xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.กรุงเทพธนาคม เปิดปมปฏิบัติการณ์นำสายไฟลงดิน เผย 80% ของสายสื่อสารไม่ได้ใช้งาน ถูกแขวนทิ้งรุงรัง กลายเป็น"ทัศนอุจาด"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัจจุบันหากเรามองไปตามเสาไฟฟ้าริมถนนแทบทุกเส้น เราจะเห็นสายสื่อสารมีจำนวนมากรกรุงรัง ไร้ระเบียบ โดยสายสื่อสารที่รกรุงรังเหล่านั้นส่วนใหญ่กว่า 50-80% แท้ที่จริงแล้วเป็นสายเก่าที่ไม่ได้ใช้งาน แต่ยังคงถูกแขวนไว้โดยไร้คนเหลียวแล ไร้การจัดระเบียบ ส่งผลต่อภูมิทัศน์ของเมือง เป็นที่มาของคำว่า "ทัศนอุจาด" ทำให้ภูมิทัศน์ริมถนนรกรุงรังไม่สวยงามรวมทั้งยังมีผลต่อความปลอดภัย และสวัสดิภาพของประชาชน เสี่ยงต่ออุบัติเหตุโดยไม่คาดคิด และเป็นที่มาของโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินทั่วกรุงเทพมหานคร ซึ่งกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน เพื่อนำสายสื่อสารที่รกรุงรังทั้งหมดลงใต้ดินภายใน 2-3 ปี โดยจะมีการดำเนินการบนถนนสายหลัก และรอง รวมระยะทางทั้งสิ้น 2,450 กิโลเมตรโดยประมาณ สำหรับการดำเนินการจะแบ่ง พื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ออกเป็น 4 พื้นที่ ได้แก่


พื้นที่ 1 กรุงเทพตอนเหนือ ระยะทางรวมประมาณ 620 กม. ตามระยะทางเท้า (หรือประมาณ 335 กม. ตามระยะถนน)
พื้นที่ 2 กรุงเทพตะวันออก ระยะทางรวมประมาณ 605 กม. ตามระยะทางเท้า (หรือประมาณ 315 กม. ตามระยะถนน)
พื้นที่ 3 กรุงธนเหนือ ระยะทางรวมประมาณ 605 กม. ตามระยะทางเท้า (หรือประมาณ 315 กม. ตามระยะถนน)
พื้นที่ 4 กรุงธนใต้ ระยะทางรวมประมาณ 620 กม. ตามระยะทางเท้า (หรือประมาณ 330 กม. ตามระยะถนน)


นายกิติศักดิ์ อร่ามเรือง ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็นผู้พัฒนา และดูแลพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นถนน หรือทางเดินเท้าก็ตาม โดยกรุงเทพมหานครก็ได้มีการบริหารจัดการและใช้พื้นที่สาธารณะ ร่วมกับโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคอื่นๆ ทั้งที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร เช่น ป้ายรถเมล์ ถังขยะ ต้นไม้ ท่อระบายน้ำ เสาไฟแสงสว่าง ระบบสัญญาณจราจร ฯลฯ เป็นต้น และที่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบสื่อสารและโทรคมนาคม ทั้งที่อยู่ใต้ดินและบนดิน


"วันนี้ปัญหาเรื่องสายสื่อสารเป็นแค่หนึ่งในหลายๆ ปัญหาของหน่วยงานสาธารณูปโภคที่มีความต้องการใช้พื้นที่สาธารณะเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้บริการที่ทันต่อการเจริญเติบโตของเมือง จนเกิดการทับซ้อนและแย่งใช้พื้นที่สาธารณะกัน ปัญหาของสายสื่อสารเกิดจากผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมมาขอพาดสายสื่อสารตามเสาไฟฟ้าขาดการจัดระเบียบ เพราะว่ายังไม่มีทางอื่นที่จะทำให้สายสื่อสารพวกนี้ไปอยู่ได้ เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ หรือเสียหาย จุดใดจุดหนึ่ง เขาก็ใช้วิธีตัดหัวตัดท้าย แล้วลากใหม่เลย โดยไม่ได้เอาสายเก่าออก ปัจจุบันที่แขวนอยู่ประมาณ 20% คือสายที่ใช้งาน อีก 80% เป็นสายประเภทนี้ อาจจะไม่ได้ใช้งานและเป็นสายที่อาจจะไม่ได้ขออนุญาตด้วย เลยเป็นปัญหาของการสะสมแล้วก็รกรุงรัง เป็นทัศนะอุจาด” นายกิติศักดิ์ อร่ามเรือง กล่าว


นายกิติศักดิ์ กล่าวต่อว่า วันนี้เรามีความจำเป็นต้องบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาพรวม วันนี้ก็เลยพยายามปูพื้นฐานให้ทุกคนเข้าใจว่าทำไมการจัดการปัญหาสายสื่อสารจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 2 - 3 ปี เราไม่สามารถที่จะทำตามความต้องการของผู้ประกอบการได้ว่าตรงไหนมีการใช้งานเยอะแล้วทำธุรกิจคุ้มก็ค่อยไปลงมือทำตรงนั้นก่อนแบบค่อยเป็นค่อยไป หากเป็นเช่นนั้น ความสง่างาม ความสวยงามของบ้านเมือง และความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน ก็จะถูกซื้อเวลาออกไปเรื่อยๆ วันนี้เราจึงรีรอไม่ได้ อุบัติเหตุจากสายสื่อสารถึงขั้นเสียชีวิตยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ มีใครหรือหน่วยงานไหนกล้าออกมารับผิดชอบหรือไม่


"รูปแบบการทำงานของกรุงเทพธนาคมในฐานะที่ได้รับมอบหมายเรื่องนี้จากกรุงเทพมหานคร เรามองว่าโครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินควรจะเป็นการลงทุนของเมืองให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นทรัพย์สินของเมืองให้ผู้ประกอบการมาร่วมกันใช้ร่วมกันจ่ายค่าใช้บริการ กรุงเทพธนาคมเป็นผู้บริหารจัดการเอง ไม่ได้ให้สิทธิ์หรือสัมปทานกับใคร เพราะจะเป็นการผูกขาดและเกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างผู้ประกอบการอีก" ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กล่าว


ด้าน ดร.เอกรินทร์ วาสนาส่ง รองกรรมการผู้อำนวยการ สายกลยุทธ์และบริหารการเงิน กล่าวเสริมว่า ที่ท่านประธานพูดไปหมายถึงการให้สัมปทานรายใดรายหนึ่งไปทำเลย ลงทุนก่อสร้างแล้วคุณก็เอาสิทธิ์การใช้ท่อนั้นไป การทำแบบนี้ก็คือการให้สัมปทาน ซึ่งเราไม่ได้ทำเช่นนั้น หากเป็นการให้สัมปทานรายใดรายหนึ่งที่มีพาวเวอร์มีเงินที่จะลงทุนวันนี้เขาก็จะได้สิทธิ์ขาดในการใช้ท่อไป ซึ่งรวมไปถึงจัดการบริหารจัดการท่อเองทั้งหมดนี่คือลักษณะของสัมปทาน แต่ของเราไม่ใช่


นายกิติศักดิ์ กล่าวว่า ฟุตปาธ กทม. ไม่ได้มีความกว้างเหมือนมาตรฐานเช่นในต่างประเทศ ซึ่งในต่างประเทศอย่างน้อยต้องมีขนาด 1.5 - 2.5 เมตร เป็นขั้นต่ำ ของเราเต็มที่ 1.5- 2 เมตร ในบางพื้นที่ เหลือแค่ 80 เซนติเมตรถึง 1 เมตร ก็ยังมี ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากแนวคิดในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ อย่างเช่น ระบบรถไฟฟ้า ก็คือการก่อสร้างแนวรถไฟฟ้า โดยหลักๆ แล้วเส้นทางไหนที่มีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนควรจะให้ความสำคัญกับรถยนต์ให้น้อยลง พื้นผิวจราจรควรแคบลง แต่วันนี้ปรากฏว่าเส้นทางไหนที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าเรายังคงขนาดของช่องทางการจราจรเท่าเดิมแล้วเราก็ไปเบียดฟุตปาธให้แคบลง แนวคิดที่ถูกต้องควรจะต้องคงหรือเพิ่มพื้นที่ของฟุตปาธ การจัดการเมืองในรูปแบบใหม่จะต้องพิจารณาเป็นย่านๆไป จากงานวิจัยพบว่าธุรกิจการค้าขายสองข้างทางเกิดจากการจับจ่ายใช้สอยของคนเดินเท้าสูงเกินกว่าร้อยละ 50 ขณะที่มีเพียงแค่ร้อยละ 4 หรือ 5 เกิดจากรถยนต์ส่วนบุคคล ผมถามว่าวันนี้เราควรจะให้ความสำคัญกับการขยายฟุตปาธหรือจะขยายความกว้างถนนเพื่อให้มีพื้นที่จอดรถยนต์กันแน่ หากฟุตปาธกว้างเพียงพอจะเกิดความสะดวกสบายต่อการเดินเท้าและมีพื้นที่ใช้สอยเพื่ออำนวยความสะดวกหรือจัดการระบบสาธารณูปโภคได้เป็นอย่างดี


"การสำรวจออกแบบและก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน ในแต่ละเส้นทางเรามีการเตรียมความจุไว้รองรับผู้ใช้งานได้สูงสุดถึง 28-35 ท่อย่อย(Microduct) โดยในเบื้องต้นเราได้นำความจุ10ท่อย่อยมาให้ผู้ใช้บริการหลักได้ใช้งาน และอีก 4ท่อย่อยเตรียมไว้ใช้งานในภารกิจของกรุงเทพมหานครและความมั่นคง ซึ่งเรายังมีท่อใหญ่ที่สามารถบรรจุท่อย่อยเพื่อรองรับความต้องการใช้งานของผู้ประกอบการรายอื่นๆได้อีก 14-21 ท่อย่อย นี่เป็นสิ่งยืนยันได้ว่าเราเตรียมโครงสร้างพื้นฐานท่อร้อยสายให้กับทุกคนได้ใช้งานอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ขุดครั้งเดียว เดือดร้อนประชาชนครั้งเดียว ไม่เป็นการให้สิทธิ์หรือผูกขาดกีดกันการแข่งขัน โดยโครงสร้างพื้นฐานท่อร้อยสื่อสารมีการออกแบบเลือกใช้วัสดุที่สามารถใช้งานได้ 30-50 ปี" และต้นทุนการก่อสร้างไม่ได้แพงไปกว่าการใช้วัสดุที่มีอายุการใช้งาน 15-25 ปีมากนัก นายกิติศักดิ์ อร่ามเรือง กล่าว


นายกิติศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่เราให้ผู้รับจ้างก่อสร้างลงไปสำรวจออกแบบเพื่อจัดทำแบบก่อสร้างอย่างละเอียด มีการระบุเส้นทางใดบริเวณใดจะต้องก่อสร้างโดยใช้วิธีเปิดฟุตปาธหรือใช้วิธีดันท่อรอด หลักๆ เราก็จะใช้สองวิธีนี้ และขณะนี้เรากำลังศึกษาการทำท่อรวมระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน โดยสำนักการโยธา สำนักวางผังและพัฒนาเมือง สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร ร่วมกับการประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง จะได้มีการหารือวางแผนร่วมกัน


"โดยวิธีการนำสายสื่อสารลงใต้ดินมี 2 วิธีที่เราจะใช้คือ วิธี Under Ground - HDD ทำบ่อพักเสร็จแล้วตรงนี้ไม่ต้องเปิดฟุตปาธเลยใช้วิธีการดันเจาะแล้วก็ดึงท่อร้อยกลับมาเชื่อมระหว่างบ่อพัก และอีกวิธีคือ Open Cut คือเปิดฟุตบาท โดยข้างใต้จะมีบ่อพัก และใช้ท่อร้อยสายวางเชื่อมต่อลงไป เพราะฉะนั้นรูปแบบการก่อสร้าง 2 เทคนิคจะถูกเอามาใช้ในโครงการนี้อยู่ที่ว่าบริเวณใดการก่อสร้างกระทบประชาชนหรือการจราจรมากน้อยเพียงใด หรือมีข้อจำกัดอย่างไร เราจะมองว่าเอาแบบก่อสร้างถูกๆอย่างเดียวคงไม่ได้ ลองคิดดูว่าถ้าเราเลือกแต่วิธีขุดฟุตปาธพร้อมกัน 2,400 กิโลเมตรทั่วกรุงเทพจะเกิดอะไรขึ้น " นายกิติศักดิ์ อร่ามเรือง กล่าว


นายกิติศักดิ์ กล่าวต่อว่า ได้มีการหารือกับกสทช. ให้พิจารณาหากมีผู้ได้รับใบอนุญาตเดิมที่พาดสายอยู่บนเสา มีความประสงค์และให้ความร่วมมือที่จะนำสายสื่อสารลงท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน ทาง กสทช. จะมีมาตรการในการสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายหรืออะไรก็แล้วแต่ เพื่อให้กระทบกับผู้ประกอบการน้อยที่สุด โดยถ้าร่วมมือจะเอาลงด้วยกันก็ให้แสดงเจตจำนงให้รู้ เราก็จะได้เตรียมความจุท่อไว้ให้ กสทช. ก็จะได้เตรียมมาตรการว่ามีกี่รายตรงนี้ที่จะต้องเอาลงกระทบมากน้อยแค่ไหน ถ้าสมมติว่าเราก่อสร้างเสร็จแล้วมีผู้แจ้งจำนงค์ไป 5 ท่อเราก็จะบริหารจัดการ 5 ท่อที่เราประสงค์จะใช้ ถ้าภายใน 90 วันยังไม่มีการแจ้งประสงค์เราก็จะถือว่าท่านไม่ได้มีใบอนุญาตแขวนอยู่ สายที่เหลือรกบนเสาก็จะเป็นเรื่องที่กทม. จะเริ่มเข้าไปบริหารจัดการโดยการจัดระเบียบก็คืออาจจะไปตรวจสอบว่าตกลงสายนี้ไม่มีเจ้าของหรือไม่ได้มีใครมาแสดงตนตรงนี้ก็อาจจะรื้อถอนหรือดำเนินการตามแนวทางที่กรุงเทพมหานครเห็นสมควรต่อไป


นายกิติศักดิ์ อร่ามเรือง ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการนี้จะเสร็จสิ้นในเวลา 2-3 ปี โดยทุกๆ 6 เดือน จะสามารถนำสายสื่อสารลงใต้ดินได้ประมาณ 400-600 กิโลเมตร กรุงเทพธนาคมได้รับมอบหมายภารกิจจากกรุงเทพมหานครด้วยความชอบธรรม ไม่ขัดต่อพรบ.ร่วมทุน กรุงเทพธนาคมเป็นผู้ลงทุน เป็นเจ้าของทรัพย์สินและบริหารจัดการด้วยตนเอง ปิดประตูการให้สิทธิ์หรือสัมปทาน ตัดวงจรการผูกขาดและแสวงหาผลกำไรเชิงธุรกิจ ตัดวงจรการเอารัดเอาเปรียบ สร้างความโปร่งใส เสมอภาค เป็นธรรมกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีสถานะเป็นลูกค้าใช้บริการโครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสารของเรา เพราะเราคือวิสาหกิจของกรุงเทพมหานครที่กรุงเทพมหานครถือหุ้นเรา 99.98% และกรุงเทพธนาคมไม่อยู่ในสถานะที่หวังผลตอบแทนจากการลงทุนหรือการทำธุรกิจ






กำลังโหลดความคิดเห็น