xs
xsm
sm
md
lg

ในหลวง-พระราชินี ทรงเปิดโครงการ "ราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์" พร้อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 217 ล. ซื้ออุปกรณ์การแพทย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการดำเนินงานตามโครงการ "ราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์" ณ ทันฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ถนนงามวงศ์วาน เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

วันนี้ (28 ธ.ค.) เวลา 15.52 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการดำเนินงานตามโครงการ ราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ การนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดีกรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา องค์ประธานกรรมการโครงการฯ คณะกรรมการราชทัณฑ์ปันสุขฯ ผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และคณะบุคคลที่เกี่ยวข้อง เฝ้าฯรับเสด็จ ณ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ถนนงามวงศ์วาน เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา กราบบังคมทูลรายงานการเปิดโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ความว่า

" ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้าในนามคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุข มีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้ากระหม่อมหาที่สุดมิได้ ที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำนินมาทรงเปิดโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ในวันนี้ โครงการราชทัณฑ์ปันสุข เป็นโครงการที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมีพระบรมราชโองการจัดตั้งขึ้น ด้วยทรงพระราชดำริว่า ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ประสบปัญหาด้านสุขภาพ เนื่องจากขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ และขาดบุคลากรทางการแพทย์ที่จะดูแลรักษา จึงได้พระราชทานแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

ทำให้เกิดการบูรณาการทางการแพทย์ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานทางการแพทย์ของทหาร ตำรวจ โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยโรงพยาบาลเอกชน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กับกรมราชทัณฑ์ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จิตอาสาพระราชทาน "เราทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์" ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยหลือด้านการแพทย์ การพยาบาล และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้ต้องขังได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมตามหลักมนุษยธรรมนับเป็นการสืบสาน รักษาและต่อยอด แนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ที่เกี่ยวกับการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพหลังจากพันโทษ ทั้งยังสอดคล้องกับข้อกฏหมายข้อกำหนดแมนเดลล่าและข้อกำหนดกรุงเทพด้วย พระมหากรุณาธิคุณ

ทั้งนี้ จะนำไปสู่ความก้าวหน้าของงานราชทัณฑ์ไทยและเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในการดูแลผู้ต้องขังในค้นการเพทย์ต่อไป ข้าพระพุทธเจ้าและคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุข มีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี มีพระมหากรุณาทรงรับเป็นประธานที่ปรึกษาโครงการและเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานเครื่องมือแพทย์และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ซึ่งจัดซื้อด้วยทุนพระราชทานส่วนพระองค์ ให้แก่ทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในวันนี้ ถือเป็นการเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ และเป็นก้าวแรกของการดำเนินงานตามโครงการ ยังมีเรือนจำและทัณฑสถานเป้าหมายอีก 2 แห่ง ที่จะได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเช่นนี้เป็นลำดับถัดไป ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอรับพระบรมราโชบายใส่เกล้าใส่กระหม่อม เพื่อนำไปดำเนินการให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม มีความสำเร็จและความก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป.."

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเครื่องมือแพทย์พระราชทานสัญลักษณ์การ Kick start พระราชทานวีดิทัศน์แก่ผู้แทนอาสาสมัครสาธารณสุขในเรือนจำ ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้าย "ห้องสุขภาพ ราชทัณฑ์ ปันสุข" อันเป็นพื้นที่ให้ผู้ต้องขังได้เข้ามาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพกายและใจด้วยตนเอง อันจะทำให้ผู้ต้องขังได้มีความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของตนเองและเมื่อพ้นโทษไปแล้ว จะได้มีสุขภาพที่ดีเป็นกำลังของประเทศชาติต่อไป

ต่อมาทอดพระเนตรนิทรรศการระบบของสาธารณสุขที่สนับสนุนการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขของผู้ต้องขังและการดำเนินการของเรือนจำทอดพระเนตรนิทรรศการ พระมหากรุณาธิคุณของพระบรมวงศานุวงศ์ทอดพระเนตรนิทรรศการจิตอาสา เราทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ทอดพระเนตรการแสดงผลงานเพื่อพัฒนาจิตใจของผู้ต้องขัง : งานวาดกับงานปั้น

ต่อมาเสด็จฯ ยังชั้น 6 ห้องไตเทียม ทรงพระดำเนินเยี่ยม และพระราชทาน ถุงพระราชทานแก่ผู้ต้องขังป่วยที่เตียง จำนวน 11 คน สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงพระดำเนินเยี่ยม และพระราชทานถุงพระราชทานแก่ผู้ต้องขังป่วยที่เตียง จำนวน 10 คน เสร็จแล้วเสด็จฯ ยังบริเวณจุดจอดรถเอกชเรย์เคลื่อนที่ ทอดพระเนตรรถเอกชเรย์เคลื่อนที่ ตามพระราชอัธยาศัย และทรงลงพระปรมาภิไธย และทรงลงพระนามาภิไธย ในสมุดเยี่ยม ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งคณะกรรมการ โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เมื่อวันที่ 11 พ.ย.62 เนื่องจากทรงมีพระราชดำริว่า โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เป็นโรงพยาบาลแห่งเดียวในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ต้องให้บริการแก่ผู้ต้องขัง ในกรณีเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นจำนวนมาก ยังขาดแคลนบุคลากร เครื่องมือแพทย์ และเวชภัณฑ์ การดูแลสุขภาพของผู้ต้องขัง ถือเป็นหน้าที่สำคัญของกรมราชทัณฑ์ ในการที่จะให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรับการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียม ตามหลักมนุษยธรรม เมื่อพ้นโทษจะได้มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งกายและใจ ออกมาสู่สังคมภายนอก และประกอบอาชีพสุจริตได้อย่างมีคุณภาพ โดยจะพระราชทานความช่วยเหลือในเรื่องการจัดหาอุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ ตลอดจนการให้จิตอาสาพระราชทาน "เราทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์" ได้เข้าไปมีบทบาท ในการช่วยเหลือทั้งทางด้านการแพทย์ การพยาบาล การอบรมให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ เพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการประสบผลสำเร็จตามพระบรมราโชบาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุขจำนวน 39 คน โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ทรงเป็นองค์ประธานที่ปรึกษา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการ โดยโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการดูแลสุขภาพผู้ต้องขังให้ได้รับการรักษาพยาบาลเท่าเทียมกับบุคคลภายนอกให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนอันเป็นการจัดระบบการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ต้องขังให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนปรับปรุงอนามัยสิ่งแวดล้อมการป้องกันโรคและการส่งเสริมสุขภาพ อีกทั้งยังจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์

สำหรับสถานพยาบาลในเรือนจำ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลแม่ข่าย และพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ของกรมราชทัณฑ์ให้มีความเหมาะสมและมีความก้าวหน้าในสายงาน รวมทั้งสร้างขวัญและกาลังใจ ตลอดจนพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ (อสรจ.) ให้ได้มาตรฐานและสามารถตอบสนอง การดูแลสุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำ

การดำเนินงานโครงการในระยะแรก ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 217 ล้านบาท ในการจัดซื้อเครื่องมือและครุภัณฑ์ทางการแพทย์อันเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ ที่สำคัญต่อการวินิจฉัยและรักษาโรคที่เป็นปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่ของผู้ต้องขัง จำนวน 756 รายการ เช่น เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เครื่องไตเทียม ยูนิตทัตกรรม และรถ X-RAY โมบาย พระราชทาน ให้เรือนจำทัณฑสถานเป้าหมาย 25 แห่ง ประกอบด้วย เรือนจำความมั่นคงสูงสุด 5 แห่ง เรือนจำกำหนดโทษสูง 12 แห่ง ทัณฑสถานหญิง 7 แห่ง และทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ 1 แห่ง โดยเฉพาะรถ X-RAY โมบาย นอกจากจะให้บริการผู้ต้องขังแล้วยังสามารถให้บริการประชาชนทั่วไปในพื้นที่ทั่วประเทศได้ด้วย

การดำเนินงานของโครงการได้มีการบูรณาการทางการแพทย์ระหว่าง กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม กับกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัดเหล่าทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มหาวิทยาลัย รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชน ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนการ ทำให้การดำเนินงานตามโครงการฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการจัดระบบบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำเป้าหมาย 25 แห่ง เช่น สิทธิประโยชน์ของผู้ต้องขังในการรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่สามารถดำเนินการได้แล้วร้อยละ 91 การขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลเรือนจำเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดำเนินการได้ครบ 242 แห่ง, มีการรับปรึกษาโรคเฉพาะทางไกล (Telemedicine), มีการคัดกรองโรค เช่น เอกซเรย์ปอดค้นหาวัณโรค ตรวจการติดเชื้อเอชไอวีด้วยสารน้ำทางช่องปาก, การจัดทำหลักสูตรครูฝึกอาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ (อสรจ.) หรือครู ก. ให้กับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในเรือนจำเพื่อให้มีความรู้ในการสอนผู้ต้องขังที่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ (อสรจ.) ให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน อีกทั้งยังมีการปรับปรุงอนามัยสิ่งแวดล้อม การป้องกันโรคและการส่งเสริมสุขภาพ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทาน ให้จิตอาสาพระราชทาน เข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมภายนอกและในเรือนจำ ซึ่งได้มีการจัดกิจกรรม Big Cleaning Day ในเรือนจำทั่วประเทศ โดยการเข้ามามีส่วนร่วมของจิตอาสาพระราชทานนั้น นอกจากจะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมต่อการทำความดีแล้ว ยังเป็นการทำให้ผู้ต้องขังที่มาร่วมเป็นจิตอาสาได้เรียนรู้เรื่องการทำความดี เพื่อส่วนรวมอันเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้ตนเอง อีกทั้งการทำความดีของผู้ต้องขังในโครงการนี้ยังส่งผลให้สังคมและชุมชนให้การยอมรับผู้ต้องขังมากขึ้น อันเป็นการลดช่องว่างระหว่างผู้ต้องขังกับชุมชน