xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหลัง "ท่าอากาศยานกระบี่" สนามบินข้าใครอย่าแตะ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กว่าจะหย่าศึก "ทอท.-กรมท่าอากาศยาน" ชิง "สนามบินกระบี่" สุดท้าย "ศักดิ์สยาม" ให้ ทย.ดูแลเหมือนเดิม พบที่ผ่านมาเป็นสนามบินภูมิภาคอันดับ 1 ผู้โดยสารกว่า 4 ล้านคน ทำรายได้เกือบ 470 ล้าน สัดส่วน 55% ของรายได้กรมทั้งหมด

... รายงาน

ที่ประชุม 3 ฝ่ายระหว่างกระทรวงคมนาคม นำโดย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม, กรมท่าอากาศยาน และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. มีมติให้ท่าอากาศยานกระบี่ กรมท่าอากาศยานยังคงบริหารจัดการเอง จากเดิมที่ ทอท. จะขอรับโอนท่าอากาศยาน 4 แห่ง

ส่วนท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานตาก และท่าอากาศยานบุรีรัมย์ จะให้ ทอท. บริหารในลักษณะ "สัญญาจ้าง" (Management Contract) แทนการโอนย้ายสังกัดและเข้าบริหารเต็มตัว ซึ่งสนามบินและทรัพย์สินยังเป็นของกรมท่าอากาศยานเช่นเดิม โดยกำไรที่ได้รับ จะนำส่งเข้ากองทุนเข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยาน

นับจากนี้ กรมท่าอากาศยานจะต้องทำแผนการพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพให้สายการบินสามารถเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศโดยตรงได้ เพื่อลดความแออัดของสนามบินภูเก็ต ส่วน ทอท. จะต้องนำเรื่องกลับไปเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. ซึ่งมีนายประสงค์ พูนธเนศ เป็นประธานบอร์ดอนุมัติอีกครั้ง

อ่านประกอบ : คมนาคมทุบโต๊ะไม่ให้ "สนามบินกระบี่" ยุติศึก "ทย.-ทอท."

ที่มาที่ไปของเรื่องนี้ก็คือ ... ก่อนหน้านี้สมัยที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็น รมว.คมนาคม ในรัฐบาลประยุทธ์ 1 ทอท. ได้ขอรับโอนท่าอากาศยาน 4 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานสกลนคร ท่าอากาศยานชุมพร และท่าอากาศยานตาก จากกรมท่าอากาศยานให้ ทอท. เป็นผู้เข้าบริหารแทน

ภายหลัง นายอาคมสั่งการให้ ทอท. ทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง โดยให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ การจราจรทางอากาศ และความแออัดของท่าอากาศยานภูมิภาค จึงได้ตัดสินใจเปลี่ยนจากท่าอากาศยานสกลนคร เป็นท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานชุมพร เปลี่ยนเป็นท่าอากาศยานกระบี่ และที่ประชุมบอร์ดมีมติเมื่อ 21 ส.ค. ที่ผ่านมา

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. เคยกล่าวถึงสาเหตุที่เปลี่ยนจากท่าอากาศยานสกลนคร เป็นท่าอากาศยานบุรีรัมย์ เพราะท่าอากาศยานสกลนครมีน้ำท่วมบ่อย อาจทำให้การวางแผนการบิน โดยเฉพาะตารางการบินทำได้ยาก ไม่น่าจะเหมาะต่อการนำมาพัฒนา ขณะที่ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ห้วงอากาศยังว่างอยู่

ส่วนสาเหตุที่เปลี่ยนจากท่าอากาศยานชุมพร เป็นท่าอากาศยานกระบี่ เพราะเป็นสนามบินคู่แฝดกับท่าอากาศยานภูเก็ต ช่วยรองรับการจราจรทางอากาศ ระหว่างรอการก่อสร้างท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 ส่วนท่าอากาศยานชุมพร เดิมขอรับโอนเพื่อส่งเสริมแผนพัฒนาการท่องเที่ยว หรือไทยแลนด์ริเวียร่า แต่ปัจจุบันไม่มีการเดินหน้า

อย่างไรก็ตาม ข่าวคราวที่ ทอท. จะเข้าบริหารท่าอากาศยานกระบี่ ทำให้คนในกรมท่าอากาศยานไม่พอใจ เพราะจะทำให้ขาดสภาพคล่องการบริหารจัดการ และซ่อมแซมบำรุงรักษาในอีก 24 ท่าอากาศยานที่เหลือ เนื่องจากรายได้ในปี 2561 กว่า 852.46 ล้านบาทนั้น กว่า 55% มาจากท่าอากาศยานกระบี่ คิดเป็น 469.40 ล้านบาท

รายได้จากท่าอากาศยาน 28 แห่งของกรมท่าอากาศยาน จะเข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานเพื่อใช้ในการบริหารจัดการและซ่อมแซมบำรุงรักษาท่าอากาศยาน เช่น จ้างพนักงานแทนข้าราชการและลูกจ้างประจำ การซ่อมลิฟท์ บันไดเลื่อน สายพานลำเลียง หากยกท่าอากาศยานกระบี่ให้ ทอท. จะกระทบรายได้หลักในส่วนนี้ทั้งหมด

อีกรายหนึ่ง คือ นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม อดีตแกนนำ กปปส. ที่มีฐานเสียงทางภาคใต้ ก็ออกมาคัดค้านการโอนย้ายท่าอากาศยานกระบี่ไปให้ ทอท. เช่นกัน เพราะท่าอากาศยานกระบี่ลงทุนสร้างมาและบริหารจัดการแบบไม่หวังผลกำไร อีกทั้งกรมท่าอากาศยานมีแผนลงทุนพัฒนาอีกมาก จึงเห็นควรให้กรมท่าอากาศยานดูแลต่อไป

สำหรับท่าอากาศยานกระบี่ ก่อสร้างเมื่อปี 2526 แล้วเสร็จปี 2529 โดยภาคเอกชนและเทศบาลเมืองกระบี่ เปิดให้บริการเที่ยวบินปฐมฤกษ์เส้นทาง ดอนเมือง-กระบี่ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2529 ก่อนที่กรมการบินพาณิชย์ซื้อที่ดินเพิ่มและปรับปรุงใหม่หมด เริ่มก่อสร้างปี 2536 แล้วเสร็จและเปิดให้บริการ 10 ก.ค. 2542

ในปี 2561 ท่าอากาศยานกระบี่ เป็นท่าอากาศยานภูมิภาคอันดับ 1 ของกรมท่าอากาศยาน ด้วยจำนวนเที่ยวบิน 28,639 เที่ยวบิน ผู้โดยสาร 4,193,099 คน ปริมาณขนส่งสินค้า 1,652,285 กิโลกรัม มีสายการบินให้บริการเที่ยวบินในประเทศ 8 สายการบิน และเที่ยวบินระหว่างประเทศ 13 สายการบิน รองรับอากาศยานขนาดสูงสุดได้ถึงโบอิ้ง 747 หรือแอร์บัส A340

แม้ที่ผ่านมาท่าอากาศยานกระบี่ประสบปัญหาฝนรั่ว ไฟฟ้าดับ และปัญหาที่จอดรถ แต่ปัจจุบันกรมท่าอากาศยาน กำลังก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 และขยายลานจอดอากาศยาน พร้อมเตรียมของบประมาณปี 2563 จำนวน 6,000 ล้านบาทเพื่อพัฒนาท่าอากาศยานเพิ่มเติม ขยายขีดความสามารถในการให้บริการ

จำนวนผู้โดยสารท่าอากาศยานภูมิภาคสูงสุด 5 อันดับแรกของกรมท่าอากาศยาน

อันดับ 1 ท่าอากาศยานกระบี่ 4,193,099 คน จำนวนเที่ยวบิน 28,639 เที่ยวบิน
อันดับ 2 ท่าอากาศยานอุดรธานี 2,651,242 คน จำนวนเที่ยวบิน 18,855 เที่ยวบิน
อันดับ 3 ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี 2,108,289 คน จำนวนเที่ยวบิน 14,000 เที่ยวบิน
อันดับ 4 ท่าอากาศยานอุบลราชธานี 1,832,340 คน จำนวนเที่ยวบิน 11,795 เที่ยวบิน
อันดับ 5 ท่าอากาศยานขอนแก่น 1,819,013 คน จำนวนเที่ยวบิน 13,416 เที่ยวบิน

ที่มา : กรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม
กำลังโหลดความคิดเห็น