xs
xsm
sm
md
lg

แนะ “ห้าง-โรงแรมยักษ์” หมั่นตักไขมัน-ดูดตะกอนบ่อใต้ดิน ป้องกันซ้ำรอยเซ็นทรัลเวิลด์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ให้ความรู้เพิ่มเหตุเพลิงไหม้เซ็นทรัลเวิลด์ ชี้ ห้างฯ และโรงแรมใหญ่ มักสร้างระบบบำบัดน้ำเสียชั้นใต้ดินเพื่อประหยัดเนื้อที่ ซึ่งเป็นแหล่งรวมก๊าซมีเทน ระบุความร้อนแค่ 55 องศาฯ ก็ระเบิดแล้ว แนะตักไขมัน ดูดตะกอนออกไปกำจัดเป็นประจำ

เมื่อวันที่ 13 เม.ย. นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Sonthi Kotchawat กล่าวถึงกรณีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ถนนพระราม 1 แขวงและเขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เมื่อเย็นวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ว่า อากาศที่ร้อนจัดบวกกับการสะสมของก๊าซมีเทนจำนวนมาก ทำให้ระบบบำบัดน้ำเสียใต้ดิน เสี่ยงต่อการระบิดเกิดไฟไหม้ได้

ห้างสรรพสินค้าและโรงแรมขนาดใหญ่ มักจะสร้างระบบบำบัดน้ำเสียไว้ในชั้นใต้ดินเพื่อประหยัดเนื้อที่ จากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ส่วนใหญ่ทุกแห่งจะเริ่มต้นจากน้ำเสียมีปริมาณไม่เกิน 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และมีค่าบีโอดี หรือค่าปริมาณสารอินทรีย์ไม่เกิน180 มิลลิกรัมต่อลิตร เข้าสู่บ่อดักไขมัน บ่อเกรอะ บ่อสูบน้ำ บ่อเติมอากาศ บ่อตกตะกอนตามลำดับ โดยรวมทุกขั้นตอนจะมีก๊าซมีเทนเกิดขึ้นประมาณ 14,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นจะถูกดูดรวบรวมไปสู่ปล่องระบายอากาศให้ออกไปนอกอาคาร

ก๊าซมีเทน เป็นก๊าซไวไฟ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น เบากว่าอากาศ จะลอยตัวได้ง่าย หากอากาศร้อนและมีความชื้นสูงจะทำให้เกิดการรวมตัวและสะสมจนมีความเข้มข้นสูงและจะติดไฟได้เองเมื่อมีอุณภูมิสูงถึง 55 องศาเซลเซียส ซึ่งทำให้เกิดการระเบิดได้

ในห้องใต้ดินส่วนใหญ่เป็นอาคารที่ค่อนข้างทึบ หากไม่มีการตักไขมันหรือดูดตะกอนน้ำเสียที่อยู่ในบ่อตกตะกอนออกไปกำจัด ระยะเวลาตามที่ออกแบบไว้ และหากระบบดูดก๊าซภายในอาคารทำงานไม่ดีเพียงพอ จะทำให้ก๊าซมีเทนสะสมอยู่ปริมาณความเข้มข้นสูงมาก ประกอบกับเกิดความร้อนจากอุณหภูมิของอากาศ และจากที่พื้นดินและคอนกรีตดูดความร้อนไว้ ทำให้อุณหภูมิสูงถึง 55 องศาเซลเซียส จึงเกิดการติดไฟและทำให้เกิดไฟไหม้ได้

การป้องกันที่ดี คือ ต้องตักไขมันและดูดตะกอนออกไปกำจัดเป็นประจำ ตรวจสอบกำลังการดูดอากาศของพัดลมระบายอากาศ ตรวจสอบระบบไฟฟ้าของปั๊มน้ำ รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดความร้อน ตรวจวัดค่าการสะสมของมีเทนและตรวจวัดค่าควันโดยต้องมีสัญญาณเตือน และควรใช้แนวทางความปลอดภัยของ NFPA 820 (National Fire Protection Association) หรือ Standard for Fire Protection in Waste water Treatment and Collection Facilitie ในการป้องกันการเกิดไฟไหม้ระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น

บ่อบำบัดน้ำเสียใต้ดินที่ตั้งอยู่นอกอาคาร หรืออยู่ในที่โล่งแจ้ง ไม่มีต้นไม้ปกคลุม ก็มีความเสี่ยงสูงในการเกิดระเบิดได้ เนื่องจากก๊าซมีเทนสะสมในบ่อบำบัดน้ำเสียปริมาณมาก ไม่สามารถระบายออกมาได้ หรือระบายได้น้อย ผสมกับความร้อนทั้งมาจากอากาศและความร้อนที่ระอุอยู่ใต้ดิน



รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร ร่วมกับสภาวิศวกร และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุในวันถัดมาหลังเกิดเหตุ พบว่าต้นเพลิงอยู่ที่ชั้นใต้ดิน B2 ซึ่งเป็นระบบเครื่องสูบน้ำ มีบ่อบำบัดน้ำเสียเป็นเชื้อเพลิงทำให้ไฟลุกไหม้ เกิดกลุ่มควันและความร้อนไปตามท่อขนาดใหญ่ที่ใช้ระบายอากาศไปถึงชั้นที่ 8 แล้วเกิดแสงเพลิงในชั้นดังกล่าว เชื่อว่าต้นเพลิงส่วนหนึ่งมาจากตะกอนที่เกิดจากการบำบัดน้ำเสีย โดยมีความร้อนสูงถึง 800 องศาเซลเซียส

อ่านประกอบ : สรุปเหตุไฟไหม้เซ็นทรัลเวิลด์ ต้นเพลิงอยู่ที่ชั้นบี2 เกิดจากตะกอนบำบัดน้ำเสียทำให้ความร้อนสูงถึง 800 องศา
กำลังโหลดความคิดเห็น