xs
xsm
sm
md
lg

จาก Superman ถึง “ก้าว” ของ “โอ ปวีร์”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เป็นเวลากว่า 9 ปี นับตั้งแต่ที่ปล่อยซิงเกิลแรก “Superman” ในหมู่นักฟังเพลงนอกกระแสกับคลื่นวิทยุนอกกระแสในตำนานอย่าง ‘แฟต เรดิโอ’ จนค่อยๆ เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างค่อยเป็นค่อยไปกับซิงเกิล ‘พยายาม’ ซึ่ง “โอ-ปวีร์ คชภักดี” ก็ยังคงทำงานเพลงต่อเนื่องทำผลงานของตนเอง และเป็นเบื้องหลังให้กับศิลปินต่างๆ ตั้งแต่เพลงป็อปไปจนถึงเพลงของไอดอลกรุ๊ป !! จนก้าวมาถึงตอนนี้ ผลงานอัลบั้มแรกอย่างเป็นทางการของเขา “ก้าว” กับสังกัด Boxx Music ก็เดินทางมาสู่ผู้ฟังในตลอดทางของเขาได้ที่สุด


ความสนใจแรกสุดของคุณกับดนตรี มันเริ่มมาจากอะไร

ตอนเพิ่งเข้า ม.1 ครับ คือโรงเรียนของผมจะเป็นลักษณะของสหศึกษา (โรงเรียนพัทลุง) ซึ่งก่อนหน้านี้ในช่วงวัยประถม ก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ แต่พอเข้ามาอยู่ในอีกสังคมหนึ่ง ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปหมดเลย เราก็จะเรียนรู้อะไรที่ใหม่ๆ แรงบันดาลใจใหม่ๆ ซึ่งแตกต่างจากโรงเรียนประถมที่เราไม่เคยเห็น อย่างในโรงเรียนมัธยมที่ผมเรียนอยู่ ในช่วงปลายเทอมก็จะมีการจัดกิจกรรมชุมนุม ซึ่งจะมีการจัดแสดงของแต่ละชมรม ว่าในแต่ละปีทำอะไรมาบ้าง พอดีในปีนั้น เราเข้าไปในปีแรก และได้เห็นชุมนุมดนตรีสากลได้จัดคอนเสิร์ตประจำปีของเขา คือเราได้ดูแล้วมันสนุกมาก รู้สึกว่าพี่ๆ ที่ทำการแสดงนั้น เขาเท่จังเลย เราเลยมีความรู้สึกว่า จะต้องไปอยู่ในชมรมนี้บ้าง เพราะอยู่แล้ว สาวๆ จะกรี๊ดมาก (หัวเราะ) ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เราจะทำอะไรบางอย่างกับดนตรี

จำความรู้สึกที่เราดูโชว์ในครั้งนั้นได้มั้ย

เท่าที่จำได้ คือเป็นวงดนตรีของโรงเรียนครับ เขาเล่นเพลงร็อคในช่วงสมัยนิยมในตอนนั้น เช่นวงแคลช วงซิลลี่ ฟูลส์ ซึ่งเราดูแล้วรู้สึกว่าเจ๋งดีว่ะ ทุกคนเต้นไปตามเพลงที่พวกเขาเล่น สาวๆ กรี๊ด เราก็คิดและทำเลยว่า เราจะลองฟอร์มวงกับเพื่อนดู เราก็เริ่มเล่นดนตรีมาตั้งแต่ ม.2 เลย จน ม.3 เราฟอร์มวงดนตรีเป็นครั้งแรกกับเพื่อน เราก็เป็นนักร้องนำของวง แล้วก็เริ่มเรียนกีตาร์คลาสสิก และเรียนเปียโน ให้เป็นพื้นฐาน ในขณะเดียวกัน ในช่วงนั้นเราก็มีการประกวดแล้ว และเริ่มแต่งเพลงเอง หลังจากนั้นก็เริ่มพัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ จนมา ม.4 ก็เป็นตัวแทนโรงเรียน

แล้วจุดเปลี่ยนในการเล่นดนตรีของคุณ มันเรี่มตั้งแต่ตอนไหน

ในช่วง ม.3 ขึ้น ม.4 เกิดจุดเปลี่ยนหนึ่งในการเล่นดนตรี ด้วยความจังหวัดที่ผมอยู่นั้น แล้วสื่อในจังหวัดนั้นมันแทบไม่มีอะไรเลย จำได้ว่ามีร้านเทปในตัวจังหวัด ประมาณ 1-2 ร้านเท่านั้น ในการที่จะเสพสื่อเพิ่มเติม เราจะต้องเดินทางลงไปที่หาดใหญ่ และซื้อแผ่นซีดี เพราะช่วงนั้น ก็ไม่มีเว็ปไซต์ยูทูป และ ระบบสตรีมมิ่ง (หัวเราะ) แถมอินเตอร์เน็ทก็มีคนเล่นเป็นจำนวนจำกัด แล้วพอดี ผมได้ดูคลิปวีดีโอการแสดงสดในช่องทีวีเคเบิลช่องหนึ่ง คือ จอห์น เมเยอร์ แล้วตอนนั้นเขาเพิ่งออกอัลบั้มแรกด้วย ซึ่งตอนแรก เขาก็เป็นศิลปินนอกกระแส เขาก็ทำเพลงเอง แล้วคลิปที่ผมดู ก็เป็นคอนเสิร์ตในสเกลเล็กๆ มีคนดูประมาณ 200-300 คน เราดูแล้วรู้สึกว่า มันไม่มีความรู้สึกแบบผู้ชายเล่นกีต้าร์ และร้องและการแสดงพร้อมกัน ซึ่งผมไม่เห็ยใครเล่นในเมืองไทยตอนนั้นเลย ที่มีลักษณะแบบนั้น เราดูแล้วรู้สึกว่าเขาเก่งว่ะ เขาทำได้ยังไงวะ แนวดนตรีที่เขาเล่นเป็นแจ็สที่ดัดแปลงให้มาเป็นป็อป เราก็เลยศึกษาและหาแผ่นซีดีของเขามาฟัง พอหลังจากนั้น เราก็เริ่มหัดแต่งเพลงเองกับกีต้าร์มากขึ้น และฝึกฝนตัวเองเพิ่มจากตรงนั้น


การที่คุณอยู่จังหวัดเล็กๆ แล้วมาที่จังหวัดใหญ่กว่า ถือว่าหาประสบการณ์ด้วยมั้ย

เท่าที่ผมจำได้นะครับ ในแต่ละวัน ผมจะเก็บเงินวันละ 20 บาท พอถึงช่วงเวลาที่ได้ครบตามที่เราต้องการ เราก็ไปหาดใหญ่ แต่เราจะซื้อแผ่นก็อป ซึ่งที่นั่นก็จะขึ้นชื่อในเรื่องของแผ่นละเมิดลิขสิทธิ์จากมาเลเซีย ก็จะมีเพลงแนวอื่นให้เราได้รู้จัก ประมาณว่าเราได้ซื้อแผ่นจากกรุงเทพฯ ยังไงอย่างงั้น เพราะว่ามันเป็นหนทางเดียวที่เราจะเข้าถึงทรัพยากรตรงนั้น ตอนนั้นเราจะมีการตื่นเต้นว่ามีวงต่างๆ แนวต่างๆ ด้วยว่ะ ซึ่งแต่ละสัปดาห์ก็นั่งรถไปซื้อในแต่ละครั้ง อีกอย่าง เพลงนอกกระแสในจังหวัดผม นี่คือแทบจะไม่ค่อยรู้จักเลย เราก็ซื้อแผ่นก็อปแล้วมานั่งฟัง พอฟังแล้วเราก็จะมีความตื่นเต้นของเราอยู่คนเดียว ซึ่งต่างจากสมัยนี้ เพียงแค่คลิกค้นหาในอินเตอร์เน็ท ก็สามารถค้นเจอตามที่เราต้องการแล้ว

จากจุดของจอห์น เมเยอร์ ทำให้เราเริ่มที่จะทำงานเพลงเดี่ยวอย่างจริงจังด้วยมั้ย

ใช่ครับ หลังจากนั้นผมก็เริ่มแต่งเองมากขึ้น ซึ่งพอเรียนจบมัธยมฯ ผมก็เริ่มแต่งเพลงเองอย่างจริงจังเลย ซึ่งถ้าเป็นจุดเปลี่ยนเองจริงๆ เลย ที่ผมเห็นช่องทางจริงๆ เลย ก็คืองานแฟต เฟสติวัล คือตอนที่ผมขึ้นมากรุงเทพฯ ครั้งแรก ผมไม่รู้จักมาก่อนเลย พอผมที่มีเพื่อนที่เป็นคนกรุงเทพ ตอนนั้นคลื่น fat radio กำลังเป็นกระแส เขาก็บอกว่า มันมีงานแฟตเฟสนะ เราไปเที่ยวกัน พอผมได้ไป เหมือนกับเปิดโลกทัศน์ให้กับตัวเองเลย เพราะไม่ว่าใครก็ตาม ก็สามารถที่จะเผยแพร่ผลงานของตนเองได้ โดยที่ไม่ต้องมาพึ่งค่ายเพลง คือเราสามารถที่จะเอาแผ่นมาแจกหรือขายก็ได้ หรือว่าตั้งแผงให้คนอื่นลองฟังก็ได้ ตรงนั้นคือจุดแรกเลยว่า เดี๋ยวเราลองทำในปีหน้าเลย แล้วเอามาแจก หลังจากนั้นผมก็ทำงานของตัวเอง แล้วก็เอามาแจกในงานในปีต่อมาตามที่ตั้งใจจริงๆ แต่ในระหว่างทางตรงนั้น เราทำผลงานด้วยความไม่รู้อะไรเลย เรียกว่างมเลยก็ว่าได้ เพราะถ่ายปก ปริ้นปก และไรท์แผ่นเอง แล้วเพลงก็ไม่ได้ดีมากด้วย อาจจะเป็นเพราะว่าเริ่มต้นทำด้วย แล้วก็ถือว่าเป็นก้าวแรกที่เราเรียนรู้

1 ปีที่งานแฟต จนปีต่อมา ในระหว่างทางตรงนี้ ได้เรียนรู้อะไรบ้างครับ

ผมได้เรียนรู้เยอะเหมือนกัน ในทุกกระบวนการเลย ไม่ว่าจะเป็นการซื้อนู่นนี่นั่นต่างๆ การออกแบบปก การทำเพลง การทำมาสเตอร์ ผมก็เรียนรู้ทุกอย่าง หลังจากนั้นผมก็เอาไปแจกเองด้วย มันก็เป็นกระบวนการที่ศิลปินอินดี้น่าจะเคยผ่านมา แล้วปีนั้น เพื่อนก็ให้หนังสือเล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า bible indie เป็นหนังสือสำหรับศิลปินอินดี้ที่จะทำเพลงเอง ซึ่งเนื้อหาในเล่มนี้ดีมาก ทุกวันนี้ผมก็ยังเก็บหนังสือเล่มนี้อยู่เลย คือมันบอกตั้งแต่การไรท์ซีดีว่าควรจะทำกับยี่ห้อไหนบ้าง หน้าปกคุณจะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งผมว่าดีมากเลย


แต่คุณก็เรียนทางด้านคลาสสิกมาด้วยแล้วมาทำเพลงป็อป ถือว่าย้อนแย้งด้วยมั้ย

ย้อนแย้งแน่นอน คือผมอยากรู้ในทางทฤษฎีในเรื่องการใช้เสียงของผม แต่ว่าเรื่องทักษะอื่นๆ เราสามารถไปหาเพิ่มเติมเอาได้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว เราก็ต้องเลือกว่าจะไปทางไหน คือแรกสุด ผมก็ชอบทางคลาสสิกเหมือนกันนะ คิดว่าอยากจะเรียนต่อ ไปสอบชิงทุนเหมือนกัน แต่สุดท้ายแล้วพบว่า เราไม่ได้ชอบมันขนาดนั้น แล้วเราก็เบื่อคลาสสิกเหมือนกัน เพราะดนตรีแนวนี้มันเป็นเรื่องของความเป๊ะ และคุณจะใช้ความคิดสร้างสรรค์กับแนวดนตรีนี้ได้ยาก สุดท้ายคุณจะต้องมีโน้ตที่ทำตาม composer ซึ่งเราก็ไม่ได้ชอบขนาดนั้น พอขึ้นปี 2 เราก็หันไปทางดนตรีป็อปเลยประมาณนั้น

พอเรากลับมาสู่ดนตรีป็อป มันเหมือนกับเรามาสู่ตัวตนของเราจริงๆ

ใช่ครับ แต่ผมก็เอาแนวคลาสิคัลมาผสมเยอะ หรือในการแสดงและการร้องของผม ในพื้นฐานเมื่อเราแน่นแล้วเนี่ย มันสบายในการร้องเพลงป็อป สุดท้ายมันคือความรู้สึกล้วนๆ แต่การร้องของเรา คลาสสิกมันต้องแน่นเรื่องพื้นฐาน เพราะมันคือการร้องที่ไม่ได้ใช้ไมโครโฟน เพราะฉะนั้นพอเรามาประยุกต์กับเพลงป็อป มันก็ไม่ได้ยากมาก แต่พอมาอยู่ในนี้มันก็เป็นอีกทางหนึ่งเลย ซึ่งบางทีผมว่ามันก็ยากเหมือนกันนะ ในการทำซักเพลงหนึ่ง เพื่อให้คนหมู่มากชอบ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย การทำเพลงเท่ยังง่ายกว่า เพราะคุณทำให้เพื่อนคุณฟังแค่ 10 คน มันไม่ได้เป็นเรื่องยากอะไร (หัวเราะครืน) ง่ายกว่าทำเพลงให้คนฟังเพลงเป็นล้านคนชอบมันเป็นอะไรที่ยากมาก แล้วการทำเพลงให้มันฮิต มันก็ยิ่งยากไปอีกเท่าหนึ่ง มันไม่ได้เป็นเรื่องง่ายเลย

ในขณะเดียวกัน คุณเป็นนักดนตรีในช่วงยุครอยต่อของการออกผลงาน ตรงนี้มีการปรับตัวยังไงบ้าง

ตอนที่ผมเป็นศิลปินอินดี้ เว็บเดียวศิลปินจะเสนอผลงานกันเยอะ คือ myspace คือเวลาที่ใครจะมีช่องทางของตัวเอง คือทุกอย่างมันยังอยู่ในรูปแบบเล็กๆ ที่ไม่ได้มีแบบเยอะแยะมาก ซึ่งพอเราเข้ามาในรูปแบบค่ายเพลง ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปเยอะ เริ่มจะมีทั้งยูทูป ระบบสตรีมมิ่งก็เริ่มมาแล้ว เลยทำให้การทำอัลบั้มนั้นต้องมีการคิดมากขึ้น เพราะการซื้อแผ่นก็ไม่ได้เยอะกว่าก่อนหน้านี้แล้ว เพราะมีการดาวน์โหลดมากขึ้น ซึ่งผมก็เห็นอยู่ เพราะการออกอัลบั้มมันจะให้เห็นภาพของศิลปินคนนั้น อย่างเช่นอัลบั้มปกแดง ของวงโลโซ เราก็จะเห็นภาพของพี่ๆ เขาชัดเจน แต่พอมันเริ่มที่หายไป แล้วกลายเป็นศิลปินที่จะออกซิงเกิลในแต่ละเพลง บางทีความปะติดปะต่อมันก็ไม่ได้ชัดมาก แต่ในกลุ่มค่ายอินดี้ในตอนนั้น ยังมีการทำอัลบั้มอยู่ แต่ก็ยังมีการลดจำนวนการผลิตเยอะมาก ซึ่งเราก็เข้าใจ เพราะว่าสุดท้ายเราก็ต้องเอาเพลงที่ดีที่สุดของเราออกไป เราก็มีการคุยกับทีมงานว่าที่ค่อยๆ ออกไปก็ได้ หรือค่อยๆ รวมเป็นอีพีเล็กๆ เราก็เห็นและทำความเข้าใจกับมัน


ถือว่าเราก็เรียนรู้ในการเปลี่ยนแปลงของดนตรีโลกด้วย

แต่ตอนแรกที่เข้าไป เราก็ตั้งเป้านะครับว่า เราอยากที่จะทำเป็นอัลบั้ม แต่ก็มาหักเหตรงที่ค่ายมีปัญหา หลังจากที่ออกมา 3 ซิงเกิล คือ 'พอ', 'รอ' และ 'พยายาม' ซึ่งเพลงหลังถือว่าแจ้งเกิดให้เราในวงกว้าง คือปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะไปเล่นคอนเสิร์ตที่ไหนคนยังร้องเพลงนี้อยู่ และเป็นแทร็คสุดท้ายกับทางค่ายบีลีฟ แต่ตอนนั้นก็มีสังคมออนยไลน์ทั้งยูทูป หรือ เฟสบุ๊คแล้ว แต่คนก็เข้าไปฟังแบบไปเรื่อยๆ ถามว่าเบื่อการร้องเพลงนี้มั้ย ไม่เบื่อนะครับ เพราะว่ามันเป็นเพลงที่ชอบมากที่สุด แล้วเราก็อยู่กับมันทุกกระบวนการ เป็นเพลงที่ร้องได้เรื่อยๆ แต่ตอนนั้นก็ทำงานเบื้องหลังให้กับศิลปินอื่นด้วย ซึ่งเราทำมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว แต่งเพลง แต่งทำนอง ร้องเพลงโฆษณา มาตั้งแต่ตอนนั้น

หลังจากนั้นคุณก็เดินทางไปเรื่อยๆ ในแต่ละที่มีความแตกต่างกันยังไงบ้างครับ

มันก็แตกต่างกันเยอะนะ เราได้เจอผู้คน ได้ลองทำงานทั้งแบบกลุ่ม หรือ ด้วยตัวเอง สุดท้ายในบางครั้งก็อาจจะเหนื่อย เพราะเราต้องจัดการเองทุกอย่าง จนเรามาหาค่ายที่คิดว่าเหมาะกับเราในตอนนั้น จนกระทั่งได้มาอยู่กับทาง boxx music ซึ่งแรกสุดเราก็ปรึกษาผู้จัดการส่วนตัว ซึ่งก็คือเพื่อนของผมเองว่า ให้ลองมาคุยกับพี่พล ที่นี่ดูมั้ย จนทำการนัดคุยกัน และไปในทางเดียวกัน ซึ่งพี่พลเป็นคนที่คุยแล้วสบายใจ บวกกับพี่เขาจะเป็นคนที่รับฟังความเห็นคนอื่น แล้วก็ไม่ได้บีบบังคับ แกจะหาเหตุผลประกอบว่าตรงนี้ดีหรือไม่ดี คือคุยกับแกจนผมรู้สึกว่าอยากร่วมงานกับแก

จากผลงานที่รวมตรงนี้มา มันเหมือนกับการเป็นก้าวแรกในวงการจริงๆ

คือเอาจริงๆ มันมีปัญหาตลอด ไม่มีความต่อเนื่องในผลงานเลย เป็นเพราะรอบตัวเรามีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จนไม่มีความต่อเนื่องให้คนได้เห็นเลย ทำให้มันไม่ปะติดปะต่อเลย จนกระทั่งได้มาอยู่ที่นี่ ที่ได้โอกาสในการทำอัลบั้มด้วย ซึ่งพอทำเสร็จเรียบร้อย เหมือนกับได้เป็นการปลดล็อคจากการที่ติดอยู่ในใจว่าผลงานที่ผ่านมามันเป็นไปอย่างที่บอก เพื่อเดินก้าวต่อไปจริงๆ


จากผลงานชุดนี้ก็มีความหลากหลายอยู่นะ ซึ่งถือว่าคลายในการที่คนบอกว่าคุณชอบแต่งแต่เพลงเศร้า

เนื่องด้วยมันมีเพลงจาก 9 ปีก่อนด้วย แล้วก็หลายๆ เพลง มันนาน แล้วเพลงใหม่ๆ ที่เราแต่ง มันมีแรงบันดาลใจใหม่ๆ ภาพใหม่ๆ ที่เราจะอยากได้เทคนิคหรือสีแบบนี้เข้าไป จนเมื่อสุดท้ายที่มันเบรมเข้ามา มันจะมีสีที่ต่างกัน ส่วนเนื้อหาโดยรวมของเพลงนั้น ผมต้องการที่จะให้มันเป็นโทนนี้อยู่แล้ว จากตั้งแต่ที่เราปล่อยเพลง superman ที่เป็นเชิงตัดพ้อ ที่ถ้ายังอยู่กับเขาที่เขาหาอะไรมาให้เธอได้ วันหนึ่งเธอก็เบื่อเขา และเธอก็ไปจากเขาอยู่ดีถ้าเธอไม่รักเขา คือมันเป็นการตัดพ้อที่ไม่จริงใจ ประมาณนั้น จนกระทั่งต่อมาอีกหลายๆ เพลง เราก็เขียนด้วยมุมมองแบบนี้ เพราะเรามีความรักที่ไม่สมหวังในชีวิต ซึ่งสุดท้ายก็เป็นเนื้อหาที่กลมๆ ในเชิงผิดหวัง แม้กระทั่งซิงเกิลล่าสุด “นักเดินทาง” มันก็ไม่ใช่ความรักที่สมบูรณ์นะ มันก็คือคนที่พยายามจะมองโลกในแง่ดีที่จะต้องเจอในซักวันนี่แหละ แต่ไม่รู้ว่าอยู่ไหนในตอนนี้ แล้วก็เดินทางต่อไป

ถือว่าเรื่องในลักษณะนี้เป็นเรื่องที่ถนัดสุดด้วยมั้ย

อาจจะเรียกว่าเป็นเรื่องที่ถนัดสุด แต่ผมเคยมีซิงเกิลหนึ่งที่ชื่อว่า powerbank น่าจะเป็นแทร็คที่ผมอยากจะแต่งเพลงให้กำลังใจคนเลย อยากให้คนฟังเพลงนี้แล้วรู้สึกดีขึ้น ผมก็เลยไปชวนพี่แอ้ม อัจฉริยา ให้มาแต่งเพลงด้วยกัน แล้วเป็นแทร็คหนึ่งที่ผมชอบมาก คือมีคนฟังเพลงนี้เข้ามาบอกผมว่าฟังแล้วรู้สึกดี หายเศร้า และมีกำลังใจ ซึ่งเพลงนี้เป็นเพลงที่ผมอยากที่จะทำ และได้ทำมัน รวมถึงเพลงที่เราแต่งขึ้นมา คือสารที่เราต้องการจะนำเสนออยู่แล้ว ถ้าเปิดด้วยซิงเกิลแรก นั่นคือสิ่งที่เราต้องการจะพูดในวันนั้น จากการเป็นเด็กบ้านนอกคนหนึ่ง จนไปถึงเพลงสุดท้าย

ทราบมาว่า คุณเพิ่งไปแต่งเพลงไอดอลกรุ๊ปด้วย (เพลง ความคิดถึงของฤดูฝน วง SY51)

(หัวเราะ) นี่ก็เป็นเพลงที่เป็นประสบการณ์ใหม่ ซึ่งปกติผมจะแต่งเพลงให้ผู้หญิง แต่ถ้าเป็นแต่งให้เกิร์ลกรุ๊ปหรือไอดอลกรุ๊ปนี่คือครั้งแรก แล้วเพลงนี้เป็นคอนเซปต์ที่ว่า เขาอยากจะเล่นน้ำฝนแล้วก็คิดถึงช่วงเวลาเก่าๆ นะ เรามาเล่นน้ำฝนกันเถอะ ก็ถือว่าสนุกดีครับ รวมถึงได้ร่วมงานกับ พี่ว่าน นักร้องนำวง detail ซึ่งแกก็ทำงานกับผมนานแล้ว คือตอนที่ได้โจทย์มา ถือว่าเป็นเรื่องยาก แต่เราก็อยากที่จะทำอะไรใหม่ๆ และท้าทายด้วย และเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน และก็ไม่ใช่เนื้อหาที่เศร้า อยากทำเป็นแนวญี่ปุ่นๆ ซึ่งถ้าเราทำได้ก็ดีนะ มันก็สนุกดี อย่างน้อยเราก็ได้ทำ แล้วเราก็ชอบเพลงนี้เหมือนกัน จนผ่านไป เราก็กลับมานั่งคิดอีกทีว่า เราทำเพลงนี้ได้ยังไงนะ


ถือว่าก้าวข้ามการทำงานของเราเองด้วยมั้ย

ใช่ครับ แต่บางทีเวลาที่เราเขียนเพลงให้คนอื่น เวลาเขียนให้ตัวเองมันจะยาก เพราะว่าเราต้องมีแรงบันดาลใจจริงๆ ในการเขียนในแต่ละเพลง คือต้องจบว่าเราจะต้องจบในหัวแล้วว่าเราจะจบเรื่องนี้ แล้วเรื่องที่จะเล่านั้นมันน่าสนใจหรือเปล่า ถ้าไม่น่าสนใจก็ไม่เอา รวมถึงมันแปลกด้วย มันถึงจะให้เราอยากที่จะเขียน แต่พอสุดท้ายเวลาที่เราเขียนให้คนอื่น มีนอาจจะทำให้เราตัน

แน่นอนว่าอีกด้านหนึ่งที่คนไม่ค่อยรู้เท่าไหร่ คือ คุณจะศึกษาในด้านพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง เราเอามาปรับใช้ในการทำงานยังไงบ้างครับ

จริงๆ ก็มีส่วนนะครับ มันทำให้เรา ไม่อยากที่จะทำเพลงไม่ดี อย่างแรกที่ทำเพลงออกไปสำหรับเราคือ มันต้องไม่ทำให้คนฟังรู้สึกแย่กับตัวเอง แม้ว่าจะเป็นเพลงช้าก็ตาม หรือเป็นเพลงที่หยาบคาย หรือ พูดแต่เนื้อหาที่ไม่ดี แม้ว่าจะเป็นเพลงรัก แต่ก็ไม่ใช่เพลงที่ไปทำลาย เพราะสุดท้ายแล้วมันก็ต้องเป็นเพลงที่คนอยากจะฟัง เป็นเนื้อหาที่คนอยากจะเข้าถึงได้ สำหรับเรา สุดท้ายเราก็ไม่ควรทำเพลงที่เป็นเพลงไม่ดีออกไป แล้วก็ทำให้เราต้องระวังนิดนึงด้วย เพราะว่าเราได้มีโอกาสได้คุยกับคนเยอะด้วย

จากข้อเมื่อกี้ มันรู้สึกว่าเป็นความยากด้วยมั้ยครับ

ไม่นะครับ อย่างพี่แสตมป์-อภิวัชริ์ หรือใครก็แล้วแต่ เวลาที่เราฟังงานของเขาแล้ว มันทำให้เรารู้สึกดี ฟังแล้วยิ้มได้ ไม่ใช่ฟังแล้วอยากตาย มันไม่ใช่ หรืออย่างเพลงเจ็บไม่จำ ที่สุดท้ายแล้วช่วยจำหน่อย หลุดออกมาซะที หรือแม้แต่เพลงพยายามที่สุดท้ายแล้วมันต้องเข้าใจ มันทำให้ตัวเองต้องคิดได้นะ ไม่ใช่ว่าฟังแล้วมองตัวเองในแง่ลบนะ เจ็บเพื่อเข้าใจ มากกว่า

คิดว่าตอนนี้ เราทำงานในฐานะนักแต่งเพลงไปพอสมควรรึยัง

เราอยากจะมีเพลงที่ฟังแล้ว feel good อีกนิดนึง แต่อาจจะในบทต่อไป ให้มันมีเพลงแบบดูน่ารักหน่อย อยากให้มีความสมบูรณ์สมหวังในความรัก หรือ จะมีเพลงที่ให้กำลังใจคนบ้าง ไม่ใช่ว่ามีแต่เพลงอกหักอย่างเดียว จะมีในมุมอื่นบ้าง ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเรา ส่วนตลอดทาง 9 ปี ที่ผ่านมา เรามีความสุขกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วก็จะไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ถึงแม้ว่าในอนาคตเรายังไม่รู้ว่าจะเป็นยังไง แต่ในเรื่องของการทำเพลงและแต่งเพลงทั้งที่ผ่านมาและตอนนี้ เราทำได้ตามที่เราตั้งใจ ถ้าเกิดวัดจากความสุขที่เราแต่งออกมา ถือว่าตอบโจทย์ให้กับตัวเองเกือบสมบูรณ์ครับ (ยิ้ม)
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : ณัฐชนน หล้าแหล่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น