เปิดเว็บไซต์ “ทำเนียบผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการแห่งชาติ” อีกเครื่องมือตรวจสอบอาจารย์เก๊ พบกรอกชื่อ “สุรพศ วงษ์ชีพ” ผศ.ดร.กำมะลอ อ้างอาจารย์จุฬาฯ ที่กองปราบจับกุมตัว ไม่มีในฐานข้อมูล
หลังจากที่ตำรวจกองปราบปราม จับกุม นายสุรพศ วงษ์ชีพ อายุ 43 ปี เมื่อวันที่ 24 ต.ค. อ้างตัวเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ดอกเตอร์ (ผศ.ดร.) ก่อเหตุหลอกลวงหญิงฐานะดีแต่งงานแล้วปอกลอกเอาทรัพย์สิน หลังหญิงรายหนึ่งร้องทุกข์กล่าวโทษว่า ถูกนายสุรพศเข้ามาตีสนิทผ่านโซเชียลฯ อ้างตัวเป็นอาจารย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนวิชาคอมพิวเตอร์ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงได้ตกลงปลงใจคบหาด้วย แต่ภายหลังทราบว่า ไม่ได้เป็นอาจารย์จริงตามที่กล่าวอ้าง อีกทั้งได้มีพฤติกรรมหลอกเอาเงินของผู้เสียหายไปกว่า 8 แสนบาท จากการสืบสวนเบื้องต้นพบว่ามีผู้เสียหายที่เป็นหญิงสาวตกเป็นเหยื่อไม่ต่ำกว่า 5 ราย มูลค่าเสียหายกว่า 3 ล้านบาท
อ่านประกอบ : จับ ผศ.ดร.กำมะลอ หลอกเศรษฐินีแต่งงานแล้วปอกลอกหลายราย
นายสุรพศ สารภาพว่า ไม่ได้เป็นอาจารย์จริง แต่ได้สร้างโปรไฟล์เพื่อหลอกให้หญิงเชื่อถือเพื่อคบหาด้วย ก่อนหน้านี้ ได้เคยหลอกหญิงรายหนึ่งจนแต่งงานด้วยกัน แต่ภายหลังถูกจับได้จึงได้เลิกรากันไป ก่อนที่จะไปก่อเหตุในลักษณะดังกล่าวมาประมาณ 3 ปี โดยอ้างว่าเป็นอาจารย์สอนไอที เนื่องจากมีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์เพราะว่าทำงานบริษัทเอกชนด้านซอฟต์แวร์ ในส่วนของรูปตนที่สวมชุดครุยที่อยู่ในเฟซบุ๊กนั้นก็ไปหาซื้อตามร้านเสื้อผ้า เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหาฉ้อโกง, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และสวมชุดครุยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยไม่มีสิทธิ ซึ่งศาลแขวงพระนครเหนือนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 4 ธ.ค.นี้
ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้จัดทำฐานข้อมูล "ทำเนียบผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการแห่งชาติ" ซึ่งเป็นฐานข้อมูลอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ ที่สังกัดอยู่ในสถาบันอุดมศึกษา ทั้งสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ สถาบันอุดมศึกษาของเอกชน และวิทยาลัยชุมชน รวมทั้งหมด 57,495 คน โดยการค้นหาสามารถค้นหาได้ 2 วิธี คือ เมนู “ค้นหา” และเมนู “ข้อมูลผู้ดำรงตำแหน่ง” เลือก “ตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคล” ใส่ชื่อ และนามสกุลลงไป หากเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ก็จะแสดงผลชื่อ นามสกุล และสถาบันอุดมศึกษาต้นสังกัด
เช่น กรอกคำว่า “บัณฑิต เอื้ออาภรณ์” จะแสดงผลเป็น ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ สังกัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรอกคำว่า “วิษณุ เครืองาม” แสดงผลเป็น ศาสตราจารย์ วิษณุ เครืองาม สังกัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรอกคำว่า “อุดม คชินทร” แสดงผลเป็น รองศาสตราจารย์ อุดม คชินทร สังกัด มหาวิทยาลัยมหิดล, กรอกคำว่า “ประสิทธิ์ วัฒนาภา” แสดงผลเป็น ศ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา สังกัด มหาวิทยาลัยมหิดล, กรอกคำว่า “เสรี วงษ์มณฑา” แสดงผลเป็น อ.เสรี วงษ์มณฑา สังกัด มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีนักวิชาการที่มีชื่อเสียงหลายคน ตรวจสอบแล้วไม่มีชื่อในระบบ เพราะฉะนั้นวิธีตรวจสอบที่ดีที่สุด คือ ติดต่อไปยังมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะคณะต้นสังกัดที่แอบอ้างเพื่อตรวจสอบต่อไป