xs
xsm
sm
md
lg

เชิญชวนร่วม “ดินเนอร์สายน้ำเพื่อโรงพยาบาลแสงอาทิตย์” เมื่อรอรัฐบาลไม่ได้ ปชช.ต้องระดมทุนเองเพื่อพลังงานมั่นคง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“หม่อมหลวงกร-รสนา-บุญยืน” เชิญชวนร่วมงาน “ดินเนอร์สายน้ำเพื่อโรงพยาบาลแสงอาทิตย์” 2 พ.ย.นี้ เพื่อระดมทุนนำร่องติดตั้งโซลาร์รูฟให้โรงพยาบาลอีก 2 แห่งให้ครบ 7 แห่งตามเป้าหมาย ชี้เป็นความมั่นคงทางพลังงานอย่างแท้จริง ซึ่งรัฐบาลมองข้ามมาตลอด ขนาดประกาศรับซื้อไฟยังให้ราคาต่ำกว่าทุน ลั่นหากรอรัฐบาลสนับสนุนชาตินี้คงไม่มีโอกาสได้เห็น



วันนี้ (28 ต.ค.) หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผอ.ศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ อดีต สปช.ด้านพลังงาน และ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม อดีต ส.ว.สมุทรสงคราม และนายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ร่วมพูดคุยในรายการ “คนเคาะข่าว” เพื่อเชิญชวนประชาชนร่วมงาน “ดินเนอร์สายน้ำเพื่อโรงพยาบาลแสงอาทิตย์” เพื่อระดมทุนติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ให้กับโรงพยาบาลท่าสองยาง จังหวัดตาก และโรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี โดยจะมีขึ้นในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 ราคาบัตรใบละ 2,000 บาท ลงทะเบียนที่ท่าเรือเอเชียทีค เวลา 16.00-16.40 น. ขึ้นเรือเวลา 17.00 น.

โดย น.ส.รสนากล่าวถึงที่มาของการจัดระดมทุนครั้งนี้ว่า การติดตั้งโซลาร์รูฟให้โรงพยาบาล 7 แห่ง เริ่มจากที่สมัยตนเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ มีการเสนอปฏิรูปพลังงานด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์รูฟ เพื่อผลิตและขายไฟให้รัฐบาล ตอนนั้นปี 2558 จนถึงตอนนี้ Net Metering ก็ยังไม่มีการทำจริงจัง Net Metering คือการที่สมมติประชาชนผลิตไฟฟ้าได้ 100 หน่วย ใช้ 150 หน่วย ก็จ่ายแค่ส่วนที่เกินมา 50 หน่วย แต่ถ้าผลิตได้ 100 หน่วยแล้วใช้แค่ 50 หน่วย ก็ขายที่เหลือ 50 หน่วยให้รัฐบาล แต่รัฐบาลเพิ่งมาประกาศปีนี้ว่าจะซื้อไฟจากประชาชนแค่หน่วยละ 1.68 บาท ขณะที่เราซื้อไฟประมาณหน่วยละ 4 บาท ไม่เป็นแรงจูงใจเลย เราจึงคุยกันตั้งแต่ปีที่แล้วว่าไม่ต้องรอรัฐแล้ว เลยระดมทุนจากประชาชนเอง โดยติดตั้งให้โรงพยาบาลก่อนเพราะส่วนใหญ่ใช้ไฟเยอะมาก เดือนละประมาณ 2 ล้านบาท พอติดโซลาร์รูฟให้จำนวน 30 กิโลวัตต์ สามารถประหยัดไฟได้ 1.2-1.5 หมื่นบาทต่อเดือน โดยที่ผ่านมาติดตั้งให้โรงพยาบาล 5 แห่งแล้ว เหลืออีก 2 แห่งที่จะมาระดมทุนในครั้งนี้

แล้วปัจจุบันการติดตั้งถูกลงเรื่อยๆ คุณภาพดีขึ้นด้วย เวลาติดตั้งมีการเปิดประมูลอย่างโปร่งใส นี่คือการทำบุญร่วมกัน การติดตั้งครั้งหนึ่งอยู่ได้ 25 ปี พอลดค่าใช้จ่ายค่าไฟได้ โรงพยาบาลก็สามารถนำเงินไปพัฒนาส่วนอื่น ๆ เพื่อผู้ป่วยได้ ถือเป็นการทำบุญ จึงอยากเชิญมาร่วมทำบุญกัน

ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าวว่า พลังงานแสงอาทิตย์เมื่อเทียบกับต่างประเทศเราเริ่มช้าไป เขาทำกันไปแล้ว 66 ประเทศ ของไทยไม่ใช่ติดขัดเชิงเทคนิค แต่ติดขัดที่กรอบความคิดมากกว่า รัฐยังคิดว่าพลังงานต้องรวมศูนย์ พวกจิ๊บจ๊อยไม่ทำ ซึ่งความจริงพลังงานยุคใหม่ต้องกระจายศูนย์แล้วจะมั่นคงกว่า นโยบายรัฐมีปัญหา

หลายคนบอกราคาแพง เป็นเรื่องโบราณ ปัจจุบันพลังงานแสงอาทิตย์กับลมถูกที่สุด ถ่านหินแพงสุด ต้นทุนการติดตั้งก็ถูกลงหมดแล้วและมีแนวโน้มถูกลงเรื่อย ๆ แต่ใยภาคประชาชนต้องมาผลักดันกันเอง

น.ส.รสนากล่าวเสริมว่า เรานำร่องให้โรงพยาบาลไปก่อน ซึ่งถ้าเห็นว่าได้ผลดีโรงพยาบาลก็จะระดมทุนเพื่อติดตั้งเพิ่มได้อีก เราระดมทุนจากประชาชนไม่ได้สปอนเซอร์จากใครเลย ซึ่งโรงบาลหลายแห่งสนใจมากที่จะระดมทุนต่อเพื่อเพิ่มจำนวนกิโลวัตต์

ด้าน น.ส.บุญยืนกล่าวว่า โรงพยาบาลหลังสวน ภาคใต้แดดน้อย แต่ได้ไฟเกินคาดหมาย พิสูจน์แล้วว่าไม่ต้องแดดมากก็ใช้ได้ ส่วนโรงพยาบาลที่อุบลฯลดค่าไฟได้เดือนละ 2.4 หมื่นบาท มันสามารถลดค่าไฟได้จริง แล้วยังช่วยในช่วงพีคที่ค่าไฟสูงสุดได้ด้วย ให้ค่าไฟคงอยู่ในระดับกลางๆ ซึ่งถ้าเรารอให้รัฐสนับสนุนชาตินี้คงไม่ได้เห็น



กำลังโหลดความคิดเห็น