เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๔ หลวงพ่ออุตตมะได้สั่งช่างที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า แกะสลักพระพุทธรูปหินอ่อนองค์หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๕ ศอก ซึ่งจะหนักถึง ๕ ตัน ลักษณะเหมือนพระพุทธชินราชที่จังหวัดพิษณุโลก โดยส่งรูปพระพุทธชินราชไปให้ดูเป็นตัวอย่าง ที่ต้องใช้ช่างเมืองมัณฑะเลย์ ก็เพราะที่เมืองนี้มีภูเขาหินอ่อนสีขาว คุณภาพดี โดยตกลงราคากันเป็นทอง เพราะไม่สะดวกจะเทียบอัตราระหว่างเงินไทยกับพม่า ซึ่งขณะนั้นทองมีราคาบาทละ ๔๕๐ บาท แบ่งจ่ายเป็น ๓ งวด โดยงวดแรกจ่ายเมื่อเริ่มสร้างจ่ายทองหนัก ๑๐ บาท งวดที่ ๒ จ่ายเมื่อลงมิอไปแล้ว ๑ ปี อีก ๕ บาท จนเมื่อเสร็จเรียบร้อยจึงจ่ายให้อีก ๑๐ บาท
พระพุทธรูปที่สั่งทำเสร็จในเดือนเมษายน ๒๕๑๕ แต่ถูกรัฐบาลพม่าสั่งห้ามเคลื่อนย้ายและตรวจสอบหาเจ้าของ หลวงพ่ออุตตมะจึงติดต่อพระในพม่าซึ่งเป็นลูกศิษย์ให้ช่วย เพราะหลายองค์ก็เป็นพระผู้ใหญ่เป็นที่เกรงใจของรัฐบาล ลูกศิษย์ของท่านไปติดต่อทั้งกรมการศาสนาและแม่ทัพ บอกแต่ว่าจะส่งไปให้หลวงพ่ออุตตมะ แต่ไม่ได้บอกว่าจะส่งไปเมืองไทย แม่ทัพจึงบอกให้หลวงพ่ออุตตมะทำหนังสือแจ้งมาว่าวัดอยู่ที่ไหน เรื่องนี้ได้ขึ้นไปถึง อูนุ นายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกฯอูนุเป็นผู้เคร่งในพุทธศาสนาและรู้จักหลวงพ่อดี อีกทั้งมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับรัฐบาลไทย จึงอนุญาตให้ส่งพระพุทธรูปมาให้หลวงพ่อที่เมืองไทยได้
เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่และหนักมาก การขนส่งทางเส้นทางปกติคงจะมีปัญหามาก หลวงพ่อจึงเห็นว่าน่าจะใช้เส้นทางป่า โดยใช้ถนนจากเมืองมัณฑะเลย์มาเมืองมะละแหม่ง แล้วตัดตรงมาด่านเจดีย์สามองค์ แต่เส้นทางนี้ยังไม่มีถนน ทั้งยังอยู่ในย่านที่มีกองกำลังติดอาวุธของขบวนการกู้ชาติมอญและกะเหรี่ยง พระพุทธรูปจึงติดอยู้ที่เมืองมะละแหม่งจนถึง พ.ศ.๒๕๑๗
พอออกพรรษาหมดฝนแล้ว หลวงพ่อจึงปรึกษามอญกู้ชาติ ให้ช่วยกรุยทางพอรถสิบล้อหรือรถลากไม้ไปได้ เพื่อขนส่งพระพุทธรูปมาที่ด่านเจดีย์สามองค์ มอญกู้ชาติปฏิเสธว่าไม่สามารถทำได้ เพราะต้องผ่านเขตอิทธิพลของกองกำลังกู้ชาติกะเหรี่ยง
หลวงพ่อจึงเรียก ซวยชัย รองหัวหน้ากะเหรี่ยงกู้ชาติที่เป็นรองนายพลโบเมี๊ยะมาพบ รองหัวหน้ากะเหรี่ยงก็ว่า เส้นทางนี้ต้องผ่านหมู่บ้านกะเหรี่ยงถึง ๙ แห่ง ซึ่งล้วนเป็นหมู่บ้านเก่า มีต้นไม้ใหญ่ตัดไม่ได้อยู่มาก ที่สำคัญยังมีหมู่บ้านกะเหรี่ยงคริสต์อีกหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งเป็นคนละพวกเพราะไม่ได้นับถือพุทธ คือหมู่บ้านกอสุเล
หลวงพ่อจึงเชิญหัวหน้าหมู่บ้านกอสุเลมาขอความช่วยเหลือเรื่องทำถนน หัวหน้ากะเหรี่ยงคริสต์บอกว่าถ้าเป็นถนนของหลวงพ่อไม่มีปัญหา เขายินดีถวายชีวิตทำให้ ขอแต่ให้รอน้ำในแม่น้ำลดก่อน
หลังจากนั้นไม่นาน พอน้ำลดหัวหน้าหมู่บ้านกะเฟรี่ยงคริสต์ก็เรียกประชุมลูกบ้านราว ๕๐๐ คน สั่งให้ทำถนนโดยแบ่งความรับผิดชอบเป็นเขตๆไป มีหัวหน้าดูแลแต่ละเขต ถนนผ่านไปที่ใดก็ให้ตัดต้นไม้ได้ เพราะถือว่าเป็นถนนพระพุทธ ภายในเดือนเดียวก็ตัดถนนจากถ้ำพระที่มะละแหม่งมาถึงด่านเจดีย์สามองค์ ชาวบ้านก็เข้าช่วยขุดตอไม้จนราบเรียบด้วยความศรัทธาหลวงพ่ออุตตมะ ทำเอาชาวมะละแหม่งทึ่งไปตามกัน และเมื่อไปถามชาวกอสุเลว่าเขานับถือคริสต์ เหตุใดจึงไหว้หลวงพ่ออุตตมะ ชาวกอสุเลก็บอกว่าเขาไหว้ผู้มีพระคุณ
เมื่อถนนเสร็จหลวงพ่อก็ยกพลไปอัญเชิญพระพุทธรูปมาวัดวังก์วิเวการาม มีทั้งมอญและกะเหรี่ยงร่วมขบวนไปมาก มีผู้ศรัทธานำรถสิบล้อมาช่วยขนบุกป่าด้วยศรัทธา ๒ คัน หลวงพ่อขอให้ซวยชัยช่วยดูแลขบวนอัญเชิญพระพุทธรูปไปจนถึงด่านเจดีย์สามองค์ให้ด้วย กองกำลังกระเหรี่ยงพุทธก็มาอารักขา ชาวกอสุเลก็สมทบไปด้วย เดินทางกันทั้งวันทั้งคืนไม่พัก จนมาถึงด่านเจดีย์สามองค์เช้าพอดี
พระพุทธรูปหินอ่อนที่หลวงพ่ออุตตมะสั่งทำ โดยมีจุดประสงค์จะนำมาเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดวังก์วิเวการามนั้น ก็ไม่ได้เข้าไปอยู่ในโบสถ์ตามตั้งใจไว้ เพราะขณะนั้นในโบสถ์มีพระประธานที่เจ้าคุณพระธรรมโกศาจารย์อัญเชิญมาให้แล้ว จึงไปสร้างวิหารให้ประดิษฐาน ซึ่งพระพุทธรูปหินอ่อนองค์นี้ ก็คือพระพุทธรูปที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อขาว” พระประธานในวิหารวัดวังก์วิเวการามในปัจจุบัน