การเสียชีวิตของ “แป๋ง-ปิยะ อังกินันทน์” ด้วยวัย 86 ปี ที่โรงพยาบาลกรุงเทพเพชรบุรี เมื่อเวลา 09.17 น. วันนี้ (25 ก.ย.) เป็นการปิดฉาก “เจ้าพ่อเมืองเพชร” ที่โลดโผนโจนทะยานตั้งแต่นักเลงหัวไม้ สู่สนามการเมืองในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมานานหลายสมัย อะไรที่ทำให้แป๋งกลายเป็นขวัญใจคนเมืองเพชรมาอย่างยาวนาน
...รายงาน
อ่านประกอบ : ปิดฉากเจ้าพ่อตะวันตก “ปิยะ อังกินันทน์” ด้วยวัย 86 ปี
นายปิยะ อังกินันทน์ เกิดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2476 เป็นบุตรของนายผาด อังกินันทน์ ทายาทขุนอังกินันทนพงศ์ (พุ่ม อังกินันทน์) ทนายความที่มีชื่อเสียงในจังหวัดเพชรบุรีสมัยนั้น และนางบุญยวด อังกินันทน์ (สกุลเดิม กำเนิดศิริ ตระกูลใหญ่ในจังหวัด) มีพี่น้องร่วมมารดาเดียวกันอีก 1 คน คือ นายยุทธ อังกินันทน์ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์
ด้วยบารมีที่สั่งสมมาตั้งแต่รุ่นปู่ที่เป็นนักกฎหมายชื่อดัง รวมทั้งมีพี่ชายนายผาดต่างมารดา อย่างนายทองพูน อังกินันทน์ ที่เป็นทนายความและอดีต ส.ส. ทำให้รุ่นพ่ออย่างนายผาดก้าวสู่สนามการเมืองเป็นนายกเทศมนตรีเมืองเพชรบุรีในนาม “กลุ่มผาด” ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แต่ชีวิตวัยรุ่นของนายปิยะดูเหมือนว่าจะสวนทางกับผู้เป็นพ่อ
นายปิยะ เริ่มต้นศึกษาโรงเรียนอนุบาลนางงาม หลังวัดมหาธาตุ ต่อด้วยโรงเรียนวัดโพาราม (บุญเลี่ยมวิทยา) และในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนสุวรรณรังสฤษฏ์ มาถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนประดิษฐ์วิทยา (ปัจจุบันคือโรงเรียนอรุณประดิษฐ์) แล้วย้ายโรงเรียนเป็นว่าเล่นสมัยชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
จากนักเรียนเป็นนักเลง
ด้วยความเป็นคนเมืองเพชรไม่ยอมใคร เริ่มจากไปเข้าโรงเรียนประจำที่หัวหินวิทยาลัย จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่เรียนได้เทอมเดียว ทะเลาะกับครู ต้องลาออก บิดาจึงส่งไปเรียนที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ รุ่นสุดท้ายที่ปากคลองตลาด รุ่นเดียวกับ พล.อ.สุจินดา คราประยูร, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ สร้างวีรกรรมแทงกระเป๋ารถเมล์ที่ถีบเพื่อนร่วมสถาบันตกรถหัวฟาดพื้น
ต่อมาพ่อเรียกกลับจะให้ไปเรียนที่โรงเรียนสารสิทธิ์วิทยา อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี โดยให้เงินมัดจำค่าเทอม 2,000 บาท ขึ้นรถไฟไปลำพังกับเพื่อนอีกคน แต่กลับหนีไปใช้ชีวิตวัยรุ่นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา อยู่กับน้า ญาติทางแม่ พอเงินหมดก็เดินสายชกมวย กระทั่งบิดาออกอุบายโทรเลขไปหลอกว่าแม่ป่วยหนักกำลังจะตายจึงกลับมาที่เพชรบุรี
นายปิยะกลับมาเรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัดคงคาราม เมื่อจบ ม.6 ไปเรียนต่อชั้น ม.7-ม.8 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แต่ไม่จบ หันไปเป็นนักเลงคุมวินรถ บขส. เจ้าตัวอ้างว่าสมัยนั้นรถ บขส.ไม่กล้าวิ่งเส้นเพชรเกษม เพชรบุรีเพราะกลัวถูกปล้น เลยดูแลทุกอย่าง กลายเป็นหัวโจกที่คนเพชรบุรีรู้จักกันดีในวัยเพียง 20 ปี
มาถึงยุค “2499 อันธพาลครองเมือง” รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศกวาดล้างนักเลงครั้งใหญ่ เมื่อส่งสัญญาณว่าจะให้ทหารลงมาหิ้วตัว บิดาจึงให้นายปิยะไปบวชแก้นิสัยนักเลงที่วัดเกาะ (วัดเกาะแก้วสุทธาราม) ต.ท่าราบ อ.เมืองฯ จ.เพชรบุรี รอดชีวิตจากการถูกทหารหิ้วปีกมาได้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงทำงานการเมือง นายปิยะกลับตัวกลับใจมาเรียนหนังสือ ก่อนสำเร็จการศึกษารัฐศาสตรบัณฑิต (สาขารัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในปี 2545
จากหนุ่มออมสิน เดินเส้นทางการเมือง
หลังสึกออกมา บิดาฝากเข้าทำงานที่ธนาคารออมสิน สาขาท่ายาง ก่อนลงสมัครเป็นสมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.) เขตอำเภอท่ายาง ในปี 2500 ก่อนควบตำแหน่งสมาชิกสภาเทศบาลเมืองเพชรบุรี แต่เมื่อกฎหมายออกมาห้ามดำรงตำแหน่งควบ 2 แห่ง จึงลาออกมาเป็นสมาชิกสภาจังหวัดเพียงแห่งเดียว
นายปิยะมีความสนิทสนมกับ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ลูกชายจอมพลถนอม กิตติขจร ลงสมัคร ส.ส.ครั้งแรกเมื่อปี 2512 สังกัดพรรคสหประชาไทย แต่แพ้การเลือกตั้ง ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 นายปิยะเป็นคนเดินทางตามไปส่ง พ.อ.ณรงค์ พร้อมช่วยขนทรัพย์สินหลบหนีออกนอกประเทศ ถูกสันติบาลตามสะกดรอยตลอดเวลา
ผ่านวิกฤตบ้านเมืองคราวนั้น นายปิยะลงสมัคร ส.ส.ในปี 2518 ในนามพรรคชาติไทย ชนะการเลือกตั้ง ก่อนที่จะสร้างชื่อเสียงด้วยการที่พี่น้องตระกูลอังกินันทน์ชนะเลือกตั้งยกจังหวัดเพชรบุรี คือ นายปิยะ, นายยุทธ และนายภิมุข อังกินันทน์ บุตรชายนายทองพูน อดีต ส.ส.เพชรบุรี พี่ชายต่างมารดาของนายผาด
นายปิยะได้รับเลือกให้เป็น ส.ส.6 สมัย ตั้งแต่ปี 2518, 2522, 2526, 2531, 2535/1 และ 2539 กระทั่งนายทักษิณ ชินวัตร มาขอให้นายปิยะลงสมัครในนามพรรคไทยรักไทย สุดท้ายไม่ได้รับการเลือกตั้งอีกเลย แพ้ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเจ้าตัวให้เหตุผลว่า “คนเห่อของใหม่ แล้วผมก็ไม่เด็ดขาดเหมือนเมื่อก่อน”
ภายหลังนายภิมุขวางมือทางการเมือง ส่วนนายยุทธหันลงไปเล่นการเมืองท้องถิ่นในเทศบาลเมืองเพชรบุรีอีกครั้ง ถึงกระนั้นเมื่อนายชัยยะ อังกินันทน์ บุตรชายนายปิยะได้รับเลือกให้เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพชรบุรี นายปิยะจึงได้เป็นรองนายก อบจ.เพชรบุรี
ในการเลือกตั้งปี 2557 ช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. นายปิยะเคยย้ายจากพรรคเพื่อไทย กลับมาอยู่พรรคชาติไทยพัฒนา ลงสมัครเขตเลือกตั้งที่ 2 เพชรบุรี โดยมีนายยุทธพล อังกินันทน์ ลงสมัครเขตเลือกตั้งที่ 1 ถึงกระนั้น การเลือกตั้งในครั้งนั้นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
อ่านประกอบ : “ปิยะ” ย้ายหนี “เพื่อไทย” เข้าสมัคร ส.ส.เขต 2 เพชร “ชาติไทยพัฒนา”
“ชัยยะ-สุขสันต์” ลูกชายสานต่องานการเมือง
ถ้ากล่าวถึงกลยุทธ์ในการก้าวสู่สนามการเมือง ถ้าไม่นับการเป็นนักเลง นายปิยะคลุกคลีอยู่กับการเมืองท้องถิ่นมานาน โดยเฉพาะ อบจ.เพชรบุรี อีกทั้งมีการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีรายได้จากการคุมเส้นทางเดินรถ บขส.ทำให้มีทุนทรัพย์ในการหาเสียงมาก
นายปิยะมีลูกน้องและหัวคะแนนไปหาชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ และเข้าหาผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และเมื่อช่วยสร้างถนนหรือสาธารณูปโภคต่างๆ ทำให้ชาวบ้านเห็นว่าทำได้จริง ไม่ผิดคำพูด และด้วยความที่ไม่เน้นปราศรัยหาเสียง แต่เน้นลงพื้นที่พบปะชาวบ้าน ส่งผลถึงคะแนนเสียงที่ได้รับจำนวนมาก
นอกจากนี้ นายปิยะยังมีเครือข่ายที่อาจช่วยเหลือกันในด้านอื่นๆ กับกลุ่มผู้มีอิทธิพลในภูมิภาคต่างๆ เช่น นายสมชาย คุณปลื้ม (กำนันเป๊าะ) จ.ชลบุรี, นายประชา โพธิพิพิธ (กำนันเซียะ) จ.กาญจนบุรี, นายทวิช กลิ่นประทุม จ.ราชบุรี, นายอุดมศักดิ์ ทั่งทอง จ.ประจวบคีรีขันธ์, นายชัยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ จ.อุบลราชธานี เป็นต้น
ในช่วงที่เป็นกรรมาธิการงบประมาณ มีบทบาทในการแปรญัตติ และดึงงบประมาณลงพื้นที่ มักจะกล่าวเสมอว่า ตนเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทนำความเจริญมายังจังหวัดเพชรบุรี เช่น ดึงงบประมาณสร้างเขื่อนแก่งกระจาน สานต่อจากบิดาเป็นผลสำเร็จ การสร้างวิทยาลัยพยาบาล การพัฒนาวิทยาลัยครูเพชรบุรี รวมทั้งถนนหนทางทั่วทั้งจังหวัด
แม้นายปิยะจะจากไปแล้ว แต่บุตรชายของนายปิยะยังคงโลดแล่นในเวทีการเมืองท้องถิ่น อาทิ นายชัยยะ อังกินันทน์ นายก อบจ.เพชรบุรี และนายสุขสันต์ อังกินันทน์ รองนายก อบจ.เพชรบุรี สืบทอดมาถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ลูกสาวต่างมารดาอย่าง น.ส.ปิยะนาต อังกินันทน์ (หนูแจม) ยังเป็นปลัดอำเภอในจังหวัดสระแก้วอีกด้วย
“ภาษีสังคม” เดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 3 แสน
ครั้งหนึ่งนายปิยะเคยออกรายการ “ฃอคิดด้วยฅน” ตอนกำเนิดและจุดจบเจ้าพ่อ ของ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ออกอากาศเมื่อเดือนกันยายน 2537 กล่าวว่า ต้องคอยวัดความรู้สึกลูกน้องว่า บางทีดูกิริยาลูกน้องจากสีหน้าแล้วว่า ต้องมีอะไรในใจ คนนี้มีปัญหาแน่
เมื่อเหลือคนเดียวจึงเรียกไปคุยว่า “มีปัญหาอะไรบอกมา พูดมาตรงๆ ให้พี่ช่วย ไม่ต้องโกหก” เมื่อกล่าวถึงความเดือดร้อน ก็ตอบกลับว่า “เดี๋ยวพี่จัดการให้” ถ้ามีก็ให้เขาไป เมื่อเขาเต็มใจอยู่กับเรา
“เวลาผมฝากเขาเข้าทำงานอะไรอย่างนี้ เกิดเงินเดือนเขาไม่พอใช้ในครอบครัว เราก็ต้องช่วยจุนเจือเขา เมียคลอด ค่าเทอมลูกผมก็ออกให้ ดูแลให้ความสุขกับเขาเท่าที่เราสามารถจะให้ได้ ไม่งั้นคนเขาไม่มารักเรา ไม่นับถือเราหรอก ภาษีสังคมเดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 3 แสนทุกเดือน จนถึงเป็นผู้แทนหรือไม่เป็น แต่ตอนเลือกตั้งดีอย่างหนึ่ง ไม่ต้องใช้เงินมาก”
เมื่อตอนเลือกตั้งแล้วพลาด จะต้องประเมินหรือไม่ว่าเกิดอะไรกับเครือข่าย นายปิยะกล่าวว่า “เรารู้ เราแพ้คราวนี้ก็รู้ตัวแล้ว หัวคะแนนทุกคนร้องไห้ พี่นะ ผมขอพี่นะ พี่หาเสียงคนเดียวนะ ไม่ต้องไปเผื่อใคร ไม่ต้องไปห่วงใครนะ พี่ช่วยตัวพี่เองนะ”
เวลาหาเสียงกับพวกเดียวกันจะใช้ 2 พรรค 3 คน หาเสียงร่วมกับ นายยุทธ อังกินันทน์ และนายธานี ยี่สาร ใช้โปสเตอร์ร่วมกัน ไม่พูดถึงเรื่องพรรค ถึงคนละพรรคแต่พวกเดียวกัน โดยกล่าวว่า ในแง่ของตามต่างจังหวัด ส่วนมากพรรคไม่ค่อยมีความหมาย ตัวบุคคลสำคัญกว่า เขาคิดว่าเขาเลือกใครเข้าไปแล้วจะพึ่งพาอาศัย ช่วยเขาได้ เขาก็เลือก
เอกสารอ้างอิง :
ณัชชานุช พิชิตธนารัตน. นักการเมืองถิ่นจังหวัดเพชรบุรี - - กรุงเทพฯ : สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า, 2554
“ปัจจุบันซุ้มมือปืนเจ้าพ่อเมืองเพชรไม่มีแล้ว” https://www.cops-magazine.com/topic/5548/ สืบค้นเมื่อ 25 ก.ย. 2562