เป็นที่รู้กันน้อยไปหน่อยว่า วันที่ ๑๗ มกราคมของทุกปี เป็น “วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช” โดยครั้งแรกสำนักงานสภาจังหวัดสุโขทัยได้มีหนังสือเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๓๑ ขอให้มีการกำหนดวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน เป็น “วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช” โดยถือเอาวันที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีอัญเชิญดวงพระวิญญาณของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จากศาลพระแม่ย่า ไปสถิต ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง ซึ่งสร้างในวาระถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” และทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่จังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๘ ซึ่งทางจังหวัดสุโขทัยได้จัดพิธีถวายบังคมในวันนั้นเป็นต้นมา
ต่อมาคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดเอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้พิจารณาทบทวนเรื่องกำหนดวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความถูกต้องตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คณะกรรมการได้เสนอความเห็นว่า วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราชควรจะเป็นเหตุผลที่ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพบหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ ๑๗ มกราคม ๒๓๗๖ จึงมีการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และในการประชุม ครม.ในวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๓๒ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่เสนอ ให้วันที่ ๑๗ มกราคมของทุกปี เป็น “วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช”
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๓ ของราชวงศ์พระร่วง และครองราชย์อยู่ในช่วง พ.ศ.๑๘๒๒-๑๘๔๑ เป็นเวลา ๑๙ ปี พระราชอัจฉริยภาพที่ทรงสร้างมรดกอันล้ำค่าให้แก่ชาติจนถึงวันนี้ก็คือ อักษรไทย ดังศิลาจารึกกล่าวว่า
...เมื่อก่อนลายสือไทยนี้บ่มี ๑๒๐๕ สก ปีมะแม พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในใจ แลใส่ลายสือไทยนี้ ลายสือไทนี้จึ่งมี เพื่อขุนผู้นั้นใส่ไว้... หา แปลว่า ด้วยตนเอง
ทรงวางรากฐานให้ประเทศ รวบรวมแคว้นต่างๆเข้ามาเป็นราชอาณาจักรที่กว้างใหญ่ไพศาล
...อาจปราบฝูงข้าเสิก มีเมืองกว้างช้างหลาย ปราบเบื้องตะวันออกถึงเมืองสระหลวง เมืองสองแคว เมืองหล่มเก่า ถึงเมืองเวียงจันทน์เวียงคำ ทิศใต้ กำแพงเพชร นตรสวรรค์ พิจิตร สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ถึงนครศรีธรรมราช จรดฝั่งทะเล ทิศตะวันตกจรดเมืองหงสาวดี ถึงฝั่งมหาสมุทร ทิศเหนือจรดเมืองแพร่ น่าน จนถึงหลวงพระบาง...
เศรษฐกิจเป็นระบบเสรีนิยม ...เมื่อชั่วพ่อขุนราคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบ ในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงินค้า ทองค้า...
ศาสนาและประเพณี ...คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อเข้าพรรษา ออกพรรษากรานกฐิน มีพนมเบี้ย มีพนมหมาก มีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอนโนน ถวายกฐินถึงวัดป่า ทั่วทั้งเมืองจะมีเสียงกลอง เสียงพาทย์ เสียงพิณ เสียงขับทำนองสนาะ ผู้คนต่างเข้าเมืองทั้งสี่ประตูหลวง เบียดเสียดกันเข้ามาดูเผาเทียน เล่นไฟ...
ด้านความเชื่อ ยุคสุโขทัยมีความเชื่อในเรื่องวิญญาณและไสยศาสตร์ ดังปรากฏในศิลาจารึกว่า ...เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้มีกุฎิวิหารปู่ครูอยู่ มีสรีดพงส์ มีป่าพร้าว ป่าลาง ป่าม่วง ป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขพุงผี เทพยาดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ว ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดี พลีบ่ถูก ผีในเขาอั้น บ่คุ้มบ่เกรง เมืองนี้หาย...”
กฎหมาย ...ไพร่ฟ้า ลูกเจ้าลูกขุน ผิแลผิดแผก ว้างกัน สวนดู แท้แล้ จึ่งแล่งความ แก่ชา ด้วยซื่อ บ่เข้าผู้ลักมักผู้ซ่อน...ไม่ว่าชาวบ้านหรือลูกเจ้าลูกขุน หากมีเรื่องทะเลาะกัน สอบสวนแล้วก็ตัดสินไปตามความจริง ไม่เข้าข้างผู้ใด
การปกครอง เป็นแบบพ่อปกครองดูแลลูก ที่หน้าประตูวังมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้ ไพร่ฟ้าหน้าปก กลางบ้านกลางเมือง มีถ้อยมีความ เจ็บท้อง ข้องใจ จักบอกกล่าวใครไม่ได้ ไปลั่นกระดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยินเรียก จะออกมาถามความด้วยพระองค์เอง และทุกวันจะเสด็จออกมาประทับที่พระแท่นมนังคศิลาอาสน์กลางดงตาล ให้ประชาชนเข้าเฝ้าและตัดสินความ ถ้าเป็นวันพระก็จะนิมนต์พระสงฆ์มาเทศนา “...ปลูกเลี้ยง ฝูงลูกบ้านลูกเมืองนั้น ชอบด้วยธรรมทุกคน...”
ด้วยเหตุนี้ องค์การยูเนสโกจึงประกาศเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๖ ให้หลักศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นมรดกความทรงจำของโลก โดยบรรยายว่า จารึกนี้นับเป็นมรดกเอกสารชิ้นหลักซึ่งมีความสำคัญระดับโลก เพราะให้ข้อมูลอันทรงค่าว่าด้วยแก่นหลักหลายประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมโลก ไม่เพียงแต่บันทึกการประดิษฐ์อักษรไทย ซึ่งเป็นรากฐานแห่งอักษรที่ผู้คนหกสิบล้านคนใช้อยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน การพรรณนาสุโขทัยรัฐไทยสมัยศตวรรษที่ ๑๓ ไว้โดยละเอียดและหาได้ยากนั้น ยังสะท้อนถึงคุณค่าสากลที่รัฐทั้งหลายในโลกทุกวันนี้ร่วมยึดถือ
“วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช” ในปี ๒๕๖๓ นี้ ทางจังหวัดสุโขทัยร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จะได้จัดให้อลังการกว่าทุกปีในวันที่ ๑๗-๑๙ มกราคม มีกิจกรรมที่น่าสนใจคือ นิทรรศการสุโขทัยเมืองสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนจังหวัดสุโขทัยซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ของยูเนสโก รวมทั้งการประกวเกล้วยไม้ การแสดงช้างชนช้าง และหมากรุกคนซึ่งหายไปหลายปี กลับมาร่วมงานครั้งนี้ด้วย