แพทย์รายหนึ่งเล่าอุทาหรณ์ คนไข้อัดวีดีโอคลิปเวลาคุยและตรวจ อ้างเผื่อจำไม่ได้จะได้ไปให้ญาติพี่น้องฟัง เชื่อมีประสบการณ์ไม่ดีเวลาพบหมอ วอนอย่าเลียนแบบฝั่งตะวันตก
เมื่อวันที่ 5 ก.พ. เฟซบุ๊กเพจ "หมอโรคปอด และทางเดินหายใจ: หมอวินัย" ของ นพ.วินัย โบเวจา หัวหน้าศูนย์สุขภาพปอด อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจและภาวะวิกฤตทางเดินหายใจ โรงพยาบาลพญาไท 3 โพสต์ภาพคนไข้รายหนึ่งถือโทรศัพท์มือถือโดยอัดวีดีโอคลิป พร้อมระบุข้อความ "พฤติกรรมไม่เหมาะสมเวลาเข้าปรึกษาแพทย์" และโพสต์ข้อความระบุว่า
"ให้ทาย..ว่าบุคลิกนี้เข้าได้กับ ผู้ป่วยกลุ่มไหน นี่เป็นเหตุการณ์จริงและระยะหลายปีที่ผ่านมา เราพบมากขึ้นเรื่อยๆ
ญาติผู้ป่วยรายนี้ ก็ตั้งใจอัดวิดีโอมาก เวลาผมคุยและตรวจผู้ป่วย ผมก็เลยเอามือถือออกมาแล้วถ่ายรูปเขาแล้วอัดวิดีโอเค้าไปด้วย (แบบขำๆ)
สรุปญาติถามผมว่าทำไมคุณหมอต้องอัดวิดีโอหนูด้วยคะ
ญาติบอกว่าเหตุผลที่ต้องการอัดวิดีโอเพราะเผื่อจำไม่ได้จะได้กลับไปฟังซ้ำหรือให้ญาติพี่น้องฟังด้วย
ผม : ใช่ครับ ผมก็กลัวผมจำไม่ได้ว่าผมพูดอะไรไปบ้างจึงขออัดวิดีโอไว้
ญาติ : แต่หมอก็บันทึกไว้ในคอมไม่ใช่เหรอคะ
ผม : ในคอมก็บันทึกได้แค่ข้อมูลสำคัญ แต่ภาษาพูดมันไม่เหมือนภาษาพิมพ์ครับ ภาษาพูดมันตีความได้หลายแง่ (ถ้าคนจะตีความ)
ญาติ: หนูรู้สึกแปลกค่ะ ไม่มีหมอคนไหนอัดวิดีโอผู้ป่วยเวลาคุยค่ะ
ผม: ใช่ครับ ผมก็รู้สึกแปลกเมื่อผู้ป่วยอัดวิดีโอเวลาผมคุยกับผู้ป่วย ไม่มีคนไข้คนไหนอัดวิดีโอเวลาหมอตรวจเหมือนกันครับ
ผมให้เวลาเค้าอยู่สักพัก เพราะผมเชื่อว่าเค้าคงมีประสบการณ์ที่ไม่ดีจึงมีพฤติกรรมแบบนี้
จนเค้าเริ่มสำนึกได้ว่า “ความเหมาะสม” กับ “ความถูกต้อง” ต่างกันอย่างไร สุดท้ายเขาก็ยอมรับว่าเค้าอาจจะมีประสบการณ์ไม่ดีจึงต้องใช้วิธีนี้
สิ่งหนึ่งที่ผมแนะนำเขา : ลองใช้เลนสายตาคุณ วิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของแพทย์ที่ดูแลคุณ แทนที่จะใช้เลนกล้องมือถือ
มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม อยู่ร่วมกันได้ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีและมีมิตรไมตรีซึ่งกันและกัน
สำหรับผมความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ เปรียบเสมือนความสัมพันธ์ที่ผมมีกับครูบาอาจารย์ผม ความสัมพันธ์นี้อยู่บนพื้นฐานความไว้วางใจ ศรัทธา และความเมตตา
ไม่มีใครเพอร์เฟค จะต่อให้หมอเก่งแค่ไหนก็ย่อมมีจุดบอดที่เราหาได้ หากเราไม่พอใจหรือไม่เห็นด้วยเราควรฝึกวิธีการสื่อสารให้เหมาะสม บ้านเมืองจะได้เป็นสังคมที่น่าอยู่
อย่าเลียนแบบฝั่งตะวันตกเลยครับ ความสัมพันธ์แบบเขาคุณอาจจะไม่ชอบแน่
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ผู้ป่วยเข้าพบหมอไม่รู้ทำไมจะต้องมีค่านิยม อัดวิดีโอ จะต้องถ่ายภาพ โดยส่วนตัวคิดว่าไม่เหมาะสม อย่าคิดว่าเราได้ประโยชน์นะ คุณเสียประโยชน์"
อนึ่ง อ้างอิงตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพ พ.ศ. 2550 ระบุว่า การถ่ายภาพหรือบันทึกเสียงในขณะที่แพทย์หรือพยาบาลทำการรักษาพยาบาล ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ในการทำการรักษาผู้ป่วยของแพทย์และพยาบาล และเป็นการขัดขวาง หรือทำให้การตรวจรักษาไม่สะดวก ซึ่งอาจเกิดผลร้ายของผู้ป่วย หากนำไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต และเกิดความเสียหายขึ้น จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยมีโทษทั้งจำและปรับ