เมื่อวันที่ 16 ม.ค. นายพงษ์ศักดิ์ ละมูนกิจ รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA พร้อมด้วย นายประสงค์ คุ้มประดิษฐ์ นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน และเรืออากาศตรี สำเริง เชี่ยวชูกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ MEA ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานจัดระเบียบสายสื่อสารบริเวณถนนเพชรบุรีให้เป็นไปตามแผนงาน ร่วมกับ พนักงาน MEA กรุงเทพมหานคร (กทม.) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้ประกอบการสายสื่อสาร สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อดำเนินการร่วมกันแก้ไขปัญหาสายสื่อสารรกรุงรังรือถอนสายสื่อสารที่ไม่ใช้งานออกและจัดระเบียบสายสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาล ณ บริเวณซอยเพชรบุรี 20 ถนนเพชรบุรี กรุงเทพฯ
นายประสงค์ คุ้มประดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า MEA ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้เล็งเห็นถึงปัญหาสายสื่อสารรกรุงรัง และห้อยต่ำ ซึ่งส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุ และผลกระทบต่ออุปกรณ์ระบบจำหน่ายไฟฟ้าของ MEA รวมถึงความปลอดภัยของประชาชน พร้อมดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล MEA จึงเร่งดำเนินการสำรวจเส้นทางที่มีสายสื่อสารรกรุงรังในพื้นที่รับผิดชอบกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ทั้งสิ้น 318 เส้นทาง รวมระยะทางกว่า 2,200 กิโลเมตร ซึ่งมีแผนการรื้อถอนสายสื่อสารที่ไม่ใช้งานออกภายในเดือนมิถุนายนนี้ และจัดระเบียบสายสื่อสารรูปแบบใหม่ รวมถึงบันทึกข้อมูลสายสื่อสารทั้งหมดให้เสร็จสิ้นตามแผนงานภายในปี 2563 โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 เฟส ได้แก่ เฟสที่ 1 ระยะทาง 211.8 กิโลเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการรื้อถอนสายสื่อสารที่ไม่ใช้งานหรือสายตายและจัดระเบียบสาย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน มกราคม 2563 และเฟสที่ 2 อยู่ในระหว่างร่วมกันจัดทำแผนดำเนินการในเส้นทางที่เหลืออยู่
ทั้งนี้ MEA มีการจัดระเบียบสายสื่อสารรูปแบบใหม่ โดยมีขั้นตอนดำเนินการ ได้แก่
1.บริษัทโทรคมนาคมต่างๆ สำรวจสายสื่อสารของตนเอง พร้อมติดแท็กระบุชื่อบริษัทผู้รับผิดชอบสาย
2.รื้อถอนสายสื่อสารที่ไม่มีเจ้าของ ไม่ถูกใช้งาน หรือสายตาย
3.ติดตั้งคอนสำหรับสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าเพื่อรองรับการพาดสายสื่อสารที่ได้รับอนุญาตจาก MEA พร้อมให้ผู้ประกอบการพาดสายของตนเองให้เป็นระเบียบภายในช่องที่ได้รับอนุญาต
และ 4.บันทึกข้อมูลสายสื่อสารในแต่ละเส้นทางในระบบข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) เพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูล ป้องกันการละเมิดในภายหลัง
ซึ่งจากรูปแบบดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดจำนวนการใช้สายสื่อสารลงโดยที่ไม่กระทบต่อลูกค้าผู้ใช้งานเครือข่าย สายสื่อสารมีความเป็นระเบียบ ตลอดจนการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการแต่ละรายสามารถสอดส่องดูแลไม่ให้มีผู้ลักลอบมาพาดสายโดยไม่ได้รับอนุญาตได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สำหรับการลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานบริเวณถนนเพชรบุรีในวันนี้ถือว่ามีความคืบหน้าสามารถดำเนินการตามแผนงานขั้นตอนที่กำหนดไว้ จากความร่วมมือในการจัดระเบียบสายสื่อสารเมืองมหานคร Smart Metro จะช่วยแก้ไขปัญหาสายสื่อสารรกรุงรังและป้องกันการลักลอบพาดสายสื่อสาร และช่วยให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยภูมิทัศน์สวยงาม ทำให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคง มีความปลอดภัยแก่ประชาชนในระยะยาวต่อไป
ทั้งนี้ หากประชาชนที่พบเห็นปัญหาสายสื่อสารรกรุงรัง สายสื่อสารหลุดห้อยไม่ปลอดภัย สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน กสทช. โทร 1200 หรือ LINE@ : @nbtc1200