วิกฤตหมอกควันในช่วงสองสามอาทิตย์ที่ผ่านมาส่งผลให้หลายท่านเริ่มตระหนักถึงความร้ายแรงรวมทั้งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ซึ่งกลายเป็นคำฮิตติดหูคนไทยมากที่สุดในช่วงเวลานี้ ส่วนแนวทางการแก้ปัญหามลพิษในชั้นบรรยากาศนั้นก็มีหลากหลาย ตั้งแต่ฉีดน้ำใส่อากาศบริเวณใจกลางเมืองจนเกิดการท่วมขังกลายเป็นการซ้ำเติมสภาพจราจรที่แย่อยู่แล้วให้ติดหนักมากกว่าเดิม บ้างก็ออกมานำเสนอนโยบายควบคุมการปิ้งย่างว่าคือหนึ่งในสาเหตุของการเกิดฝุ่นพิษ รวมทั้งการเสนอให้หยุดใช้ยานพาหนะส่วนตัวเพื่อบรรเทาความรุนแรงของสารพิษจากท่อไอเสียยานพาหนะ และอื่นๆ อีกมากมาย แนวทางการแก้ปัญหาส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาระยะสั้นหรือเป็นการแก้ปัญหากันที่ปลายเหตุ หากต้องการหาทางออกให้กับประเทศอย่างยั่งยืน เราคงต้องหันมาเรียนรู้ความผิดพลาดของคนอื่นกันบ้าง ไม่มีความจำเป็นเลยที่ต้องมาเรียนรู้ทุกอย่างโดยใช้ประสบการณ์มือหนึ่งหมดทุกเรื่อง
สำหรับท่านที่อยู่ในแวดวงทางด้านสิ่งแวดล้อมคงคุ้นเคยกับคำว่า Clean Air Act หรือกฎหมายอากาศสะอาดเป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายคนอาจเคยได้ยินหรือไม่เคยได้ยินคำนี้เลย Clean Air Act เป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ฉบับหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะ ซึ่งโดยทั่วไปมีเจตนารมณ์ในการลดและควบคุมมลพิษทางอากาศ หลายประเทศได้มีการตรากฎหมายฉบับนี้ขึ้น เช่น Clean Air Act 1956 in United Kingdom, Clean Air Act (United States) 1963, Clean Air Act 1972 in New Zealand, Canadian Environmental Protection Act,1999 เป็นต้น
ย้อนกลับไปดูที่มาของ Clean Air Act 1956 จากเหตุการณ์ London’s Great Smog of 1952 อันโด่งดัง ในช่วงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1952 กรุงลอนดอนได้ตกอยู่ท่ามกลางหมอกควันพิษเป็นเวลา 5 วัน ในช่วงทศวรรษดังกล่าวมีการทำเหมืองถ่านหินเพื่อให้แสงสว่างและให้ความร้อน ซึ่งสารพิษจากเหตุการณ์หมอกควันพิษดังกล่าวได้คร่าชีวิตพลเมืองถึง 12,000 คน หลังจากเหตุการณ์นี้ทางสภาจึงได้เห็นความสำคัญและความร้ายแรงของมลพิษทางอากาศที่มีผลต่อสุขภาพ จึงนำไปสู่การร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศขึ้น ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ Clean Air Act 1956 และเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้คือการควบคุมมลพิษในเมืองโดยผ่านมาตรการที่หลากหลาย ซึ่งวิธีการที่บังคับใช้นั้นต้องมีส่วนช่วยในการลดระดับมลพิษทางอากาศของเมืองแต่ละแห่งได้อย่างแท้จริง
ในปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวก็ได้มีการแก้ไขให้เหมาะสมกับสภาพของปัญหามลพิษ ทั้งนี้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชากร ซึ่งถ้าศึกษาให้ลึกซึ้งจะพบว่ามีกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับ Clean Air Act เช่น Smoke Nuisance Abatement (Metropolis) Acts 1853, 1856, Public Health Act, The Climate Change and Sustainable Energy Act 2006 เป็นต้น และจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้มีนักเขียนชื่อ Kate Winkler Dawson แต่งหนังสือเรื่อง Death in the Air ซึ่งเป็นหนังสือที่เขียนถึงเรื่องราวทั้งหมดในเหตุการณ์นั้น
หันกลับมามองย้อนดูประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะพบว่ามีหลายประเทศที่มีการตรากฎหมาย Clean Air Act ขึ้น เช่น รัฐสภาสิงคโปร์ได้คลอดกฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act Singapore) ขึ้นในปี ค.ศ. 1971 หรือเกือบ 48 ปีที่แล้ว ส่วน มาเลเซีย เพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดเรามานานได้ร่างข้อบังคับคุณภาพสิ่งแวดล้อม (อากาศสะอาด) หรือ Environmental Quality (Clean Air) Regulations ขึ้นในปี ค.ศ. 2014 สำหรับประเทศไทยมี พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมโดยตรง คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กล่าวถึงภาพรวมของการคุ้มครองและการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมทุกประเภท ทั้งนี้ ในส่วนของการควบคุมมลพิษก็เป็นการกล่าวถึงในภาพรวมมลพิษทุกประเภทเช่นกัน มิได้เป็นการแยกเฉพาะมลพิษทางอากาศดังเช่นประเทศอื่นดังตามตัวอย่างที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้น หากเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีปัญหามลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น และเป็นที่ทราบดีว่ามลพิษทางอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพของคนและสัตว์ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมี Clean Air Act Thailand ซึ่งจะกลายเป็นกฎหมายที่จำเป็นและมีความสำคัญยิ่ง เพื่อให้มาตรฐานการดูแลสุขภาพของคนไทยอยู่ในระดับเดียวกันกับนานาอารยประเทศ
เพ็ญศรี อู่อรุณ
นักวิชาการอิสระ
ศาสตราจารย์ ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ
คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์