“สวัสดี” เป็นคำไทยที่มีความไพเราะ มีความหมายที่ดี และเป็นคำที่ใช้กันมากที่สุด ทักทายเมื่อพบกันและร่ำลากัน แต่เป็นคำใหม่เพิ่งใช้กันเมื่อปรับตัวสู่อารยะจะเป็นมหาอำนาจ โดยใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๔๘๖ ในช่วงสงครามมหาเอเซียบูรพามานี่เอง
ความจริงคำนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ราว พ.ศ.๒๔๗๗-๒๔๗๘ ซึ่ง ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา เขียนไว้ในหนังสือ สดุดีบุคคลสำคัญ ที่สำนักงานส่งเสริมเอกลักษณ์ของชาติ พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๘ มีความตอนหนึ่งกล่าวถึงจดหมายลาป่วยของอาจารย์ภาษาไทยคนหนึ่ง มีไปถึงนิสิตคณะอักษรศาสตร์ปีที่ ๑ และ ๒ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสียใจที่ไม่อาจมาสอนได้ในวันสุดท้ายก่อนสอบของปีนั้น ซึ่งเป็นวันสำคัญที่สุดของปี ข้อความของจดหมายแสดงถึงความมุ่งมั่นของอาจารย์ ที่จะวางรากฐานให้คำว่า “สวัสดี” ที่อาจารย์เป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้น ให้เป็นมรดกของชาติตลอดไป มีความตอนหนึ่งว่า
...คำว่า “สวัสดี” ที่ครูได้มอบไว้แต่ต้น โปรดจงโปรยคำอมฤตนี้ทุกครั้งเถิด จะใช้ “สวัสดี” ห้วนๆ หรือ “สวัสดีขอรับ” หรือ “สวัสดีขอรับคุณครู” หรือจะเหยาะให้หวานว่า “สวัสดีขอรับคุณอาจารย์” ครูเป็นปลื้มใจทั้งนั้น ถ้าสงเคราะห์ให้ได้รับความปีติยินดีแล้วเมื่อพบครูครั้งแรกไม่ว่าที่ไหน โปรดกล่าวคำนี้ ครูจะปลาบปลื้มเหลือเกิน ยิ่งเป็นที่อื่น เช่น ในกลางถนน บนรถราง ครูปลาบปลื้มเป็นทวีคูณ เพราะจะได้เป็นตัวอย่างแก่สาธารณชนชาวไทยทั่วไป เป็นความจริงมีนิสิตชายหญิงที่พบครูในที่ต่างๆ และกล่าวคำ “สวัสดี” ทำให้ครูปลาบปลื้มจนต้องไปตรวจดูบัญชีชื่อว่าเป็นใครเสมอ
มีนิสิตหญิงผู้หนึ่ง เธอพบครูและกล่าวว่า “สวัสดีค่ะ” แต่ครูไม่ได้ยิน เธอกล่าวอีกครั้งหนึ่งครูก็ไม่ได้ยิน แต่มีคนอื่นเขาเตือน ครูต้องวิ่งไปขอโทษ กว่าจะทันก็หอบ ครูจึงขอโทษไว้ก่อน คำอมฤตอันปลาบปลื้มที่สุดของครูนี้ ถ้าครูได้ยินก็จะตอบด้วยความยินดีเสมอ ที่ครูนิ่งไม่ตอบรับเป็นด้วยไม่ได้ยิน เพราะหูตาของครูเข้าเกณฑ์ชราภาพแล้ว โปรดให้อภัยครู
ขอจงสอบได้ทุกคนเถิดนิสิตที่รักของครูทั้ง ๒ ชั้น
ลงนาม พระยาอุปกิตศิลปสาร...
พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) มีชีวิตอยู่ในช่วงวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๒๒-วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๘๔ เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทย เป็นนักเขียนที่ใช้หลายนามปากกา สร้างผลงานประพันธ์ไว้มาก รวมทั้งกลอนสุภาพ “พ่อแม่รังแกฉัน” ซึ่งชื่อเรื่องยังทันสมัยมาจนถึงวันนี้
คำว่า “สวัสดี” มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า ดี งาม คำว่าสวัสดีที่ใช้ทักทายกันจึงมีความหมายว่า “ขอความดีความงามจงมีแก่ท่าน”
ก่อนหน้านั้นคนไทยเราทักทายกันว่า “ไปไหนจ๊ะ” “กินข้าวหรือยัง” เป็นต้น ซึ่งแสดงถึงความห่วงใยอาทรต่อกัน แต่ก็ยังไม่มีคำที่ใช้ทักทายกันโดยเฉพาะ
ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ใช้อำนาจเผด็จการเต็มรูปแบบเร่งรัดให้ประเทศปรับตัวอย่างรวดเร็ว สร้างความเร้าใจให้ไทยก้าวไปสู่ความเป็นชาติมหาอำนาจ เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมประเพณีหลายอย่าง เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย เปลี่ยนการแต่งกายของคนในชาติอย่างสิ้นเชิง จนมานุงกางเกงใส่เสื้อเชิร์ตอย่างฝรั่งในวันนี้ ส่วนบางอย่างที่คนไม่นิยมก็เลิกกันไป อย่างบังคับให้ใส่หมวกในนโยบาย “มาลานำไทยไปสู่มหาอำนาจ” เมื่อหมดยุคสมัยของจอมพล ป. ไม่มีกฎหมายบังคับ คนส่วนใหญ่ก็ไม่ใส่กัน และหนึ่งในการพัฒนานี้ได้ให้กรมโฆษณาการ ซึ่งก็คือกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน ประกาศเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๔๘๖ ให้ใช้คำว่า “สวัสดี” เป็นคำทักทายกัน ซึ่งคนทั้งประเทศก็เห็นด้วย และเต็มใจใช้กันมาตลอด
ต่อมายังมีแบบฝรั่งจ๋าเพิ่มเข้ามาอีก จะให้ทักทายกันในตอนเช้าว่า “อรุณสวัสดิ์” เหมือนที่ฝรั่งทักกันว่า “good morning” ตอนบ่ายว่า “ทิวาสวัสดิ์” มาจาก “good afternoon” ตอนเย็นว่า “สายัณห์สวัสดิ์” มาจาก “good evening” และตอนค่ำว่า “ราตรีสวัสดิ์” มาจาก “good night” แต่คนไทยเราไม่ชอบเรื่องมากโดยไม่จำเป็น ข้าว กับ น้ำ เรายังใช้ “กิน” เหมือนกัน ไม่ดื่มน้ำอย่างฝรั่ง คำยุ่งยากพวกนี้เลยหายไปกับหมวก เหลือแต่ “สวัสดี” ได้ทั้งเช้าสายบ่ายเย็น
นอกจากสร้างสรรค์คำว่า “สวัสดี” ให้เป็นมรดกของชาติแล้ว พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ยังสร้างแบบฉบับอันดีงามของความเป็นครูเป็นครั้งสุดท้ายของชีวิต ด้วยการอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาทางการแพทย์ โดยกล่าวว่า
“ฉันเป็นครู ตายแล้วขอเป็นครูต่อไป” ทำให้ท่านได้เป็น “อาจารย์ใหญ่” คนแรกของไทย
คนเราเกิดมาทั้งที ถ้าสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้แก่แผ่นดินเกิด เป็นมรดกให้ลูกหลาน ก็จะได้รับความเคารพนับถือจากคนรุ่นหลังต่อไป แต่ถ้าเกิดมาแล้วสร้างแต่ความวุ่นวายให้บ้านเมือง สร้างความเสื่อมโทรมให้สังคม เพื่อความเด่นดัง เพื่อความมั่งคั่งของตัวเอง ก็จะได้รับแต่คำสาบแช่ง และถูกตราหน้าว่า เสียชาติเกิด