“หมอยง” อัปเดตรายวัน เผยกราฟเวลาสู้ไข้อู่ฮั่น ชี้ หากเมินเฉยเสี่ยงระบาดนาน 6 เดือน จนเกิดภูมิต้านทานกลุ่มโรคหายไปเอง หวั่นระบบสาธารณสุขดูแลไม่ทั่วถึง แนะทางออกใช้มาตรการเข้ม ลดผู้ป่วย แต่จะระบาดนาน 1 ปี แต่แพทย์ดูแลทั่วถึง
วันนี้ (30 ม.ค.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan อธิบายสถานการณ์ของการระบาดโรคปอดบวมอู่ฮั่น จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 ว่า การเตรียมพร้อมเพื่อลดความสูญเสียเมื่อมีการระบาดของโรค ตามรูปของกราฟ โดยธรรมชาติการระบาดของโรคเมื่อมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จนมีภูมิต้านทานกลุ่มเกิดขึ้นมากพอ โรคก็จะหยุดระบาด ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ โดยไม่ได้ทำอะไรเลย การระบาดของโรคจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ตามภาพจำลองเส้นกราฟสีแดง ถ้าไม่ทำอะไรเลย การระบาดจะมีผู้ป่วยจำนวนมาก อาจใช้เวลาประมาณ 6 เดือน เมื่อมีผู้ป่วยติดเชื้อ และมีภูมิต้านทานเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โรคก็จะหยุดเอง ปัญหาจึงอยู่ว่าเมื่อมีผู้ป่วยจำนวนมากจะเกินความสามารถที่บุคลากรทางการแพทย์ และระบบสาธารณสุขจะรองรับได้ การดูแลจะไม่ทั่วถึง ไม่มีเตียงรับผู้ป่วย เกิดความโกลาหลวุ่นวาย และยังความสูญเสียจำนวนมาก
ศ.นพ.ยง ระบุว่า แต่ถ้าเรามีมาตรการในการดูแล ควบคุม พยายามหยุดยั้งการระบาดของโรค ด้วยมาตรการระดับหนึ่ง ประชาชนทุกคนช่วยกัน ให้การระบาดของโรคลดลง และระยะเวลาจะยาวนานขึ้นเป็นแบบเส้นสีขาว แต่ในบางครั้งหรือบางระยะ เวลาการสาธารณสุขจะไม่สามารถรองรับได้ เป็นครั้งคราว สิ่งที่เราอยากให้เห็นและให้เป็น คือ แบบเส้นสีเหลือง ในการใช้มาตรการทุกสิ่งอย่าง เข้มงวด จริงจัง ที่ขัดขวางการระบาดของโรคให้มีจำนวนผู้ติดโรคน้อยที่สุด แม้การระบาดของโรคจะยาวนานขึ้นจนกว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันกลุ่ม ซึ่งอาจจะมากกว่า 1 ปี แต่มาตรการการดูแลผู้ป่วยและระบบสาธารณสุขจะทำได้ดีขึ้น ดังนั้น การสูญเสียจะน้อยที่สุด เป็นการกระจายผู้ป่วยให้เกิดขึ้นทีละน้อย จนกว่าจะได้ภูมิคุ้มกันกลุ่มมากเพียงพอ หรือมีวัคซีนมาช่วยเสริมภูมิต้านทานกลุ่มให้เร็วขึ้น โรคก็จะหยุดระบาด และกลายเป็นโรคประจำถิ่น
“เรามาช่วยกันใช้มาตรการทุกอย่างในการป้องกัน ไม่ให้เกิดการระบาดใหญ่อย่างรวดเร็ว แบบในเมืองอู่ฮั่นที่ตั้งตัวไม่ทัน ถึงต้องสร้างโรงพยาบาลสนาม เพื่อให้ระบบการสาธารณสุขของเรารองรับได้ และไม่อยากเห็นผู้ป่วยเป็นจำนวนมากเกิดขึ้นพร้อมกัน นอกจากทางราชการหรือผู้เกี่ยวข้องทำงานอย่างหนักกันแล้ว เราทุกคนจะต้องช่วยกันดูแลป้องกัน ดูแลตนเองด้วย” หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ระบุไว้ทิ้งท้าย