ไบโอไทยวิเคราะห์ 5 สาเหตุกรมวิชาการเกษตรส่อยืดเวลาแบน 3 สารเคมีออกไปอีก 6 เดือน จากปัญหาเทคนิค ต้องผ่านขั้นตอน กก.วัตุอันตรายอีกรอบและส่งกฤษฎีกาไม่ทัน 1 ธ.ค. ทั้งต้องรายงาน WTO ก่อน และต้องใช้เวลาเรียกคืนผลิตภัณฑ์จากเกษตรกรและร้านค้า เตือน ก.เกษตร-ก.อุตสาหกรรม อย่าเอาความล่าช้าไปอ้างทบทวนมติการแบน
วันนี้ (23 พ.ย.) เฟซบุ๊กแฟนเพจ BIOTHAI ของมูลนิธิชีววิถี โพสต์ข้อความว่า จากรายงานข่าวของสื่อมวลชน มีแนวโน้มว่ากระทรวงเกษตรจะเลื่อนการแบนให้มีผลในอีก 6 เดือนข้างหน้า ไม่ทันกำหนดการที่กรรมการวัตถุอันตรายลงมติว่าจะเริ่มแบนในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 นี้
หากวิเคราะห์แล้ว ข้อเสนอเลื่อนนี้เกิดขึ้นจาก
1) ปัญหาเทคนิค เนื่องจากเมื่อมีการนำประกาศมติเพื่อรับความคิดเห็นแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมต้องนำร่างประกาศดังกล่าวให้กรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาในวันที่ 27 ธันวาคม 2562 และจากนั้นต้องส่งให้กฤษฎีกาพิจารณา ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งไม่น่าจะทันกำหนดการเดิม
2) ระเบียบความตกลงระหว่างประเทศ ที่กำหนดให้ประเทศที่แบนการใช้สารพิษหรือระเบียบที่อาจตีความได้ว่าเป็นการกีดกันทางการค้าต้องส่ง notification ต่อ WTO ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการดำเนินการ ตามระเบียบกำหนดให้ส่งภายใน 60 วัน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการ
ประเด็นนี้กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสัตว์บางบริษัท ซึ่งมีผลประโยชน์จากการขายสารพิษและต้องการผลักดันพันธุ์พืดัดแปลงพันธุกรรมต้านทานไกลโฟเซตพยายามใช้เป็นเหตุผลในการขอให้รัฐบาลทบทวนการแบนซึ่งเป็นคนละเรื่องเดียวกัน การแบนสารพิษเพื่อปกป้องเกษตรกรแต่ละประเทศทำได้อย่างเต็มที่ ภายใต้การใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รองรับ
ส่วนกรณีที่อุตสาหกรรมอาหารและประเทศส่งออกเรียกร้องให้คงระดับหรือกำหนดค่า MRL (Maximum Residue Limits) นั้นเป็นอีกประเด็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปจัดการ ดังข้อเรียกร้องของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่เห็นด้วยกับการแบนแต่ขอให้รัฐบาลผ่อนปรนการกำหนดค่า MRL
3) ความไม่พร้อมของกระทรวงเกษตรฯ ในการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ซึ่งอยู่ในมือเกษตรกรและร้านค้า ซึ่งควรมีระยะเวลาที่เหมาะสมในการจัดการ การที่ประกาศการยกระดับจากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นชนิดที่ 4 ซึ่งยังไม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถึงแม้กรมวิชาการจะมีประกาศกรมฯเพื่อเตรียมการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้วก็ตาม แต่ก็น่าจะสั้นเกินไปที่จะดำเนินการได้ทัน
4) บริษัทเอกชนและร้านค้าไม่ต้องการรับภาระในการจัดการผลิตภัณฑ์ในสต๊อค การเลื่อนออกไป 6 เดือน จะอยู่ในช่วงการเริ่มต้นฤดูการเพาะปลูกใหม่ ทำให้สต๊อคประมาณ 40,000 ตันสามารถผ่องถ่ายไปยังเกษตรกรได้
5) มีระยะเวลาเพียงพอสำหรับเกษตรกรที่ต้องปรับเปลี่ยนเตรียมการสำหรับการหาวิธีการทดแทน เช่นเดียวกับ กระทรวงเกษตรฯเองก็มีเวลามากขึ้นในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ แนะนำ วิธีการทดแทน ตลอดจนมาตรการสนับสนุนที่ชัดเจน
ที่สำคัญที่สุดกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องไม่นำความล่าช้านี้สร้างความคลุมเครือ และถูกนำไปอ้างเป็นเหตุผลให้มีการทบทวนมติการแบน ไม่ว่าจะโดยหน่วยงานของรัฐ กลุ่มบริษัทสารเคมี อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ หรือกลุ่มคัดค้านการแบนกลุ่มใดก็ตามเป็นอันขาด เพราะ 75% ของประชาชนทั้งประเทศ (จากการสำรวจของสวนดุสิตโพล) ที่สนับสนุนการแบนและต้องการระบบเกษตรกรรมและอาหารที่ปลอดภัยกว่านี้กำลังเฝ้าจับตาเรื่องนี้อยู่อย่างไม่กระพริบตา เช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีมติร่วมกันสนับสนุนรายงานและข้อเสนอแนะของกรรมาธิการวิสามัญฯ ด้วยเสียงท่วมท้น 423 ต่อ 0 สนับสนุนการแบน 3 สารพิษ และเดินหน้าประเทศไทยสู่ประเทศเกษตรกรรมอินทรีย์/ยั่งยืน 100%