xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 22-28 ธ.ค.2562

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



1.สื่อทำเนียบฯ ตั้งฉายารัฐบาล “รัฐเชียงกง”- “บิ๊กตู่” ได้ฉายา “อิเหนาเมาหมัด” ด้าน “บิ๊กตู่” ไม่โกรธ แต่บอก ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น!


เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลได้ตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรี ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติประจำปีสืบต่อกันมา เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของสื่อมวลชนต่อการทำงานของรัฐบาล หลังจากว่างเว้นไม่ได้ตั้งฉายารัฐบาลมา 6 ปี เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองไม่เอื้ออำนวยและมีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดยปีนี้ ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบฯ มีมติตั้งฉายารัฐบาล รัฐมนตรี และวาทะแห่งปี ประจำปี 2562 ดังนี้

ฉายารัฐบาล คือ "รัฐเชียงกง" สะท้อนภาพรัฐบาลคล้ายแหล่งค้าขายอะไหล่มือสอง ประกอบกันขึ้นจากข้าราชการยุคก่อน และนักการเมืองหน้าเก่า แม้ใช้ประโยชน์ได้แต่ยังขาดความน่าเชื่อถือ สะท้อนความไม่มีเสถียรภาพ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับฉายา "อิเหนาเมาหมัด" เป็นการยกคำสุภาษิตไทย “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” เปรียบแนวทางปฏิบัติและนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่เห็นได้ชัดหลายเรื่อง มักจะตำหนิหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต และสุดท้ายก็กลับมาทำเอง เช่น โครงการลักษณะประชานิยม บอกไม่เป็นนายกฯ สุดท้ายก็กลับมา, ไม่อยากเล่นการเมือง ก็หนีไม่พ้น, หนีการตอบกระทู้ในสภาฯ, มองข้ามข้อครหาเรื่องงูเห่าการเมือง การซื้อตัว ส.ส., ตั้งคนมีคดีความที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองเป็นรัฐมนตรี, แต่งตั้งญาติพี่น้องเข้าสภา, ยอมให้พรรคที่สนับสนุนใช้นโยบายค่าแรงหาเสียง ทั้งที่เคยตำหนิว่าการขึ้นค่าแรงเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน อีกทั้งไม่สามารถควบคุมให้รัฐบาลมีความเป็นเอกภาพ เกิดปัญหาติดขัดการทำงานกับพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงงบประมาณที่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบ และฝ่ายตรงข้ามรุมเร้าคล้ายโดนระดมหมัดเข้าถาโถม แม้พยายามสวนหมัดสู้ แต่หลายครั้งถึงกับมึนชกโดนตนเองก็มี

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้รับฉายา "พี่ใหญ่สายเอ็นฯ" ในฐานะพี่ใหญ่ของ สาม ป. นอกจากจะต้องคอยดูแลน้องรักแล้ว ยังต้องเอนเตอร์เทนพรรคร่วมรัฐบาล และต้องเอ็นดูคนในพรรคพลังประชารัฐที่ได้รับมอบหน้าที่ประธานยุทธศาสตร์ทุกด้าน ตั้งแต่คดีระหว่างประเทศยันฟาร์มไก่ ทำให้งานด้านความมั่นคงที่ได้รับมอบหมายให้ดูแล เหลือเพียงเดินสายเปิดงานอีเวนต์ประชุมทั่วไปเท่านั้น

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้รับฉายา "ชายน้อยประชารัฐ" เพราะเป็นเจ้าของโปรเจกต์โครงการประชารัฐ ที่หวังเดินหน้าต่อยอดในรัฐบาลนี้กลับทำไม่ได้อย่างที่หวัง ถูกริบอำนาจงานด้านเศรษฐกิจหลายกระทรวง คล้ายคนง่อยเปลี้ยเสียขา ขาดมือไม้ในการทำงาน ทำให้เดินหน้าโครงการไม่ได้ 100% ถึงกับออกปากว่า ตอนนี้เหมือนคนที่เหลือเพียงขาเดียวเท่านั้น สุดท้ายเหมือนตัวคนเดียว พรรคร่วมก็ไม่เอาด้วย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้รับฉายา "ศรีธนญชัยรอดช่อง" ด้วยความเป็นกูรูด้านกฎหมายของรัฐบาล สามารถช่วยรัฐบาลรอดพ้นปากเหวได้ทุกครั้ง เปิดทางตันด้วยช่องว่างทางกฎหมายที่แม้แต่แว่นขยายก็ยังมองไม่เห็น

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับฉายา "รัฐอิสระ" เมื่อฝ่ายค้านมีฝ่ายค้านอิสระ รัฐบาลนี้ก็มีฝ่ายรัฐบาลอิสระเช่นกัน ให้ความสำคัญและเดินหน้าเฉพาะนโยบายของพรรคตนเองเป็นหลัก ไม่สนใจภาพรวมของรัฐบาล ไม่สามารถควบคุม ส.ส. ของพรรคได้ สร้างความหวาดระแวงภายในรัฐบาลตลอดเวลา ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข ได้รับฉายา "สารหนู"
แม้มีชื่อเล่นว่า “หนู” แต่ก็ไม่หนูอย่างที่คิด พิษสงรอบตัว ด้วยจำนวน ส.ส.ในมือมีผลต่อความเป็นไปของรัฐบาล จนสามารถต่อรองคุมกระทรวงใหญ่ไว้ในมือได้ อีกทั้งนโยบายแบนสามสารพิษก็โดดเด่นและถูกจับตามอง ถึงกับเป็นชนวนความขัดแย้งเกิดขึ้นในรัฐบาล ก่อนจะสยบรอยร้าวได้ในที่สุด

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับฉายา "เทามนัส" เพราะแม้คดีความต่างๆ จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่การถูกขุดคุ้ยล่าสุดทั้งเรื่องคดียาเสพติดในต่างประเทศ และวุฒิการศึกษา ยังทำให้คนกังขา ไม่เชื่อมั่นในความโปร่งใส รวมถึงการทำหน้าที่มือประสานสิบทิศทางการเมือง ก็ยังถูกครหาเรื่องการซื้อตัว ส.ส. พรรคเล็ก และดีลการเมืองกับฝ่ายค้านอีกด้วย

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับฉายา "มาดามแบนเก้อ" ด้วยบุคลิกเฉิดฉาย เด็ดเดี่ยว และโดดเด่น เดินหน้าแบนสามสารพิษอย่างไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม แม้ต้องชนกับเจ้ากระทรวงของตัวเองก็ไม่หวาดหวั่น เดินหน้าตามธงที่ถือไว้ แต่จนแล้วจนรอดการแบนสามสารก็ยังไม่สามารถปฏิบัติได้จริง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับฉายา "โอ๋ แซ่รื้อ" เพราะตั้งแต่เข้ามากำกับดูแลกระทรวงคมนาคม ผุดไอเดียบรรเจิดจนคนต่อต้าน เช่น ติดตั้ง GPS ในรถยนต์ส่วนบุคคล ไม่พอ ยังเดินหน้ารื้อหลายโครงการที่เป็นปัญหา เช่น รื้อมาตรการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า รื้อคดีค่าโง่ทางด่วน รื้อหลักสูตรสอบใบขับขี่ รื้อแผนท่าเรือปากบารา-สงขลา 2 รื้อแผนฟื้นฟู ขสมก. แม้แต่ไม้กั้นรถไฟยังถูกรื้อ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับฉายา "สัปเหร่อออนท็อป" นับแต่เข้ารับตำแหน่งได้เกิดเหตุไม่คาดฝันซ้ำไปซ้ำมากับบรรดาสิงสาราสัตว์ที่มีชื่อเสียง ทั้ง พะยูนมาเรียม แพนด้าช่วงช่วง เสือของกลาง ช้างป่าเขาใหญ่ เป็นความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ก็สามารถแสดงศักยภาพรับมือเหตุต่างๆ ได้ดี คล้ายทำหน้าที่สัปเหร่อเก็บกวาดทุกเรื่อง รวมไปถึงคดีความร้อนๆ ของคนและพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ส่วนวาทะแห่งปี คือ “อย่าเพิ่งเบื่อผมก็แล้วกัน ยังไงผมก็อยู่อีกนานพอสมควร” ซึ่งเป็นคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระหว่างให้โอวาทเจ้าหน้าที่และนักกีฬาทีมชาติไทยที่จะเดินทางไปร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2562

ทั้งนี้ วันเดียวกัน (23 ธ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเป็นประธานพิธีมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2562 ที่ห้องบางกอก คอนเวนชันเซ็นเตอร์ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ ถึงการตั้งฉายาของสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลว่า บางคนสนใจและถามตนว่ารู้สึกอย่างไรกับการตั้งฉายารัฐบาลและฉายานายกฯ ซึ่งตนไม่ได้รู้สึกอะไร ไม่ได้รู้สึกเสียใจหรือดีใจ อยากตั้งอะไรก็ตั้ง แต่ไม่ใช่เรื่องตลกและเรื่องล้อเล่นในการทำงานของพวกเรา ไม่เช่นนั้นก็ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่มีกำลังใจทำงาน เพราะทำไปแล้วก็ตั้งกันเป็นแบบนี้ "ผมควรจะรู้สึกแบบนี้ไหม ถ้าผมไม่ทุ่มเทไม่ตั้งใจ ก็ด่าผมมาเลยด่าตรงๆ ต่อหน้าไม่ใช่เรื่องตลก ...ตนไม่ได้โมโหใคร อย่างน้อยแค่อยากให้รู้ว่าตนคิดอะไร และไม่ได้ตำหนิ ขอบคุณทุกคนอีกครั้ง ขออย่าโกรธอย่าเคืองกันปีเก่า หากผมทำอะไรไม่ถูกใจ ก็ขออโหสิกรรมด้วยทั้งชาตินี้และชาติต่อไป"

ด้านสื่อมวลชนประจำรัฐสภาได้ตั้งฉายารัฐสภาในวันนี้ (28 ธ.ค.) เพื่อสะท้อนการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติในรอบปีที่ผ่านมา โดยได้บทสรุปว่า 1.เหตุการณ์แห่งปี คือ "สภาล่ม" 2.สภาผู้แทนราษฎร ได้รับฉายา "ดงงูเห่า" 3.วุฒิสภา ได้รับฉายา "สภาทหารเกณฑ์" 4.ประธานสภาผู้แทนราษฎร (นายชวน หลีกภัย) ได้รับฉายา "มีดโกนขึ้นสนิม" 5.ประธานวุฒิสภา (นายพรเพชร วิชิตชลชัย) ได้รับฉายา "ค้อนยาง" 6.ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์) ได้รับฉายา "ขนมจีนไร้น้ำยา" 7.วาทะแห่งปี คือ "ตัดพี่ตัดน้อง" ซึ่งเป็นของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่พูดกลางที่ประชุมรัฐสภาระหว่างการนำเสนอนโยบายของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ‪25 ก.ค.‬ เพื่อแก้ข้อกล่าวหาเรื่องการเข้าสู่ตำแหน่งโดยไม่สุจริตของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย 8.คู่กัดแห่งปี คือ ปารีณา VS พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ 9.ดาวเด่น คือ ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ 10.ดาวดับ คือ ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ 11.คนดีศรีสภา : ไม่มีผู้เหมาะสม

2.ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก “เบญจา” อดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร กับพวก 2 ปี ไม่รอลงอาญา คดีช่วย “โอ๊ค-เอม” เลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ป!

(บน) นางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร (ล่าง) นายพานทองแท้ หรือ โอ๊ค และ น.ส.พินทองทา หรือ เอม ชินวัตร
เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ฟ้องนางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร, น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย, น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย, นายกริช วิปุลานุสาสน์ ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร และ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1-5 ฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

คดีนี้ โจทก์ฟ้องสรุปว่า พวกจำเลยได้ช่วยเหลือนายพานทองแท้ หรือ โอ๊ค และ น.ส.พินทองทา หรือ เอม ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาวของนายทักษิณ เลี่ยงเสียภาษีอากร หรือเสียภาษีน้อยกว่าที่จะต้องเสีย ในการซื้อหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่น เมื่อปี 2549 คนละ 164,600,000 หุ้น ราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาตลาดหุ้นละ 49.25 บาท ซึ่งถือเป็นผู้ได้รับเงินพึงประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีของส่วนต่างราคาหุ้น คนละ 7,941,950,000 บาท ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1-4 คนละ 3 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่กรมสรรพากร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส่วนจำเลยที่ 5 จำคุก 2 ปี ฐานเป็นผู้สนับสนุนฯ

ต่อมา ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยทั้งหมดได้ยื่นฎีกาสู้คดี พร้อมขอให้ศาลพิจารณาลงโทษสถานเบาหรือรอลงอาญา โดยระหว่างฎีกา จำเลยทั้งหมดได้ประกันตัวคนละ 5 แสนบาท

เมื่อถึงกำหนดนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา (26 ธ.ค.) จำเลยทั้งหมดได้เดินทางมาศาล โดยมีครอบครัวและญาติสนิท มาร่วมให้กำลังใจกว่า 30 คน

ทั้งนี้ ศาลฎีกาตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1-4 ในการ ตอบข้อหารือประเมินภาษีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปฯ ระหว่างบริษัท แอมเพิลริช กับนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ให้กับจำเลยที่ 5 รับทราบนั้น แอบแฝงเจตนาที่จะช่วยให้นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ไม่ต้องแจ้งรายได้ที่เป็นส่วนต่างการซื้อขายหุ้นที่ราคาต่ำกว่าทุน ซึ่งมีมูลค่า 15,883,900,000 บาท ซึ่งแนวการตอบข้อหารือนั้น ก็ไม่ตรงกับข้อหารือที่กรมสรรพากรเคยวินิจฉัยเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นบางประการไว้

อีกทั้งยังฟังได้ว่า การที่จำเลยที่ 5 มีหนังสือแจ้งถามข้อหารือมายังกรมสรรพากร ก็เป็นการวางแผนที่เตรียมไว้ในการขายหุ้นกลุ่มชินคอร์ปฯ ให้กับกลุ่มเทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเคยวินิจฉัยว่า เจ้าของหุ้นที่แท้จริง คือ นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งจำเลยที่ 1-4 เป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรระดับสูง เคยวินิจฉัยข้อกฎหมายต่างๆ มา และถือเป็นมันสมองของกรมสรรพากร ขณะที่จำเลยที่ 5 ก็เคยทำงานเกี่ยวกับการตรวจสอบบัญชีและตรวจสอบการประเมินภาษี จึงย่อมรู้ดีว่า การมีหนังสือถามข้อหารือดังกล่าว นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการยื่นแบบรายการประเมินภาษีได้ และหากมีคดีความเกิดขึ้นทั้งอาญาหรือแพ่ง ก็สามารถนำหนังสือตอบข้อหารือนี้ไปใช้อ้างเพื่อเป็นประโยชน์ได้ ขณะที่ข้อสงสัยในการประเมินภาษีลักษณะดังกล่าวยังไม่เคยมีแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษว่าจำเลยกระทำความผิดนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

ส่วนที่จำเลยทั้ง 5 คน ขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอลงอาญานั้น ศาลฏีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 5 คน ตามที่วินิจฉัยมา ถือว่ามีพฤติการณ์ร้ายแรง จึงไม่สมควรให้รอการลงโทษ แต่เมื่อพิเคราะห์จากคำให้การของจำเลยที่ 1-4 แล้ว เห็นว่า ยังมีประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง เห็นควรลดโทษให้คนละ 1 ใน 3 จึงพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 1-4 คนละ 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 5 คงจำคุกไว้ 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งห้า โดยไม่รอลงอาญา จำเลยทั้งหมดมีสีหน้าเคร่งเครียด เสียใจ โดยญาติได้รีบเข้าไปโอบกอดให้กำลังใจ ขณะที่จำเลยบางคนพยายามกลั้นน้ำตาและกล่าวขอบคุณด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

ขณะที่จำเลยที่ 5 ที่มีอายุมากและมีอาการป่วย ญาติได้แสดงความกังวลใจเกี่ยวกับสุขภาพ โดยได้นำยารักษาโรคประจำตัวมาให้ด้วย ก่อนส่งตัวเข้าเรือนจำ โดยจำเลยผู้ชายจะถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ส่วนจำเลยผู้หญิงคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

3.ศาลพิพากษาจำคุก “พนม ศรศิลป์” อดีต ผอ.สำนักพุทธฯ 20 ปี คดีเงินทอนวัด!

นายพนม ศรศิลป์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)
เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนัดฟังคำพิพากษาคดีที่อัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 3 เป็นโจทก์ฟ้องนายพนม ศรศิลป์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.), นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ อดีตผู้อำนวยการส่วนบูรณะพัฒนาวัดและการศาสนสงเคราะห์ กองพุทธศาสนสถาน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, นายเจษฎา วงศ์เมฆ ฆราวาสติดต่อหาวัด, นายชรินทร์ มิ่งขวัญ ฆราวาส ทำหน้าที่ติดต่อหาวัด เป็นจำเลยที่ 1-4 ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้เบียดบังเอาเงินของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไปเป็นประโยชน์ของตน โดยใช้วัดเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด รับโอนเงินงบประมาณที่มีการเบียดบังไปจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 86, 91, 147, 157 และขอให้จำเลยที่ 1-3 ร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน 12,000,000 บาท และให้จำเลยที่ 4 ร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน 3,000,000 บาท แก่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 1-3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม เป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 โดยจำคุกจำเลยที่ 1 และ 2 กระทงละ 5 ปี รวม 4 กระทง เป็นจำคุกคนละ 20 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 กระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 12 ปี 16 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 4 เป็นเวลา 3 ปี 4 เดือน แต่จำเลยที่ 3 และ 4ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 3 จำนวน 6 ปี 8 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 4 จำนวน 1 ปี 8 เดือน ให้จำเลยที่ 1-3 ร่วมกันคืนเงินหรือใช้เงินจำนวน 12,000,000 บาท ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดคืนเงินหรือใช้เงินกับจำเลยที่ 1-3 จำนวน 3,000,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

4.ศาล รธน.นัดตัดสินคดียุบพรรค อนค.ปมล้มล้างการปกคกรอง 21 ม.ค.นี้ ด้าน “ธนาธร” อ้าง ทำทุกอย่างถูกต้อง!

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.)
เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งรับคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 72 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 กรณีพรรคอนาคตใหม่ กระทำการฝ่าฝืน มาตรา 72 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมแจ้งให้ กกต.ทราบ และส่งสำเนาคำร้องให้พรรคอนาคตใหม่ ชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับสำเนาคำร้อง

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังได้ชี้แจงกรณีศาลได้รับพิจารณาคำร้องที่นายณฐพร โตประยูร ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของพรรค อนค., นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, นายปิยบุตร แสงกนกกุล และคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้องที่ 1-4 ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ซึ่งศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้โดยไม่จำเป็นต้องทำการไต่สวน ทั้งนี้ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยและนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 21 ม.ค.2563 เวลา 11.30 น.

ด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค อนค.กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดตัดสินคดีล้มล้างการปกครองในวันที่ 21 ม.ค.ว่า ถ้าพ่อแม่พี่น้องประชาชนติดตามพรรค อนค.มาตั้งแต่ก่อตั้ง จะเห็นได้ว่า เราต้องต่อสู้เพื่อสร้างสรรค์ให้สังคมดีกว่านี้ และสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตย หยุดยั้งการสืบอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐสภา ถ้าตั้งพรรคขึ้นมาผ่านกลไกรัฐสภากลายเป็นการล้มล้าง แล้วจะต้องให้ทำอย่างไรที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงได้

นายธนาธร ยืนยันด้วยว่า เราทำทุกอย่างถูกต้อง เราเข้าสู่กลไกการเลือกตั้งตามกฏเกณฑ์ที่ กกต.ตั้งวางไว้ ถึงแม้เราจะเห็นด้วยบ้าง ไม่เห็นด้วยบ้าง แม้จะเป็นโทษกับเรามากว่าเป็นคุณ เราก็เข้าสู่กฏกติกานั้น ผลการเลือกตั้งออกมา เราคิดว่าไม่เป็นธรรมในการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิวต์ ทำให้พรรคถูกตัด ส.ส.ไปถึง 7-8 คน เราก็ยอมรับผล เราเป็นฝ่ายค้านและต่อสู้ในสภา พยายามผลักดันตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) แก้ไขรัฐธรรมนูญ และรณรงค์อย่างสันติ ตนนึกไม่ออกว่า การทำงานภายใต้กลไกแบบนี้ เป็นการล้มล้างการปกครองตรงไหน ในทางกลับกัน นี่คือการเคารพกฏกติกา

ส่วนความคืบหน้าคดีการจัดชุมนุมแฟลชม็อบของนายธนาธร พรรค อนค.ที่สกายวอล์กเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.นั้น เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. พ.ต.อ.พาติกรณ์ ศรชัย ผกก.สน.ปทุมวัน ได้ออกหมายเรียกให้นายธนาธร และนายไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร สมาชิกพรรค อนค.มารับทราบข้อกล่าวหา ฐานร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง, ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานีรถไฟ, ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ, ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยให้มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 27 ธ.ค.เวลา 10.00 น.ที่ สน.ปทุมวัน

ปรากฏว่า นายธนาธรไม่เข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดยเจ้าตัวได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ว่า จะมอบหมายให้ทนายความไป สน.ปทุมวัน เพื่อเลื่อนนัดตามหมายเรียก โดยอ้างเหตุผลว่า ติดภารกิจต้องไปร่วมงานปีใหม่ม้งที่ จ.ตาก ซึ่งได้นัดไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว จึงขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาออกไปก่อน ส่วนจะเป็นวันใด จะแจ้งให้ทราบอีกครั้งเมื่อมีความชัดเจน

5.ศาลยกฟ้อง “เนติวิทย์-กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” 44 คน เหตุไร้พยานยืนยันชุมนุมผิด กม.-ปรับ “ชลธิชา” ผู้จัดชุมนุม 1 พันบาท!


เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ศาลแขวงดุสิต ได้นัดฟังคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการคดีพิเศษคดีแขวง 3 เป็นโจทก์ฟ้องนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล กับพวกกลุ่มคนอยากเลือกตั้งรวม 44 คน เป็นจำเลยที่ 1-44 ฐานร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาต

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง 44 ได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมาย คือ วันที่ 24 มี.ค. 2561 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยร่วมกับพวกที่แยกสำนวนดำเนินคดีที่ศาลอาญาและพวกที่ยังไม่ได้นำตัวมาฟ้องอีกประมาณ 350 คน ร่วมกันชุมนุมทางการเมือง มีวัตถุประสงค์ปราศรัยแสดงความคิดเห็นเรียกร้องให้ยุบคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยนัดรวมตัวกันที่สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยไม่ได้รับอนุญาตและกีดขวางการจราจร และน.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยในการชุมนุมดังกล่าว ไม่ได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ เกิดการขัดขวางประชาชนที่จะใช้ทางสาธารณะ ขอให้ลงโทษตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่อง รักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ลงวันที่ 1 เม.ย. 2558 ข้อ 12 พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 6, 5(2), (4), 16(1), (8), 18, 2830, 31 พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 108, 114, 148 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 92 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 265, 279

หลังฟังคำพิพากษา น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า โดยสรุป ศาลพิพากษายกฟ้องในส่วนที่เป็นผู้ชุมนุมทั้งหมด เนื่องจากเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ ไม่มีพยานมายืนยัน มีเหตุแห่งความสงสัยว่าแต่ละคนมาชุมนุมอยู่จุดไหนอย่างไร มีการเคลื่อนขบวนหรือไม่ มีการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างไร ซึ่งพยานโจทก์ไม่มีใครยืนยัน ดังนั้นศาลเลยยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย พิพากษายกฟ้องผู้ชุมนุมทั้งหมด

น.ส.ภาวิณี กล่าวอีกว่า ในส่วนของ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือ ลูกเกด ในฐานะที่เป็นผู้แจ้งการชุมนุมและเป็นผู้จัดการชุมนุม ศาลเห็นว่าเป็นผู้จัด มีหน้าที่ที่จะต้องดูแลการชุมนุมให้เรียบร้อย และเลิกการชุมนุมตามกำหนดเวลา พิพากษาลงโทษปรับ น.ส.ชลธิชา ในฐานะเป็นผู้จัดการการชุมนุม เป็นเงินจำนวน 1,000 บาท ซึ่งแยกกันกับในส่วนของผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตาม ทางผู้จัดได้มีการดูแลผู้ชุมนุมแล้ว แต่เกิดจากปัจจัยที่เจ้าหน้าที่มารบกวนการชุมนุม จึงทำให้เกิดความล่าช้าไปบ้าง

ด้าน น.ส.ชลธิชา ยืนยันว่า การชุมนุมในคดีนี้ เราทำกระบวนการทางกฎหมายเรียบร้อยและเป็นการชุมนุมที่ชอบด้วยกฎหมาย มีการแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า ซึ่งตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาตรา 19 กำหนดหน้าที่ของตำรวจไว้ว่า ในกรณีที่มีการเดินบนเส้นทางการจราจรบนถนน ตำรวจมีหน้าที่จัดการจราจร และอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ดังนั้น ข้อหาที่เราถูกกล่าวหาว่าไม่ดูแลการจราจร หรือทำให้เกิดผลกระทบกับคนอื่น จึงเป็นหนึ่งในกระบวนการที่เราต่อสู้ได้ อีกทั้ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาตรา 20 ระบุว่า ตำรวจต้องช่วยประชาสัมพันธ์เรื่องของการชุมนุมทั้งก่อน ระหว่างชุมนุม และหลังการชุมนุม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้อื่น เราในฐานะผู้จัดการชุมนุมเราทำตามกฎหมาย แต่ก็สู้กันต่อว่าในระหว่างการชุมนุม การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจชอบด้วยกฎหมายมากน้อยเพียงใด โดยหลังจากนี้อาจจะต้องขอคุยกับทนายความเพื่อยื่นอุทธรณ์ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น