xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการให้ข้อมูลอีกด้าน “ดรามาปลาพลวง” ชี้ ฝาย-เขื่อน ปิดกั้นการอพยพของปลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักวิชาการอิสระด้านระบบนิเวศน้ำจืด ชี้ ดรามาปลาพลวงผอมโซจนตาย หลายสาเหตุที่ระบบนิเวศพัง สร้างฝาย-เขื่อน ก็มีผลต่อการอพยพของปลา เผย ถ้าแหล่งน้ำต่อเนื่องกัน ปลาสามารถอพยพออกจากพื้นที่ไปที่อื่นได้

จากกรณี “วงเรโทรสเปกต์” โพสต์ชี้ให้ตระหนักถึงปัญหาปลาพลวงผอมโซ หลังประชากรล้น เพียงเพราะมนุษย์ให้อาหาร สุดท้ายประกาศหยุดให้ ปลาหากินเองไม่ได้ผอมโซ จนระบบนิเวศพัง ปลาผอมตาย ด้านหัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว ได้แจงกลับไม่เป็นความจริงนั้น

ล่าสุด วันนี้ (9 ต.ค.) เฟซบุ๊ก “Nonn Panitvong” หรือ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระด้านระบบนิเวศน้ำจืด ได้ออกมาโพสต์ โดยชี้ว่ามีหลายสาเหตุออกมาตั้งข้อสังเกต การสร้างฝายและเขื่อน เป็นต้นเหตุทำให้ปิดกั้นการอพยพของปลา

โดยมีเนื้อหาโพสต์ว่า “จากกรณี ดรามาปลาพลวงน้ำตกพลิ้วนั้น ผมมีความเห็นดังนี้ครับ

1. ปลาพลวงถูกให้อาหารมาเป็นเวลานานมาก อย่างน้อยๆ ก็ 13 ปีแล้ว จากครั้งแรกที่ผมไปก็ให้อาหารกันเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว แต่ 13 ปีที่แล้ว จำได้ว่าในลำธารยังพอมีปลาอื่นๆ อยู่ มี ปลาจาดทอง (ซึ่งลำธารสายนั้นเป็น Type locality) ปลามูด ปลากระทิง ปลากั้ง ไปครั้งแรกสิ่งที่พบ คือ มีการใช้หนังยางรัดถั่วฟักยาวเข้าไป แล้วคนก็ทิ้งหนังยางลงน้ำ มีปลาหัวติดหลายตัว เขียนบทความไปสักพัก ก็ได้ข่าวว่ายกเลิกการใช้หนังยาง ก็ดีใจ

2. หลายปีผ่านไป ได้ไปน้ำตกพลิ้วอีกครั้ง คราวนี้พบว่าปลาพลวงยิ่งมากกว่าเดิมอีก ปลาอื่นๆ หายไปเกือบหมด ปลามูด หายไปเลย ปลาจาดเหลือน้อยลงมาก

ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่า ปลาพลวงเป็นปลาที่ปรับตัวเก่งมาก กินอาหารหลากหลาย และใช้พื้นที่ในลำธารอย่างทั่วถึง เช่น ปลาขนาดเล็กอยู่ตามพื้นที่น้ำนิ่งริมตลิ่ง ปลากลางอยู่ตามแก่ง ปลาใหญ่อยู่ตามวัง กินอาหารทั้งที่พื้นท้องน้ำ กลางน้ำและที่ผิวน้ำ กินทั้งพืชและสัตว์ และเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในแหล่งน้ำไหลขนาดไม่ใหญ่ในประเทศไทย ดังนั้น เมื่อเราให้อาหาร ปลาชนิดหลักที่ได้กินคือปลาพลวงแน่ๆ และก็ทำให้มันเพิ่มจำนวนขึ้นมากมาย จนลำธารเสียสมดุลไป ผมจำได้ว่าเขียนบ่นหลายครั้งว่าทำไมอุทยานถึงอนุญาตให้มีการให้อาหารปลาพลวงในหลายๆ น้ำตก และในบางกรณีขายอาหารเองเสียด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่มีกฎห้ามให้อาหารสัตว์ป่าในเขตอนุรักษ์อยู่แล้ว

3. ดังนั้น การยกเลิกการให้อาหารปลาพลวงในเขตอุทยานแห่งชาติที่น้ำตกพลิ้ว และหวังว่า จะเป็นทุกๆ ที่ เช่น น้ำตกเอราวัณ ที่กาญฯ หรือถ้ำปลาที่แม่ฮ่องสอน เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว แต่ถามว่าปลาเดือดร้อนและน่าสงสารไหม อันนี้ในฐานะคนรักปลาตอบได้เลยว่าเดือดร้อนและน่าสงสารนะครับ จากภาพที่เห็นปลาผอม ไม่สมบูรณ์แน่นอน คือ ปริมาณมันมากไป มากไปหลายเท่ามากๆ จนอาหารตามธรรมชาติไม่มีทางเพียงพออยู่แล้ว บวกรวมไปกับการพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งทำให้มันมีอาหารตามธรรมชาติน้อยลงไปอีกแน่ๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป ก็คือ ตัวที่อ่อนแอก็ทรมานอดตายไป ตายก็โดนเพื่อนกิน เพื่อนก็รอด อารมณ์ประมาณ hunger games มันทรมานสัตว์นะ และมันเป็นความผิดของมนุษย์ตั้งแต่ต้นที่ไปทำให้มันมีปริมาณมากจนเกินไป

ถามว่า ผมมีทางออกอื่นไหม ก็คงไม่สามารถจะแนะนำอะไรได้มากไปกว่านี้ เอาจริงๆ ถ้าระบบทุกอย่างยังสมบูรณ์ แหล่งน้ำยังต่อเนื่องกัน ปลามันอาจจะอพยพออกจากพื้นที่ไปที่อื่นได้นะ แต่ตอนนี้แหล่งน้ำด้านนอกเขตอนุรักษ์ มันไม่ได้สมบูรณ์เชื่อมต่อกันอีกแล้ว ทั้งฝาย ทั้งประตูน้ำ ขุดลอก สร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำ สูบน้ำไปใช้ ปลามันไปไหนไม่ได้ มันติดอยู่ตรงนั้นแหล่ะ ทยอยตายจนเข้าสู่จุดสมดุลย์ ทางธรรมชาติก็เป็นแบบนั้น ทางมนุษยธรรมก็ไปทำบุญกันแล้วกันนะ คนที่เคยให้อาหารปลาพลวงที่น้ำตกพลิ้ว

4. ทั้งนี้ จะถือโอกาสแจ้งอีกปัญหาของปลาพลวงตามน้ำตกที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งอันนี้ ปลาจากฝั่งตะวันออกยังไม่ค่อยเห็น แต่ปลาพลวงฝั่งตะวันตก เช่น ที่ ไทรโยค เอราวัณ ถ้ำปลา นี่พิกลพิการกันหมดแล้ว ใครเคยสังเกตบ้างว่าปลามันตัวคดงอ หัวบุบ ตาบอด พิการตั้งแต่กำเนิด? ผมคิดว่าเกิดจากการพัฒนาที่ไม่ได้คิดให้ดี โดยเฉพาะการสร้างฝาย/เขื่อน กั้นการอพยพของปลา ทำให้มันไม่สามารถแลกเปลี่ยนยีนกันได้อีกแล้ว เกิดการผสมพันธุ์เลือดชิดในหมู่เครือญาติจนออกมาพิการ และปลาพิการก็อยู่ได้เนื่องจากมีการให้อาหารและนักท่องเที่ยวก็ทำให้ไม่มีสัตว์ผู้ล่าเข้ามาในพื้นที่ หลายแห่งนี่ปลาพิการต้องมี 3-40% ของประชากรแล้ว นอกจากเลิกให้อาหาร นี่ก็อยากจะให้กรมฯลองพิจารณาปัญหาเลือดชิดของปลาเหล่านี้ด้วยครับ เปิดทางให้มันไปมาหาสู่กันได้จะดีมาก แต่ก็ยากมาก ถ้าจะขนข้ามสลับเลือดกันบ้าง จะช่วยได้ไหม”


“เรโทรสเปกต์” ชี้ คนให้อาหารปลาพลวง น้ำตกพลิ้ว จนระบบนิเวศพัง ปลาผอมโซ




กำลังโหลดความคิดเห็น