จริงหรือปลอมไม่รู้ มาดูตำนาน “ไอสครีมไผ่ทอง” จากปาก “บุญชัย ชัยผาติกุล” ทายาทรุ่น 2 ของธุรกิจไอศกรีม ออกรายการสารคดีสั้น “เพื่อนคู่คิด” ของธนาคารกรุงเทพ เมื่อกว่า 20 ปีก่อน
อ่านประกอบ : เลือดข้นคนจาง? “ไผ่ทอง ไอสครีม” เปิดศึกของจริง-ของปลอม เดิมพันธุรกิจร้อยล้าน
จากกรณีที่เกิดศึกชิงการเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า “ไอสครีมไผ่ทอง” ระหว่างฝ่ายของนายบุญชัย ชัยผาติกุล เจ้าของบริษัท ไผ่ทองไอศกรีม จำกัด กับฝ่ายของ น.ส.ภัณฑิรา ชัยผาติกุล เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด ไผ่ทองซีกิมเช็ง ที่ออกมาเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ใหม่ และเตือนว่าตราสัญลักษณ์ที่ผู้คนพบเห็นนั้นเป็นของปลอม จึงเป็นที่วิจารณ์ในสื่อโซเชียลมีเดีย
รายการสารคดีสั้น “เพื่อนคู่คิด” ผลิตโดยธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ประมาณปี 2537 (เมี่อเทียบจากคำบอกเล่าของนายบุญชัย ชัยผาติกุล เจ้าของร้านไอศกรีมไผ่ทอง) ระบุว่า ท่ามกลางไอศกรีมมากมายหลายยี่ห้อ มีไอศกรีมอยู่ยี่ห้อหนึ่งซึ่งเป็นของคนไทย สูตรวิธีการทำก็เป็นของคนไทยเอง นั่นก็คือไอศกรีมไผ่ทองนั่นเอง
นายบุญชัย ชัยผาติกุล เจ้าของร้านไอศกรีมไผ่ทอง กล่าวว่า ที่มาไอศกรีมไผ่ทองนั้นเริ่มตั้งแต่คุณพ่อมาจากเมืองจีน เข้ามาขายไอศกรีม มีลูกค้าตำหนิว่าไม่หวาน เลยไปแจ้งกับเถ้าแก่แต่ถูกตอบกลับมาว่า “ถ้าคิดว่าจะปรับปรุงอะไร ไปทำเองสิ” จึงเป็นที่มา เริ่มจากยี่ห้อหมีบินเกาะต้นมะพร้าวก่อน ทำไปสัก 20 ปี ก็มาเปลี่ยนเป็นยี่ห้อ “ไผ่ทอง” เมื่อประมาณปี 2527 ที่ผ่านมา มีอายุประมาณ 10 ปีแล้ว (ช่วงที่รายการออกอากาศ)
ในช่วงนั้น ไอศกรีมไผ่ทองมีทั้งหมด 17 เอเยนต์ รวมทั้งต่างจังหวัดด้วย โดยในแต่ละเอเยนต์จะมีคนถีบรถขายไอศกรีมของแต่ละร้าน ซึ่งผู้ขายจะขึ้นตรงกับเอเยนต์ที่สังกัด
“จุดเด่นของไอศกรีมไผ่ทอง เน้นที่รสชาติเป็นธรรมชาติ และใช้วัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติ อย่างตัวช็อกโกแลตเราใช้ช็อกโกแลตผงที่เป็นของแท้ อย่างรสเผือกก็จะใช้เนื้อเผือกแท้ๆ มาทำ และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เทคโนโลยีค่อนข้างที่จะสูงสุดแล้วในปัจจุบันมาใช้” นายบุญชัยกล่าว
เมื่อถามว่า การจะมาขายไอศกรีมไผ่ทองต้องมีคุณสมบัติอย่างไร นายบุญชัยกล่าวว่า ต้องดูลักษณะว่าเคยค้าขายมาก่อนหรือเปล่า บางคนเคยเข็นขายซาลาเปา บางคนเคยเข็นขายผลไม้ จะพิจารณาอันดับแรก และต้องดูก่อนว่าขับรถสามล้อได้ไหม เพราะถ้าขับไม่ได้จะมีปัญหากับการจราจรอย่างมาก
การลงทุนครั้งแรกก็คงจะประมาณพันกว่าบาทเศษๆ (ค่าเงินในขณะนั้น) ก็ลงทุนเกี่ยวกับถ้วย โหล ช้อน ที่ตัก ร่ม ส่วนรถสามล้อถีบทางโรงงานจะเป็นผู้ให้ยืม
“สรุปก็คงไม่ยากอะไร ก็มีบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ประสบการณ์ในการขายอยู่บ้างนิดหน่อย และเงินทุนประมาณพันกว่าบาทเศษๆ” นายบุญชัยกล่าว
นอกจากนี้ แต่ละเอเยนต์ก็จะมีให้ผู้ขายยืม เนื่องจากรถมีราคาที่สูงเกินไปที่จะหาซื้อกันได้เอง
รายการเพื่อนคู่คิดยังได้สอบถามคนขายไอศกรีมไผ่ทอง พบว่า เวลาในการเริ่มขายและเวลาเลิกก็ไม่ตรงกัน ขึ้นอยู่กับความขยันของแต่ละคน การขายไอศกรีมก็ต้องเริ่มจากมีไอศกรีมพร้อมที่จะขายอยู่ในตู้เรียบร้อย โดยไปรับไอศกรีมจากเอเยนต์ที่ตนเองอยู่ จากนั้นจึงเริ่มออกขายตามจุดต่างๆ ภายในพื้นที่ของแต่ละเอเยนต์ ซึ่งจะกำหนดเอาไว้ว่า ให้ขายจากบริเวณนี้ ถึงบริเวณนั้นเท่านั้น ไม่สามารถที่จะข้ามเขตขายกันได้
ราคาของไอศกรีมก็มีหลายราคา มีทั้งถ้วยเล็ก ถ้วยใหญ่ ใส่ขนมปังหรือไม่ใส่ หรือจะใส่ถ้วยโคนก็ได้ อาทิ โคนราคา 3 บาท ถ้วยเล็ก 5 บาท ถ้วยใหญ่ 10 บาท (ราคาในสมัยนั้น) โดยมีไอศกรีมอยู่ 8 รส ได้แก่ กะทิ ช็อกโกแลต วานิลลา สตอร์เบอรี่ เผือก กาแฟ ส้ม ทุเรียน และแตงไทย เมื่อขายเสร็จเรียบร้อยในแต่ละวัน คนขายก็จะมานั่งคิดคำนวณรายได้ว่าขาดทุนหรือกำไรเท่าไหร่ ในแต่ละวันจะมีรายได้ตั้งแต่ 500-800 บาท