xs
xsm
sm
md
lg

“ปริญญ์ พานิชภักดิ์” เตือนอย่าตอบโต้แรงสหรัฐฯ ตัด GSP มั่นใจเจรจาได้ ยันไม่เกี่ยวแบนสารพิษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ปริญญ์ พานิชภักดิ์” เชื่อสหรัฐฯ กดดันไทยนำเข้าเนื้อหมูเป็นสาเหตุหลักตัดสิทธิ GSP แต่ยกเรื่องแรงงานมาอ้าง ยันไม่เกี่ยวแบน 3 สารพิษ มั่นใจเจรจาจะได้สิทธิกลับคืนมาในบางรายการ แต่ให้ปรับกฎหมายแรงงานตามข้อเรียกร้องคงทำไม่ได้เพราะกระทบธุรกิจ เตือนต้องระวังความสัมพันธ์ อย่าตื่นตูมตอบโต้รุนแรง



วันนี้ (29 ต.ค.) นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ คณะทำงานรองนายกรัฐมนตรี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “แก้เกมสหรัฐฯ ตัด GSP ไทย”

โดยนายปริญญ์กล่าวว่า อุปทูตบอกว่าความสัมพันธ์ไทยอเมริกาดีขึ้นเป็นเรื่องจริง หลายคนไม่เชื่อกังวลว่ารองนายกฯไปเยี่ยมหัวเว่ยมาทำให้อเมริกาเขม่น หรือแบน 3 สารพิษ อย่ากังวลมันไม่เกี่ยวข้องแน่นอน ความสัมพันธ์เราดีขึ้นมากกว่าช่วงยุคบารัค โอบามา ซึ่งตอนนั้นไม่ต้อนรับรัฐบาลไทย

เรื่องที่ค้างคาใจ คือ ไทยเกินดุลสหรัฐฯ เยอะ เขาพูดคุยเรื่องให้เรานำเข้าเนื้อสุกรจากอเมริกา ซึ่งหลายที่มีสารเร่งเนื้อแดง แต่ไทยไม่ทำตามซึ่งทำถูกแล้วที่ไม่ให้เขาตรงนี้ แต่เขายังไม่หยิบมาเป็นสาเหตุตัด GSP เลยยกเรื่องแรงงานมาก่อน

นายปริญญ์กล่าวอีกว่า สิทธิ GSP ที่ 571 รายการ เราสามารถเจรจาพูดคุยขอคืนสิทธิบางส่วนได้ นี่ไม่ใช่การกีดกันทางการค้า เพราะเป็นสิทธิพิเศษที่เขาให้เราฝ่ายเดียว เรายังนำเข้าสินค้าไปขายประเทศเขาได้ มูลค่าสินค้า 571 รายการ ประมาณ 4 หมื่นกว่าล้านบาท ที่เราโดนภาษีแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ มากสุดก็ 1,800 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้สินค้าแพงขึ้น แต่ก็ยังขายได้ถ้าสามารถพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้นได้หรือสร้างแบรนด์ แต่สินค้าบางชนิด เช่น เครื่องตกแต่งห้องครัว โต๊ะอาหาร โดนไป 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ อันนั้นอาจมีผลกระทบจริง ส่วนปิโตรเคมีโดนแค่ 0.2 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ แล้วแต่ตัวสินค้าว่าอันไหนโดนหนักโดนเบา เชื่อว่าไม่ใช่การกีดกันทางด้านการแข่งขัน ถ้าจะกีดกันมีมาตรการหลายอย่างมากแบบที่ทำกับจีน

แล้วที่ออกมาในช่วงจังหวะแบน 3 สารพิษ ส่วนหนึ่งก็มาจากกลุ่มล็อบบี้ยิสต์ที่ไม่อยากให้เราแบน ก็ไปบีบให้อเมริกาเร่งออกหนังสือที่ตอบโต้การแบน โดยรู้อยู่แล้วว่าในช่วงจังหวะนี้ที่จะมีการตัดสิทธิ GSP ระยะเวลามันเลยดูพอดีๆ กัน

นายปริญญ์กล่าวด้วยว่า จริงๆ เราต้องทบทวนสิทธิพิเศษที่ให้เขาเหมือนกัน เช่น ให้สิทธิบริษัทอเมริกาในการถือหุ้นใหญ่ มีสิทธิจ้างงาน หรือการให้เช่าสถานทูตสหรัฐฯ ในราคาที่ถูกมาก เราทบทวนและพูดคุยกันได้ ส่วนเรื่องเปลี่ยนกฎหมายแรงงาน อเมริกาเรียกร้องบางอย่างที่เขายังไม่ทำเราไม่ต้องยอมขนาดนั้น แต่เราจะเจรจาต่อรองให้ดีที่สุด เพื่อให้ได้สิทธิ GSP กลับมาในบางรายการ คงไม่ได้ทั้งหมด แต่ปรับกฎหมายแรงงานคงไม่ทำ บางทีถ้าให้แรงงานต่างด้าวมีอำนาจต่อรองมากขึ้น อาจกระทบการประกอบธุรกิจเราเอง

นายปริญญ์กล่าวทิ้งท้ายว่า อย่าตื่นตูม เห็นหลายสื่อหลายคนวิเคราะห์ไปในเชิงตอบโต้รุนแรง เราต้องระวังเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ต้องบาลานซ์ให้ดีระหว่างจีนกับอเมริกา ไทยไม่ควรสร้างศัตรูกับใคร ไม่ต้องยอมถึงขั้นปรับกฎหมายแรงงาน แต่ก็ไม่ต้องก้าวร้าวกลับ


กำลังโหลดความคิดเห็น