“อิ๊นซ์ ชมพิ้งค์” จิรภัทร ตรงจิตต์รักษา นิสิตข้ามเพศ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ภาพประกาศของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ออกประกาศเรื่องการแต่งกายของนิสิต พ.ศ. 2562 ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญในระเบียบทั้งหมด 7 ข้อ ลงนามโดย ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2562
จากที่นิสิตหญิงข้ามเพศจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมตัวเรียกร้องขอแต่งกายตามเพศสภาพ และร้องเรียนให้มีการสอบสวนอาจารย์ผู้สอนท่านหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ให้นิสิตเข้าเรียน เพราะไม่แต่งกายชุดนิสิตตามเพศกำเนิดและถูกเหยียดเพศตลอดการสอน เมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา
โดยหลังจากเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2561 อิ๊นซ์ ชมพิ้งค์ ถูกอาจารย์ผู้สอนท่านหนึ่งปฏิเสธไม่ให้เข้าเรียนเนื่องจากไม่แต่งกายชุดนิสิตตามเพศกำเนิดและถูกเหยียดเพศตลอดการสอน จากนั้นเธอเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงร้องเรียนต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ซึ่งมีบทบาทและอำนาจเสมือนตุลาการตาม พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ พ.ศ. 2558 จนนำมาซึ่งคำสั่งคุ้มครองนิสิตหญิงข้ามเพศคนดังกล่าวมาก่อนหน้า
ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา จุฬาฯ ได้มีหนังสือลงประกาศไว้วันที่ 7 พ.ย. 2562 เรื่องการแต่งกายของนิสิต พ.ศ.2562 มีเนื้อหาสำคัญในระเบียบทั้งหมด 7 ข้อว่า “นิสิตอาจแต่งเครื่องแบบตามเพศกำเนิดหรือเพศที่แสดงออกก็ได้ นิสิตอาจแต่งชุดสุภาพตามเพศกำเนิดหรือเพศที่แสดงออกก็ได้” ลงนามโดย ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ
หลังจากจุฬาฯ ได้ออกประกาศดังกล่าว นิสิตข้ามเพศ จุฬาฯ รายหนึ่งได้โพสต์เฟซบุ๊กขอบคุณผู้มีส่วนร่วมผลักดันสิทธิฯ เพื่อความหลากหลายทางเพศทั้งหมด ที่ช่วยนิสิตข้ามเพศทุกคนได้รับความเท่าเทียมในการแสดงออกทางเพศสภาพ ที่สอดรับกับ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ทั้งบัณฑิตหญิงข้ามเพศคนแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วลพ. นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ครอบครัว รวมถึง บุคลากร และฝ่ายบริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ร่วมผลักดันทำให้เกิดความเท่าเทียมขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัย