หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ตีพิมพ์ฉบับวันนี้เป็นฉบับสุดท้าย ย้อนตำนานช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก "หนังสือพิมพ์ 4 หน้า" วันที่เกิดสงครามกลางเมืองปี 2553 ปิดตำนาน 16 ปี ในสนามแข่งขันหนังสือพิมพ์ธุรกิจภาษาไทย
วันนี้ (31 มี.ค.) หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ พาดหัวข่าว "โพสต์ทูเดย์ขออำลา" ระบุว่า หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ มีความจำเป็นจะต้องยุติการตีพิมพ์ชั่วคราวในวันที่ 31 มี.ค. 2562 หลังจากที่ตีพิมพ์ฉบับแรกเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2546 ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา ได้ทำหน้าที่รับใช้สังคมในฐานะสื่อมวลชน และได้รับการตอบรับจากผู้อ่านตลอดมา สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ยืนหยัดมาได้ถึงวันนี้คือผู้ให้การสนับสนุนทุกฝ่าย ทั้งสมาชิก สปอนเซอร์ทุกราย ทั้งการใช้พื้นที่โฆษณาบนหน้าหนังสือพิมพ์และให้การสนับสนุนจัดกิจกรรมต่างๆ ถึงแม้จะยุติการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ แต่สามารถติดตามโพสต์ทูเดย์ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งจะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับทุกช่องทางในโลกดิจิทัล
"กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์เข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด และมีความเข้าใจคณะกรรมการบริหารบริษัท บางกอก โพสต์ จำกัด (มหาชน) ที่พยายามทำทุกวิถีทางด้วยความตั้งใจจริงที่จะทำให้หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ดำรงอยู่เพื่อรับใช้สังคมไทยต่อไป รวมทั้งความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารที่มีต่อผู้ถือหุ้นทุกคน การยุติการพิมพ์ครั้งนี้จึงเปี่ยมไปด้วยความเข้าใจและเห็นใจซึ่งกันและกัน แต่จะบอกว่าหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 31 มี.ค. 2562 เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับสุดท้ายก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปาก เพราะคณะกรรมการบริหารให้คำมั่นว่า หากเหตุการณ์ในวันข้างหน้าเปลี่ยนแปลงไป หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ก็จะกลับมาทำหน้าที่รับใช้สังคมอีกครั้ง" บทบรรณาธิการ ระบุ
ด้านนายภัทระ คำพิทักษ์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ได้เขียนบทความหัวข้อ "โพสต์ทูเดย์ 4 หน้า เสี้ยวหนึ่งของการยืนหยัดมาตลอด 16 ปี" บอกเล่าถึงเหตุการณ์วันที่ทำหนังสือพิมพ์ยากที่สุดในรอบ 16 ปีของกองบรรณาธิการ คือ วันที่ 19 พ.ค. 2553 ซึ่งแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปะทะกับรัฐบาล สถานการณ์ยืดยื้อรุนแรง เป็นสงครามกลางเมือง การปะทะกันย่านพระราม 4 บ่อนไก่ คลองเตย ขยายวงมาจนถึงที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ที่อาคารบางกอกโพสต์ กลุ่มก่อกวนส่งทีมยกขบวนมาข่มขู่อยู่ที่หน้าบริษัทฯ โดยทำทีว่าจะพากันบุกเข้ามาถึงข้างใน ขณะที่ตามถนนใหญ่มีเสียงปืนไม่ขาดระยะ ทางฝ่ายบริหารปรึกษากองบรรณาธิการแล้ว เห็นพ้องกันที่จะย้ายพนักงานที่ไม่จำเป็นออกจากที่ตั้งโดยเร็วที่สุดตามแผนความปลอดภัยที่เตรียมกันไว้ล่วงหน้า
ทั้งนี้ ได้เรียกประชุมกองบรรณาธิการ เลือกเอาคนที่จำเป็นและแบ่งงานกัน วางแผนว่าจะทำหนังสือพิมพ์ 12 หน้า และลดลงมาเรื่อยๆ ตามข้อจำกัดที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ขณะที่แยกย้ายกันไปจัดเตรียมเนื้อหา พบว่าสถานีย่อยการไฟฟ้าที่คลองเตยถูกเผา ไฟฟ้าถูกตัดเป็นวงกว้าง ต้องเปิดระบบไฟฟ้าสำรองของอาคารขึ้นมาใช้แทน ระบบจะทำงานได้จำกัดในเวลาไม่นาน จึงปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกอย่างที่ใช้พลังงาน เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ไม่กี่เครื่องได้ทำงานต่อไป โดยใช้มือถือและไฟฉายส่องแป้นพิมพ์ วันรุ่งขึ้นออกหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ที่เป็นประวัติศาสตร์ของวงการสื่อมวลชนร่วมสมัย มีเนื้อหาเพียง 4 หน้า ตรวจพิสูจน์อักษรผิดๆ ถูกๆ แต่เป็นหนังสือพิมพ์ที่ภูมิใจที่สุด เพราะเป็นตัวแทนของการบอกกล่าวถึงความรับผิดชอบ ไม่ทอดทิ้งหน้าที่ ไม่ว่าจะลำบากแค่ไหนก็ตาม เป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากอย่างที่สุด และเป็นความทรงจำที่ดีที่สุด โพสต์ทูเดย์เฝ้าบ้านมาให้ 16 ปีแล้ว และบัดนี้ถึงเวลาที่ต้องจากกัน ขอขอบคุณที่ได้ให้ความเชื่อมั่นและไว้วางใจกันตลอดมา
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาผู้บริหาร ผู้สื่อข่าว และคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ต่างพากันเขียนบทความพร้อมกล่าวคำอำลาเป็นครั้งสุดท้าย อาทิ นาย ณ กาฬ เลาหะวิไลย บรรณาธิการบริหาร กลุ่มบางกอกโพสต์, นายสมผล ตระกูลรุ่ง นักวิชาการกฎหมายอิสระ, ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต, รศ.ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์ หัวหน้าภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งการปิดตัวของหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ครั้งนี้ ถือเป็นการปิดตำนานหนังสือพิมพ์ธุรกิจภาษาไทย ที่มีอายุกว่า 16 ปี เหลือเพียงแค่ช่องทางออนไลน์อย่างเดียว ตามเทคโนโลยีการบริโภคสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป
อนึ่ง บริษัท บางกอก โพสต์ จำกัด (มหาชน) ยังคงเหลือหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษ "บางกอกโพสต์" (Bangkok Post) เป็นสื่อสิ่งพิมพ์หลักของบริษัทฯ
อ่านประกอบ : ปิดตำนาน 16 ปี "โพสต์ทูเดย์" ตีพิมพ์ฉบับสุดท้ายอาทิตย์นี้
ฉบับสุดท้าย! M2F กล่าวอำลา ปิดฉาก "หนังสือพิมพ์แจกฟรี" อายุกว่า 7 ปี
ปิดตำนาน! “เครือโพสต์” หยุดพิมพ์ “โพสต์ทูเดย์-M2F” มี.ค.นี้ เหลือ “บางกอกโพสต์” ฉบับเดียว