก ปรากฏว่าเริ่มโอเคแล้ว พอเราเริ่มทำในชิ้นต่อๆไป เราก็เริ่มทำไปทุกๆ วัน จนครบ 4 ครั้ง พัฒนาฝีมือขึ้นไปเรื่อยๆ

พงศ์กาณฑ์ : บางคนก็มาถามเหมือนกันว่า ไม่มีพื้นฐานมาก่อนทำได้มั้ย ผมก็ยกตัวอย่างจากจ่อยเลยว่า เขาก้ติดลบมาก่อน เชื่อมั้ยว่า สเกลงานภูเขา ผมต้องปรึกษาเขา ทั้งๆ ที่ผมสอนเขา เพราะว่าเขาจะมุ่งมั่นทำแต่งานภูเขา ส่วนผมจะทำหลากหลาย แต่จ่อยเขาจะเน้นภูเขาอย่างเดียว ผมว่างานภูเขาไม่มีใครสู้เขาได้ ผมเลยต้องมาเรียนงานภูเขาจากเขาอีกทีเหมือนกัน

ในการมาเรียนกับลุงติ๊ก เป็นยังไงบ้าง

วันชัย : แกเป็นกันเองมากครับ ไม่กั๊กวิชาเลย บอกทุกอย่าง แล้วสิ่งที่ชอบก็คือ อุปกรณ์ที่ทำก็ไม่ได้แพงมาก ได้มาจากรอบบ้าน หรือของใช้ส่วนตัวที่ทิ้งไปแล้ว หรือไปเก็บมาตามต้นไม้ มาแปะเพื่อให้ได้สเกล ส่วนใหญ่ ลุงติ๊กจะเน้นเรื่องอุปกรณ์รอบตัว ภูมิใจมากครับที่ได้เจอกับลุง

ตอนนี้มีนักเรียนเยอะมั้ยคะ

พงศ์กาณฑ์ : ประมาณ 600 คนได้ แล้วก็มีแบบเข้าตาก็หลายคนเหมือนกัน คือ 80 เปอร์เซ็นต์ที่มาเรียน จะเป็นแบบว่า ทำเป็นงานอดิเรก ทำมาเล่นกับลูก ใช้เล่นเอง ที่เหลือก็คือเป็นอาชีพ ซึ่งเราก็จะมีการติดตามตลอด เนื่องจากผมมีไลน์กลุ่ม ซึ่งกลุ่มหลังนี้เราจะจี้เขามากเป็นพิเศษ ซึ่งหลายคนในกลุ่มหลังนี้ ก็มีประสบความสำเร็จเหมือนกัน


ช่วงนี้สเกลโมเดลเป็นที่แรงมากในกลุ่มคนเล่นรถจิ๋ว คิดว่าจะอยู่อีกนานมั้ยคะ

พงศ์กาณฑ์ : ไม่รู้นะ ตอนที่เราเพิ่งมาทำ คนเล่นยังหลักหมื่น แต่เวลาผ่านไป 2 ปี คนเล่นหลักแสนแล้วนะ ผมว่าคนที่สะสมมันไม่มีน้อยลงหรือเลิก แต่จะมีเพิ่มขึ้นกับทรงตัว อย่างน้อยๆ ลูกศิษย์ผม 80 คน ในแต่ละครั้ง เขาไม่ได้รู้เรื่องสเกลแค่นั้น แต่คนรอบตัวเขาอีก คิดว่าจะมีคนรู้เรื่องสเกลหลายร้อยคน ผมว่ามันกระจายไปเรื่อยๆ แล้วถ้าเป็นในเชิงธุรกิจ ผมว่าเราก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจนี้เติบดต เพราะเราสร้างคน คนรู้จักเยอะขึ้นทุกวัน เลยทำให้คนที่ขายโมเดล ขายของเขาได้ด้วย

ถ้าให้พูดสิ่งที่เราทำมา คิดว่ามันน่าภูมิใจขนาดไหนกับสิ่งที่ได้ทำ

พงศ์กาณฑ์ : เราไม่ใช่นักสร้างโมเดล แต่เราเป็นนักสร้างความทรงจำมากกว่า ผมเคยทำให้ลุกค้าหลายคนน้ำตาร่วงมาแล้ว คือบ้านหลังเก่าที่เขาเคยอยู่กับปู่ย่าตายาย ที่ถูกรื้อทิ้งไปแล้ว เขามีรูปแค่ใบเดียว แล้วเอามาให้เราทำ เราสร้างความทรงจำให้เขาได้ พอเขาได้เห็นแล้วเขาร้องไห้เลย แล้วเขาเล่าว่า ตรงนี้เคยนั่งเล่น ยายเคยป้อนข้าวให้เขา เขาเคยวิ่งเล่นอยุ่ตรงนี้ เราเลยจุดประกายว่า งานแบบนี้ ถ้าเราสร้างความทรงจำให้เขา แล้วเป็นสิ่งมีค่าสำหรับเขานะ แต่มันอาจจะธรรมดาสำหรับเรา โดยเป็นการจุดประกายว่า สิ่งเหล่านี้มันสำคัญกับงาน งานผมเลยเน้นสร้างความรู้สึกและเรื่องราว


พอเราได้สร้างคนที่เราเคยสอนมา มีความรู้สึกยังไงบ้าง

พงศ์กาณฑ์ : ผมมีความรู้สึกว่า เราไม่ได้สร้างอาชีพให้เขาคนเดียวนะ แต่ผมมีความรู้สึกว่าคนรอบตัวเขามีความสุข ผมก็สุขใจนะ สุขใจมันอยู่กับเรานาน แล้วเราก็เป็นเพื่อนกัน โดยที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ณ ตอนนี้ ยังมีสั่งมาเรื่อยๆ ครับ บางทีจองกันครึ่งปีเลยก็มี อย่างงานใหญ่ครึ่งปี ยังไม่เสร็จเลย

แล้วแบบนี้มีเป้าหมายอะไรเพิ่มมั้ยคะ

พงศ์กาณฑ์ : เป้าหมายผมอาจจะขยับไปเรื่อยๆนะ จากแค่พอมีพอกิน มาถึงระดับหนึ่งเราทำเป็นธุรกิจ แต่เราต้องช่วยคนและเป็นผู้ให้ด้วย และทำพร้อมกัน พอมาถึงตอนนี้เราก็อยากจะทำเป็นแกลอรี่ ดึงคนที่ชอบโมเดลลักษณะนี้หรือเด็กๆ ที่สนใจเรื่องนี้ เข้ามาศึกษาเรียนรู้ เพราะตอนนี้ลุงกำลังสะสมงานที่เกี่ยวกับวิถีไทย เช่นตลาดน้ำ ครัวไทย ชุมชนแออัด หรือบ้านริมน้ำ เนื่องจากของพวกนี้จะค่อยๆหมดไป แล้วเด็กสมัยใหม่อาจจะไม่ค่อยเห็นแล้ว

วันชัย : คือก่อนหน้านี้เราก็มีอะไรทำก็ทำไป แต่พอมาทุกวันนี้เราชอบในสิ่งนี้ชอบในงานโมเดล ผมคงจะทำงานเช่นนี้ตลอดไป ไม่น่าจะเปลี่ยนใจนะ อยากจะเก่งเหมือนลุงติ๊ก ถ้าอยู่ในวัยเกษียณแล้วคงเหมือนลุงล่ะครับ อีกอย่างมันก็รักด้วยเพียงแต่ว่าตอนนั้นยังทำไม่เป็น (ยิ้ม)


การทำโมเดลสเกล มันทำกันยังไงคะ

พงศ์กาณฑ์ : ถ้าเป็นภูเขา เราเริ่มที่ฐานก่อน จริงๆ มีแค่อุปกรณ์ 2 อย่างนะ คือโฟม กับ ปูน จากนั้นพอครอบเสร็จปั๊บ รอแห้งแล้วก็เพ้นสี แล้วก็เสร็จแล้ว จากนั้นก็เพนท์หญ้าลงเพิ่มไป แต่บางงานก็ใช้เวลานานตรงการตีโจทย์ให้แตกว่าจะทำยังไง อีกอย่างเราก็ต้องดูความต้องการของลูกค้าด้วย โดยเฉพาะจินตนาการทั้งตัวลุกค้าและเราต้องตรงกัน มันยากตรงนี้

ถ้าอยากจะทำความฝันให้สำเร็จ มันเริ่มจากอะไรคะ

พงศ์กาณฑ์ : ก่อนอื่นต้องหาตัวตนให้เจอ จากที่บอกว่าสถานการณ์บังคับที่เราต้องทำงานอื่นที่ไม่ใช่ตัวเอง หรือไม่มีโอกาสได้ทำ ความฝันมันไม่มีหมดอายุ ถ้าซักวันที่เราพร้อมที่จะทำมัน เราต้องลงมือทำเลย ต้องวางแผนให้ชัดเจน แล้วลงมือทำทันที ผิดพลาดยังไงเราอย่าไปกลัว เราแก้ไขได้ ผมว่าจะสำเร็จนะ

วันชัย : หางานที่เราถนัดและชอบ ถ้าเรารักงานของเรา ผมว่างานทุกงานต้องออกมาดีแน่นอนครับ
เรียบเรียงโดย : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ขอบคุณภาพจาก แฟนเพจ ลุงติ๊กสเกล & diorama



กำลังโหลดความคิดเห็น