ชายรายหนึ่งโพสต์อาลัย "คู ฮารา" พร้อมบอก หลังเที่ยงคืนถึงคิวผม สุดท้ายเสียชีวิตจริง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากคอมเมนต์ ยุยง ท้าทาย ของชาวเน็ต ทำให้เพจดัง "Drama-addict" ออกมาโพสต์ข้อความเตือนชาวเน็ต เลิกพฤติกรรมยุยงผู้ที่มีความคิดจะฆ่าตัวเองเสียที
จากเหตุการณ์ ช็อกวงการ K-Pop เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบศพของ "คู ฮารา" อดีตสมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ป Kara ที่บ้านพักของเธอในกรุงโซล เมื่อเวลาประมาณ 6 โมงเย็นตามเวลาท้องถิ่น ของวันที่ 24 พ.ย. ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเศร้าเสียใจให้กับบรรดาแฟนคลับเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ได้มีชายรายหนึ่งเข้าไปโพสต์ข้อความแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของศิลปินสาว แต่ สิ่งที่ทำให้ชาวเน็ตรู้สึกเป็นกังวลนั้นคือ ข้อความต่อมาของชายหนุ่มที่ระบุว่า "หลังเที่ยงคืนนี้ คือคิวของผม" ซึ่งทำให้ชาวเน็ตต่างเข้ามาคอมเมนต์ให้กำลังใจชายรายนี้เป็นจำนวนมาก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ได้มีชาวเน็ตอีกกลุ่มหนึ่งแสดงความคิดเห็นยุยง ท้าทาย ให้ชายหนุ่งรายนี้ฆ่าตัวตายจริง สุดท้าย ชายหนุ่มรายดังกล่าวตัดสินใจปลิดชีวิตของตนเองลง จนกลายเป็นเหตุสะเทือนใจในโลก โซเชียลเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ ได้มีหลายเพจออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเพจ "Drama-addict" ได้ออกมาระบุข้อความว่า
"วันก่อน ตอนคูฮาราเสียชีวิต สื่อก็นำเสนอข่าวนี้ทีนี้มีชายคนนึงไปเมนต์ในเพจของสื่อ พูดทำนองว่า เขาจะฆ่าตัวตายชาวเน็ทหลายๆคนก็มาช่วยกันให้กำลังใจเขา แต่มีชาวเน็ทกลุ่มนึงเยอะมาก เข้าไปท้าทายเขา ยุเขา ให้ลงมือทำจริงๆตอนนี้เขาเสียชีวิตไปแล้ว ชาวเน็ตที่ไปยุเขา ไปท้าทายเขารู้สึกยังไงกันบ้างครับ
อย่างที่ย้ำกันหลายหน เลิกค่านิยมไปยุคนที่ส่งสัญญาณฆ่าตัวตายในเน็ทได้แล้ว
มันไม่ช่วยให้เขาหยุด หรือล้มเลิกหรอก อาจยิ่งเร่งให้ไวขึ้นด้วยซ้ำถ้าเจอคนที่ส่งสัญญาณฆ่าตัวตายในเน็ท สิ่งแรกที่ควรทำ คือรีบทักไปคุยให้เขาระบายเรื่องที่อัดอั้น หรือติดต่อเพื่อนหรือญาติ ครอบครัวเขาให้รีบไปช่วยเหลือ"
ก่อนหน้านี้ เพจ "Gunnaphon Peter Anamnart" ได้เคยออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะการฆ่าตัวตายเลียนแบบ ไว้อย่างน่าสนใจไว้ว่า "เราควรต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้นมีระดับสารสื่อประสาทในสมองที่ผิดปกติและเสียสมดุล ทำให้การรู้สติ จิตสำนึก การยับยั้งชั่งใจ บกพร่องในหลายๆสถานการณ์ จนนำไปสู่เหตุการณ์อันไม่คาดคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีสิ่งมากระตุ้น อาทิ ช่วงสอบ สภาพอากาศ คำพูดบางคำ หรือสิ่งแวดล้อมอื่นๆ และผู้ป่วยซึมเศร้าเป็นคนที่อ่อนไหวง่าย แต่ไม่ใช่อ่อนแอ เพราะฉะนั้นคำพูดที่ธรรมดาสำหรับเราอาจจะมีผลต่อผู้ป่วยบางคนก็ได้ แม้กระทั่งแค่อ่านข่าวเหล่านี้ก็เช่นกัน และผู้ป่วยที่ป่วยเป็นซึมเศร้าจริงๆนั้น ไม่ได้แกล้งทำ ไม่ได้เรียกร้องความสนใจ ไม่ได้ถูกเลี้ยงมาแบบสปอยล์
และสิ่งที่ช่วยประคองอาการ อารมณ์นอกเหนือจากการรักษาด้วยยา คือ บุคคลรอบข้างและสิ่งแวดล้อม ที่เอื้ออำนวยในการทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ไม่ให้จดจ่อกับตัวเอง มีเวลาคิดมากคิดวนไปวนมาเรื่องเศร้า แต่ได้ทำกิจกรรมที่ตนชอบ ในสังคม เพื่อลดอาการเศร้าห่อเหี่ยว และป้องกันภาวะเศร้าเฉียบพลันให้มากที่สุดในระหว่างการรักษา
เพราะฉะนั้นหากเป็นไปได้ จึงควรงดเว้นการไล่ผู้ป่วยไปสวดมนต์ ทำสมาธิ การไปถือศีล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัดในที่เงียบๆ ในที่ที่ไม่ค่อยมีคน เพราะจะทำให้ผู้ป่วยมีเวลาอยู่กับตัวเองและคิดมากไป รวมถึงไม่มีคนดูแลช่วยเหลือหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น
และฝากไปถึงสื่อด้วยนะครับ ถ้ายังมีจรรยาบรรณและความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่ ก็ขอให้ทำข่าวอยู่ในขอบเขตที่ควรจะเป็น ไม่ใช่ไปขุดชื่อนามสกุล อายุ ที่อยู่ คณะ ชั้นปี ประวัติการรักษาออกมาหมด แม้ประเทศเราจะยังไม่มีกฎหมายหรือธรรมเนียมในเรื่องการรายงานข่าวการฆ่าตัวตายหรือการป้องกันการฆ่าตัวตายเลียนแบบเหล่านี้ก็ตาม"