พูดกันมานานว่า “หัวลำโพง” เดิมมีชื่อว่า “วัวลำพอง” แต่เรียกเพี้ยนกันไปเป็นหัวลำโพง โดยอ้างว่าย่านนี้เป็นทุ่งที่เลี้ยงวัว มีชื่อเรียกกันว่า “ทุ่งวัวลำพอง” ต่อมาพวกเจ๊กลากรถซึ่งเป็นพาหนะสำคัญในยุคนั้น เรียกเพี้ยนเป็น “ฮั่วน่ำโพ้ง” เพราะคนลากรถเกือบทั้งหมดเป็น “ซินตึ๊ง” หรือจีนใหม่จากเมืองจีน หางานทำยังไม่ได้ก็จับงานลากรถไปก่อน พวกนี้จึงพูดไทยไม่ได้ คนโดยสารต้องเป็นฝ่ายเรียนภาษาจีนแต้จิ๋วบอกสถานที่จะไปและเส้นทาง พร้อมต่อรองราคา เลยพลอยเรียก “หัวลำโพง”ไปด้วย
เรื่องนี้จะยืนยันว่าชื่อไหนแน่ จึงขอยึดพระราชหัตถเลขาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งทรงมีไปยัง เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เมื่อครั้งยังเป็นที่พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ เจ้ากรมตรวจการศึกษา ในกระทรวงธรรมการ ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ร.ศ.๑๒๙ หรือ พ.ศ.๒๔๕๔ พระราชหัตถเลขานี้ทรงแสดงถึงความห่วงใยในการเรียกชื่อสถานที่ต่างๆ มีความตอนหนึ่งว่า
“...ชื่อเมืองที่เคยมีในภาษาไทย ให้ใช้ภาษาไทย อย่าให้จดหมายเหตุแลพงศาวดารแตกสูญเสียได้จะดี ถ้าขืนเอาอย่างฝรั่งตะพัดตะเพิดไป จะหลงไม่รู้หัวนอนปลายตีน เมืองเก่าๆที่เรียกชื่อไว้ในหนังสือ จะกลายเป็นเมืองในเรื่องพระอภัยมณีไปหมด ทำให้นักเรียนโง่ไปแน่แล้ว การเช่นนี้มีจนกระทั่งในกรุงเทพฯ เช่น หัวลำโพง ฝรั่งเรียกไม่ชัด ไทยเราพลอยเรียกตามว่า วัวลำพอง นี่เป็นเรื่องควรฟาดเคราะห์จริงๆ...”
นี่แสดงว่า “หัวลำโพง” เป็นชื่อดั้งเดิม แต่ฝรั่งเรียกเพี้ยนเป็น “วัวลำพอง” ต่อมาคนจีนลากรถเรียกเพี้ยนเป็น “ฮั่วน่ำโพ้ง” พี่ไทยเลยเรียกตามซินตึ๊งกลับไปเป็น “หัวลำโพง” อีก
การที่ว่าฝรั่งเรียกหัวลำโพงเพี้ยนเป็นวัวลำพองนั้น ได้เพี้ยนมาก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ แล้ว เพราะวัดหัวลำโพงที่อยู่ห่างสถานีรถไฟหัวลำโพงประมาณ ๒ กิโลเมตร เดิมก็มีชื่อว่า “วัดวัวลำพอง” มาก่อน
ตามประวัติ วัดหัวลำโพงสร้างมาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ อาจจะถึงสมัยรัชกาลที่ ๑ ไม่มีประวัติว่าใครเป็นคนสร้าง และมีชื่อว่า “วัดวัวลำพอง” มาตั้งแต่เมื่อใดก็ไม่มีหลักฐานเช่นกัน มีแต่ประวัติของวัดกล่าวไว้ว่า ราวปี ๒๔๔๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาทอดพระกฐินย่านนี้ถึง ๓ วัดในวันเดียว คือ วัดสามจีน หรือวัดไตรมิตร วัดตะเคียน หรือวัดมหาพฤฒาราม และวัดวัวลำพอง ในการเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินครั้งนี้ ได้โปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อใหม่ให้วัดวัวลำพอง เป็น “วัดหัวลำโพง”ด้วย
เป็นอันสรุปได้ว่า ย่านนี้มีชื่อดั้งเดิมว่า “หัวลำโพง” ดังพระราชหัตถเลขา และชื่อที่พระราชทานใหม่ให้วัด “วัวลำพอง”
ทุ่งหัวลำโพงมีผู้คนเคลื่อนเข้ามาอยู่อาศัยกันมากตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อมีการขุดคลองและถมเป็นถนนสายแรกขึ้นในปี ๒๔๐๐ โดยขุดคลองแยกจากจากคลองผดุงกรุงเกษม ผ่าทุ่งหัวลำโพงเป็นเส้นตรงไปบรรจบคลองพระโขนงที่ใกล้ปากคลอง แล้วนำดินขึ้นมาถมด้านเหนือเของคลองเป็นถนนคู่ขนานกันไป เรียกกันว่า “คลองตรง” และ “ถนนตรง” แต่ชาวบ้านเรียกกันว่า “คลองหัวลำโพง” และ “ถนนหัวลำโพง” จนวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๒ สมัยรัชกาลที่ ๖ จึงพระราชทานชื่อใหม่ให้ถนนหัวลำโพงว่า “ถนนพระราม ๔” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้โปรดเกล้าฯให้สร้างถนนนี้
ในปี ๒๔๒๙ ย่านนี้คงเป็นชุมทางที่คึกคักพอสมควร จึงถูกกำหนดให้เป็นสถานีต้นทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย คือรถไฟสายปากน้ำ โดยในปี ๒๔๒๙ รัฐบาลไทยได้ให้สัมปทาน ๕๐ ปีแก่บริษัทของชาวเดนมาร์ค สร้างทางรถไฟสายปากน้ำ จากกรุงเทพฯไปสมุทรปราการ เป็นระยะทาง ๒๑ กิโลเมตร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทำพิธีเริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๓๔ ทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินไปทำพิธีเปิดเดินรถในวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๔๓๖ และมีพระราชดำรัสในครั้งนั้นมีความตอนหนึ่งว่า
“...เรามีความยินดีที่ได้รับหน้าที่อันเป็นที่พึงใจ คือจะได้เป็นผู้เปิดรถไฟสายนี้ ซึ่งเป็นที่ชอบใจและปรารถนามาช้านานแล้วนั้น ได้สำเร็จสมดังประสงค์ลงในครั้งนี้ เพราะเหตุว่าเป็นรถไฟสายแรกที่จะได้เปิดในบ้านเมืองเรา แล้วยังจะมีสายอื่นต่อๆไปอีกเป็นจำนวนมากในเร็วๆนี้ เราหวังใจว่าจะเป็นการเจริญแก่ราชการและการค้าขายในบ้านเมืองเรายิ่งนัก...”
หลังจากที่รถไฟสายปากน้ำเปิดเดินรถมาได้ ๑ ปี ในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร มาประกอบพระราชพิธีกระทำพระฤกษ์เริ่มการสร้างทางรถไฟหลวงสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ที่สถานีต้นทางซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามของถนนตรงกับสถานีต้นทางของรถไฟสายปากน้ำ และเมื่อวางรางไปถึงอยุธยาแล้ว เห็นว่าพอจะเปิดอำนวยความสะดวกให้ราษฎรได้ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ จึงเสด็จฯไปทรงประกอบพิธีเปิดเดินรถถึงสถานีพระนครศรีอยุธยาในวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๔๓๙ ซึ่งถือว่าวันนี้เป็นวันเริ่มสถาปนากิจการรถไฟของสยาม เพราะเป็นรถไฟหลวง ส่วนสายปากน้ำเป็นรถไฟของเอกชน
ต่อมาในวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๗ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการเดินรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทยฯที่สถานีหัวลำโพง โดยประทับรถไฟฟ้าพระที่นั่งไปยังสถานีปลายทางที่ศูนย์ซ่อมบำรุงสถานีพระราม ๙ เพื่อเปิดการเดินรถอย่างเป็นทางการ ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานนามรถไฟฟ้ามหานคร รถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทยนี้ว่า “เฉลิมรัชมงคล” อันมีความหมายว่า “งานเฉลิมฉลองความเป็นมงคลแห่งความเป็นพระราชา”
สถานีหัวลำโพงจึงเป็นที่กำเนิดของรถไฟสายแรกของประเทศไทย ทั้งรถไฟของบริษัทเอกชนและรถไฟหลวงที่ถือเป็นวันสถาปนากิจการรถไฟไทย และยังเป็นที่กำเนิดของรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทยด้วย
นี่ก็คือคือตำนานของย่านกลางกรุงเทพมหานครแห่งหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นทุ่งโล่งดงทึบมาก่อน เช่นเดียวกับเมืองทั้งหลายในโลก ที่ต่างก็เป็นป่าเป็นเขามาก่อนทั้งนั้น