xs
xsm
sm
md
lg

เปลี่ยนรัชกาล ไม่เปลี่ยนวันชาติ! มีความสำคัญถึง ๓ อย่าง ทั้งวันพ่อและวันเฉลิมฯ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค


ภาพจาก thailand.com
โดยทั่วไป ทุกประเทศต้องมีวันชาติ แต่จะกำหนดให้วันใดเป็นวันชาตินั้น แต่ละประเทศจะเลือกจากวันสำคัญของชาติที่ต่างกันไป เช่น วันสถาปนาประเทศ วันประกาศอิสรภาพจากการตกเป็นอาณานิคม วันเกิดประมุขของรัฐ หรือวันสำคัญทางประวัติศาสตร์อื่นๆ

บางประเทศมีวันชาติมากกว่า ๑ วัน เช่นปากีสถาน ถือเอาวันประกาศเอกราช “Republic Day” และวันสถาปนาการปกครอง “Independence Day” เป็นวันชาติทั้ง ๒ วัน ส่วนฮังการีมีถึง ๓ วัน และฮ่องกงนอกจากจะถือเอาวันชาติจีนเป็นวันชาติแล้วยังเฉลิมฉลองกันในวันที่อังกฤษคืนเกาะฮ่องกงให้จีนด้วย

สำหรับประเทศไทย เนื่องจากวันชาติเป็นวัฒนธรรมตะวันตก เราจึงเพิ่งมีวันชาติกันเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๑ มานี่เอง โดยรัฐบาลของ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็นกลุ่มที่มาจากคณะราษฎร ผุ้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้ประกาศเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ว่า

“ด้วยคณะรัฐมนตรีประชุมปรึกษาและลงมติว่า วันที่ ๒๔ มิถุนายน ย่อมถือว่าเป็นวันชาติ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ด้วยเหตุที่ว่า การปฏิวัติสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เกิดขึ้นโดยคณะราษฎร ในวันและเดือน ดังกล่าว เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดไว้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น”

ได้มีการเฉลิมฉลองวันชาติเป็นครั้งแรกในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๒ ในรัฐบาล พันเอก หลวงพิบูลสงคราม

แต่ ๒๔ มิถุนายนก็เป็นวันชาติของประเทศไทยได้เพียง ๒๑ ปี ในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๓ รัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ออกประกาศว่า

“ด้วยคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า ตามที่ได้กำหนดให้มีการเฉลิมฉลองวันชาติไทยในวันที่ ๒๔ มิถุนายน นั้น ได้ปรากฏในภายหลังว่า มีข้อที่ไม่เหมาะสมหลายประการ ในด้านประชาชนและหนังสือพิมพ์ก็ได้เสนอแนะให้พิจารณาในเรื่องนี้หลายครั้งหลายคราว คณะรัฐมนตรีจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณา โดยมี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

คณะกรรมการนี้ได้พิจารณาแล้ว เสนอความเห็นว่า ประเทศต่างๆ ได้เลือกถือวันใดวันหนึ่งที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับชนในชาติต่างๆ กัน โดยถือเอาวันประกาศเอกราช วันอิสรภาพ วันตั้งถิ่นฐาน วันสาธารณรัฐ วันสถาปนาพระราชวงศ์ บ้าง ซึ่งไม่เหมือนกัน แต่ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติโดยทั่วไปนั้น ได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติ เช่น ประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ค สวีเดน ญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นต้น แม้ประเทศไทยเราเองก็ได้ถือเอาวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยมาแล้ว เพิ่งจะมากำหนดเอาวันที่ ๒๔ มิถุนายน เป็นวันชาติเพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่งในระยะหลังนี้เอง

คณะกรรมการฯจึงมีความเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน จึงสมควรจะถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยต่อไป โดยยกเลิกวันชาติในวันที่ ๒๔ มิถุนายน เสีย

คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบด้วย จึงได้ลงมติให้ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๘๑ เรื่อง วันชาติ นั้นเสีย และให้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยด้วยต่อไปตั้งแต่บัดนี้

ทั้งนี้ วันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ ๙ คือวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๐ ดังนั้นวันชาติ จึงตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปี

แต่ละประเทศยังให้ความสำคัญของวันชาติแตกต่างกันไป บ้างก็เห็นว่ามีความสำคัญมาก บ้างก็ไม่เน้นความสำคัญนัก เช่น ในประเทศฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา จะจัดงานเฉลิมฉลองวันชาติอย่างยิ่งใหญ่ แต่ประเทศอังกฤษไม่ได้ฉลองอย่างเอิกเกริกมากนัก นอกจากนี้วันชาติอาจเปลี่ยนได้ตามเหตุการณ์สำคัญ และประเทศที่ใช้วันเกิดประมุขเป็นวันชาติ มักเปลี่ยนวันชาติเมื่อเปลี่ยนประมุข”

แต่ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯให้วันที่ ๕ ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยังคงเป็นวันพ่อแห่งชาติ และวันชาติ ต่อไป

ทั้งนี้ วันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปีถือว่าเป็น “วันพ่อแห่งชาติ” ด้วย โดยเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๓ เนื่องจาก “พ่อ” เป็นบุคคลผู้มีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและสังคม ควรที่ผู้เป็นลูกและสังคมจะเคารพเทิดทูนและตอบแทนพระคุณด้วยความกตัญญู จึงถือเอาวันที่ ๕ ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็น “วันพ่อแห่งชาติ

สำนักนายกรัฐมนตรีจึงได้ออกประกาศเรื่อง กำหนดวันสำคัญของชาติไทย เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ว่า

การกำหนดให้วันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสำคัญของชาติไทยดังนี้

๑. เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
๒. เป็นวันชาติ
๓. เป็นวันพ่อแห่งชาติ
โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ เป็นต้นไป

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับสนองพระราชโองการ


กำลังโหลดความคิดเห็น