ชมภาพชุดประวัติศาสตร์ จุดเริ่มต้น "โครงการโฮปเวลล์" ทางรถไฟและทางด่วนยกระดับ มูลค่า 8 หมื่นล้าน สมัย "มนตรี พงษ์พานิช" เป็น รมว.คมนาคม ยุครัฐบาล "น้าชาติ" เมื่อ 29 ปีก่อน แต่ในที่สุดจากความหวังกลายเป็นหมดหวัง พร้อมราคาที่ต้องจ่ายกับค่าโง่กว่า 12,000 ล้าน
จากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ต้องคืนเงินชดเชยให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จากการบอกเลิกสัญญาโครงการทางรถไฟและถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร หรือ โฮปเวลล์ (Hopewell) รวมเป็นเงิน 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2551 พร้อมคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับคดีถึงที่สุด
นี่เป็นภาพประวัติศาสตร์ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2533 หรือเมื่อ 29 ปีก่อน ได้มีพิธีลงนามสัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับ ระหว่างกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ระยะทาง 60.1 กิโลเมตร มูลค่า 80,000 ล้านบาท โดยในภาพจะเห็นว่ามีนายมนตรี พงษ์พานิช รมว.คมนาคม ในยุครัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน ร่วมพิธีลงนามสัญญา กับนายกอร์ดอน หวู่ (Gordon Wu) ประธานบริหาร กลุ่มโฮปเวลล์โฮลดิ้ง นักธุรกิจยักษ์ใหญ่แห่งวงการก่อสร้าง และเป็นมหาเศรษฐีชาวฮ่องกง
แม้สัญญาโครงการโฮปเวลล์จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 6 ธันวาคม 2534 แต่รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่ชาติ (รสช.) นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น เข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ตั้งรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งมีนายนุกูล ประจวบเหมาะ เป็น รมว.คมนาคม ได้สั่งรื้อทบทวนสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ เนื่องจากส่อแววว่าไม่โปร่งใส แต่เมื่อการยึดอำนาจ ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน โครงการโฮปเวลล์จึงถูกผลักดันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน โดยได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการที่สถานีรถไฟชุมทางบางซื่อ เมื่อปี 2534
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแผนการก่อสร้างไม่ชัดเจน กว่าที่การรถไฟฯ จะอนุมัติแบบก่อสร้างก็กินเวลากว่า 2 ปี แม้จะตั้งคณะกรรมการฟาสต์แทร็กกำหนดช่วงการก่อสร้างออกเป็น 5 ระยะ กำหนดแล้วเสร็จภายใน 8 ปี หรือปี 2542 แต่การก่อสร้างแบบเทิร์นคีย์ คือ ออกแบบไป ก่อสร้างไป ทำให้เกิดความล่าช้า คืบหน้าเพียง 20% กระทั่งโฮปเวลล์ ประสบปัญหาสภาพคล่อง ไม่มีแหล่งเงินทุนให้กู้ยืม หนำซ้ำยังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้โฮปเวลล์หยุดก่อสร้างนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2540 เป็นต้นมา มติคณะรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เห็นชอบบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2540 ก่อนที่รัฐบาลนายชวน หลีกภัย (สมัยที่ 2) นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รมว.คมนาคมในขณะนั้น ได้บอกเลิกสัญญาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2541
ก่อนที่ในปี 2547 บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นเรื่องให้คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัย เรียกค่าเสียหายในการยกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ รวม 5.6 หมื่นล้านบาท ก่อนที่คณะอนุญาโตตุลาการ จะวินิจฉัยชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ คืนเงินชดเชยให้บริษัท โฮปเวลล์ เป็นเงิน 11,888 ล้านบาท เนื่องจากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเมื่อปี 2557 ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ แต่เมื่อบริษัท โฮปเวลล์ ได้ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด ในที่สุดจึงมีคำพิพากษากลับดังกล่าว กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ จะต้องจ่าย “ค่าโง่โฮปเวลล์” กว่า 12,000 ล้านบาทให้กับเอกชน
อ่านประกอบ : เบื้องหลัง “โฮปเวลล์” 29 ปีความหวังพังทลาย กับตัวละครที่ชื่อ “มนตรี พงษ์พานิช”