xs
xsm
sm
md
lg

"ไอติม" ชี้ ปชช.ควรมีสิทธิแสดงความเห็นต่อคำตัดสินของศาลอย่าง "เสรี - เป็นธรรม"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายพริษฐ์ วัชรสินธุ (ภาพจากแฟ้ม)
"ไอติม" โพสต์หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน "ธนาธร" พ้นเก้าอี้ ส.ส. ชี้ประชาชนควรมีสิทธิแสดงความเห็นต่อคำตัดสินของศาลอย่าง “เสรี” และ “เป็นธรรม” หวังความรวดเร็วในกระบวนการยุติธรรมแบบครั้งนี้จะถูกนำไปใช้กับทุกฝ่าย เชื่อเหตุที่สังคมแคลงใจ เพราะสภาพแวดล้อมภายใต้กติกาที่ไม่เป็นกลาง ยิ่งกลับเข้าสู่กติกาที่เป็นกลางช้าเท่าไหร่ คำถามต่อกระบวนการยุติธรรมก็จะยิ่งมากขึ้น

วันนี้ (20 พ.ย.) ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 วินิจฉัยว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ยังถือหุ้น วี-ลัค จนถึงวันสมัครเลือกตั้ง จึงมีลักษณะต้องห้าม ให้พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ตั้งแต่ 23 พ.ค. 62

ล่าสุด นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า ....

หลายคนคงมีความรู้สึกที่แตกต่างกันไปเกี่ยวกับคำพิพากษาวันนี้ ผมขอไม่แสดงความเห็นเป็นการเฉพาะ เพราะผมเชื่อว่าทุกคนใช้วิจารณญาณตัดสินกันเองได้ ผมมีเพียง 3 ประเด็นเกี่ยวกับภาพรวมของสังคมไทยที่เห็น ณ ปัจจุบัน

1. ประชาชนควรมีสิทธิในการแสดงความเห็นต่อคำตัดสินของศาลอย่าง “เสรี” และ “เป็นธรรม” - ซึ่งหมายถึง “เสรีภาพ” ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยไม่ถูกปิดกั้น ตราบใดที่ความเห็นนั้นถูกนำเสนออย่าง “เป็นธรรม” บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ข้อมูล และ เหตุผล ที่ปราศจากความชอบหรืออคติที่เราอาจมีเกี่ยวกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง

2. ความรวดเร็วในกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องสำคัญ - ต้องยอมรับว่ากระบวนการการตัดสินครั้งนี้มีความว่องไวและรวดเร็ว เราเพียงแต่หวังว่าความรวดเร็วของกรณีนี้เมื่อเทียบกับกรณีอื่น สะท้อนถึงมาตรฐานการทำงานที่ว่องไวขึ้น และจะถูกนำไปปฏิบัติสำหรับทุกกรณีและทุกฝ่าย ไม่ใช่เป็นมาตรฐานพิเศษที่เกิดจากปัจจัยแอบแฝงทางการเมือง

3. คำตัดสินถูกผิดเป็นเรื่องของข้อกฎหมาย (ซึ่งอาจแตกต่างจากความถูกผิดโดยเจตนา) แต่การที่คนในสังคมตั้งคำถามเยอะกว่าปกติ เป็นเพราะสภาพแวดล้อมของการอยู่ภายใต้กติกาที่ไม่เป็นกลาง ที่ปรากฎออกมาในหลายครั้ง (ในหลายกรณีอื่นๆ) ซึ่งส่งผลให้บางคนอาจแคลงใจกับคำตัดสินครั้งนี้เป็นพิเศษ (ไม่ว่าจะฝักใฝ่ฝ่ายไหนในทางการเมือง) - ยิ่งเรากลับเข้าสู่ระบบที่กติกาเป็นกลางช้าเท่าไหร่ คำถามที่คนตั้งกับกระบวนการยุติธรรมก็จะมีมากขึ้น ความศรัทธาของทุกคนในกระบวนการยุติธรรมก็จะยังไม่สมบูรณ์แบบเท่าที่ควรจะเป็นในระบอบประชาธิปไตย

ไม่ว่าเราจะยืนอยู่ตรงจุดไหนทางการเมือง จะชื่นชอบฝักใฝ่ฝ่ายไหน ผมคิดว่าเราทุกคนต้องการเห็นระบบที่ทุกฝ่ายแข่งขันกันได้บนมาตรฐานเดียวกัน และบนกติกาที่ทุกคนมีความเชื่อและความศรัทธาอย่างถ่องแท้ในความเป็นกลาง




กำลังโหลดความคิดเห็น